สแกนจังหวะก้าว ทรู 5G การแข่งขันและการบุกเบิกสิ่งใหม่

สัมภาษณ์พิเศษ

ในแง่มุมของการแข่งขันในสมรภูมิธุรกิจมือถือ “เอไอเอส-ทรูมูฟ เอช และดีแทค” ไม่มีใครยอมใคร โดยเฉพาะเบอร์ 1 กับเบอร์ 2 ยิ่งในสนาม 5G ยิ่งแล้ว ต่างพยายามชิงสถานะความเป็น “ผู้นำ” กันเต็มที่ จะ “นำ” กันด้านไหนก็คงแล้วแต่ใครหยิบอะไรมาโชว์ แต่ที่แน่ ๆ ยอมกันไม่ได้ ทั้งเรื่องคลื่นความถี่ การทดลองทดสอบระบบ การเปิดบริการเชิงพาณิชย์ และอื่น ๆ

ชิงไหวชิงพริบกันน่าดู

ในมุมของเทคโนโลยี “5G” เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะมาพลิกโฉมหน้าหลายอุตสาหกรรม หากสามารถนำศักยภาพของเทคโนโลยีไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในระดับโลก และในบ้านเราต้องถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้นมาก ๆ ทำให้ค่ายมือถือทั้งหลายต้องทำงานกันหนักในหลายมิติ

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “พิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์” หัวหน้าคณะทำงาน และกรรมการยุทธศาสตร์ 5G บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น หลากหลายแง่มุม

Q : เปิดก่อน-หลังก็ไม่ยอมกัน

ต้องบอกว่าสูสีกันมาก ดังนั้น การเปิดตัวก่อนจึงเป็นการชิงความได้เปรียบเล็ก ๆ น้อย ๆ ระหว่างเรากับคู่แข่ง เรื่องการเป็น first mover ว่าใครก้าวก่อน เพราะทุกอย่างมีเท่ากัน จริง ๆ ต่างกันวันสองวันไม่มีผล ที่ต่างจริงคือ เน็ตเวิร์ก เราลงคลื่น 700 MHz ไปเยอะ ก่อนคู่แข่ง เพราะวางกลยุทธ์ต่างกัน เราเน้นจุดแข็งด้านการมีคลื่นครบที่สุด (7 ย่าน ทั้ง 700/850/900/1800/2100/2600 MHz และ 26 GHz) ทำให้ได้ความไกล และความทะลุทะลวง เฉพาะ700 MHz และ 2600 MHz ลงไปรวมกัน ประมาณหมื่นเสา ครอบคลุมกรุงเทพฯ 98% และ 77 จังหวัด รวมพื้นที่ EEC

ส่วนคู่แข่งเน้นคลื่น 26 GHz ลงเป็นกลุ่ม ๆ ต่างจากเราที่ผสมผสาน 700 MHz และ 2600 MHz เชื่อว่าเขาจะต้องปรับแผนเมื่อเห็นสิ่งที่เราทำ เดิมอาจคิดว่าคนใช้ 5G อยู่แค่ resident area แต่สิ่งที่เราประสบ และทำให้ต้องปรับกลุยทธ์ เพราะคิดว่าเมื่อลูกค้าซื้อเครื่อง 5G มาแล้ว ควรใช้ได้ทุกพื้นที่ ไม่ใช่แค่กลางเมือง และจะได้เห็นแคมเปญที่ตั้งใจบอกว่า เราครอบคลุมมากที่สุด แรงกว่า และเร็วกว่าทั่วไทย

Q : ภาพรวมและการแข่งขันใน 5G

5G ถือเป็นเรื่องใหม่มากของโลก และประเทศไทยเอง เราไม่เคยอยู่ในจุดที่เป็น early adopter ตอนทำ 3G ก็เริ่มหลังญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศแรกที่มี 3G มาแล้วถึง 9 ปี ส่วน 4G อัพเกรดมาจาก 3G ต่างจาก 4G ไป 5G ที่ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีครั้งใหญ่ และไทยเป็นประเทศแรก ๆ ในภูมิภาคนี้เช่นเดียวกับจีน และเกาหลีใต้ ไทยเปิดตัว 5G พร้อม ๆ กับญี่ปุ่นเมื่อปีที่แล้ว

ความต่างคือ ไทย ไม่เคยอยู่ในขั้น early adopter ไม่เคยพัฒนาอีโคซิสเต็ม ทำให้ไม่รู้ว่าจะนำมาใช้อย่างไร จึงต้องเริ่มต้นจากการสร้างอีโคซิสเต็มที่ชัดเจน และยั่งยืน ซึ่งหมายความว่าต้องทดลอง ทดลองทางเทคนิคสำเร็จ ก็ต้องทดลองเชิงธุรกิจ ต้องมีคนจ่ายเงิน และมีคนใช้ ถึงจะเดินต่อได้

องค์ประกอบที่จะทำให้เกิดระบบนิเวศขึ้นได้ เป็นสิ่งใหม่สำหรับคนไทย และประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสตาร์ตอัพ เรื่องเทคโนโลยี ซึ่งรัฐบาลเล็งเห็นและมีความพยายามที่จะสนับสนุน ทั้ง กสทช. และรัฐบาล เช่น ทำ sandbox 5G ที่ศิริราช เรื่องเฮลท์เทค

Q : บทบาทโอเปอเรเตอร์จะเปลี่ยนไป

ถูกต้อง เพราะ 5G มีฟังก์ชั่นหรือโซลูชั่นบางอย่างที่ต้องใช้งานเฉพาะด้าน ต้องไปทำตรงนั้นด้วย สร้างระบบนิเวศ และไม่ได้มีอันเดียว เช่น เฮลท์เทคก็จะเป็นระบบนิเวศของเฮสท์เทค มีผู้เล่นใหญ่ 3 ส่วน คือ ผู้ใช้ คือ โรงพยาบาล เทคพาร์ตเนอร์ คือใครให้บริการโซลูชั่นที่เหมาะกับด้านนี้ และเน็ตเวิร์กโพรไวเดอร์ อย่างเรา 3 ส่วนนี้ต้องทำงานร่วมกัน 5G ตอบโจทย์ 3 เรื่อง 1.การรักษาทางไกล เป็นการ “พรีสแกนนิ่ง” 2.การแพทย์ฉุกเฉินอย่างที่เราทำกับศิริราช ติดระบบรถฉุกเฉินส่งสัญญาณชีพ และข้อมูลต่าง ๆ มีแว่น AR ให้หมออยู่โรงพยาบาลดูได้เหมือนอยู่ในเหตุกาณ์ 3.การบริหารจัดการในโรงพยาบาล ตั้งแต่ระบบทะเบียนไปจนถึงการลิงก์กับทะเบียนอุปกรณ์การออโตเมดในโรงพยาบาล เช่น มีรถส่งยาไร้คนขับ เป็นต้น

Q : ต้องใช้พลังเยอะมากในการผลักดัน

ต้องมองว่า ถ้าแต่ละเฟสของ 5G คืออนาคต สิ่งที่ทำนี้ เพื่ออะไร ซึ่งไม่ได้เกิดได้เร็ว การสร้างอีโคซิสเต็มต้องใช้เวลา สิ่งที่จะมาก่อน คือ ฝั่งผู้บริโภค ทำไมเปลี่ยนมาใช้ 5G จะมีคำถามที่ไม่เหมือนกับฝั่งโซลูชั่น
5G ในฝั่งผู้บริโภค คือ แฮนด์เซต เริ่มจากกลุ่มบน คือไอโฟน และลงมาด้วยราคาเครื่องที่ถูกลง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คอนซูเมอร์ ไม่รู้ว่า 5G ทำอะไรได้ แต่รู้สึกว่าถ้าต้องเปลี่ยนเครื่องก็อยากเป็น 5G อาจรู้แค่ว่าเร็วกว่า 4G มาก แต่ผู้ใช้ส่วนใหญ่ฟีดแบ็กว่า ไม่ได้ต่างกันขนาดนั้น เพราะ 4G ก็เร็วพอประมาณที่จะรองรับการใช้แอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ที่ไม่ได้ใช้แบนด์วิดท์มาก ทำให้ประสบการณ์ของลูกค้าไม่รู้สึกว่าต่างกัน

กลุ่มแรกที่ใช้มาจาก “แฮนด์เซต” เป็นหลัก อีกสักพักและจะเกิดปีนี้ คือคนจะเริ่มถามว่า เปลี่ยนเครื่อง 5G ไม่ต่างจาก 4G เท่าไร สิ่งที่โอเปอเรเตอร์ต้องทำ คือ สร้างประสบการณ์ใหม่ให้ผู้บริโภครู้สึกว่าต่างจาก 4G จะเป็นคอนเทนต์ AR/VR คู่กับการทำแพ็กเกจ และการตลาด เช่น คอนเทนต์นี้ต้องเป็นลูกค้า 5G ถึงใช้ได้สร้างประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้าได้ว่าทำไมต้องเปลี่ยนมาใช้ 5G

Q : ฐานลูกค้าและเป้าหมายปีนี้

ปัจจุบันในระบบมีเครื่องที่รองรับ 5G แล้วกว่า 4 แสนเครื่อง แต่ใช้แพ็กเกจ 5G 2.5 แสนราย เป็นกลุ่มบนเกือบทั้งหมด เพราะราคาเครื่องสูง กลุ่มนี้ยังแบ่งได้ 2 กลุ่มใหญ่ คือ 1.กลุ่มที่ไม่รู้ว่า 5G ดีอย่างไร แต่เปลี่ยนเครื่องแล้วต้องเป็น 5G และ 2.กลุ่มที่ต้องการใช้ 5G เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ

การทำตลาดจะทาร์เก็ตในพื้นที่มี 5G โดยใช้ data analytics เพราะการวางเน็ตเวิร์กไม่ได้ปูพรมทุกหย่อมหญ้าเหมือน 4G เป้าปีนี้อยู่ที่ 1 ล้านราย ถือว่าสมเหตุสมผล คาดว่ากลางปี ราคาเครื่องจะลดจาก 1 หมื่นบาท เหลือ 4,000-5,000 บาท

Q : 5G ทรูเทียบกับคู่แข่ง

เราจะสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้า ด้วย 1.คอนเทนต์ 5G รูปแบบใหม่ ถ้าบอกว่าวันนี้ใครคือผู้นำคอนเทนต์ ถ้าไม่ใช่ทรู เปลี่ยนให้เป็นคอนเทนต์ 5G มีทีมเฉพาะ มีสตูดิโอ “TRUE 5G XR STUDIO” รองรับการผลิตคอนเทนต์รูปแบบใหม่ ทำตั้งแต่คอนเทนต์ โปรดิวเซอร์ 2.บริการดิจิทัลต่าง ๆ พริวิเลจที่ให้ก็จะมีประสบการณ์รูปแบบใหม่ เช่น ใน 4G ส่องมือถือไปจะเห็นเป็นภาพกราฟิกพ็อปอัพ แต่ถ้า 5G จะสตรีมมิ่งเป็นวิดีโอ

Q : คู่แข่งก็เน้นสร้างอีโคซิสเต็ม

ต้องดูว่าใครทำเก่งกว่ากัน การเจาะลงไปในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เป็นเรื่องการสร้างพาร์ตเนอร์ชิป และอีโคซิสเต็ม การที่เรามีพาร์ตเนอร์อย่างไชน่าโมบาย ซึ่งมีประสบการณ์ 5G เยอะ ทำให้ดึงยูสเคสต่าง ๆ มาดูแทนที่จะเริ่มต้นจากศูนย์ ก็อาจเริ่มจาก 2
5G มี 3 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นการสร้างอีโคซิสเต็มจะหลังสุดต้องใช้เวลา แต่ตรงกลาง คือส่วนที่ว่า 5G มีฟังก์ชั่นหลายอย่างมาพร้อมเน็ตเวิร์ก เช่น บริการไพรเวตเน็ตเวิร์กกับลูกค้าองค์กร องค์กรนี้ความเร็วเท่านี้ แบนด์วิดท์เท่านี้ พื้นที่นี้คิดราคาเท่านี้จะมีแพ็กเกจออกมาในไตรมาส 3 รวมถึงในกลุ่มลูกค้าที่ใช้มือถือและซิม 4G ของเรา เมื่อครบดิวจะทยอยเปลี่ยนสัญญาใหม่เป็น 5G

อีกอย่างคือ fixed wireless access หรือ FWA นำซิม 5G ไปใส่ที่เราเตอร์กระจายสัญญาณบรอดแบนด์ แทนลากสายไฟเบอร์ ซึ่งเดิมในพื้นที่ห่างไกลไม่คุ้ม หรืออาคารสูงที่สร้างมานาน

Q : มีธุรกิจในเครือหลากหลายเป็นข้อดีหรือไม่ดี

เรามองว่ายูสเคสต่าง ๆ จะเกิดกับในเครือเราก่อน และง่ายกว่า เพราะเป็นการทดลอง และเป็นการลงทุนที่ไม่รู้ว่าผลลัพธ์คืออะไร ซึ่งบริษัทในเครือเราเป็นผู้นำในแต่ละอุตสาหกรรม การจะทำยูสเคสเราและคู่แข่งก็คงมองไม่ต่างกัน คือดูว่าใครเป็นผู้นำในแต่ละอุตสาหกรรม ก็ไปจับกับคนนั้น ความได้เปรียบของเราคือ ในหลายอุตสาหกรรมผู้นำคือในกลุ่มเราเอง และถ้าได้ผลจริง การขยายผลก็จะง่ายกว่า ขายคนอื่นได้ ไม่ได้เป็นเทคโนโลยีที่จะแข่งกัน

Q : 5G กับการพัฒนาประเทศ

ถือเป็นความท้าทาย ถ้าจะใช้ 5G พัฒนาประเทศ ทุกคนต้องช่วยกันผลักดัน ทำให้เราก้าวไปสู่จุดที่อาจจะไม่ถึงขั้นเป็นคนที่คิดเทคโนโลยีใหม่แต่สามารถประยุกต์ใช้ เช่น ด้านเฮลท์ และการเกษตร ด้านเฮลท์ ไทยเป็นประเทศที่มีบริบทที่ยูนีคมาก เรามีสถาบันด้านการแพทย์ที่เก่ง อายุยาวนาน เช่น ศิริราช และแอ็กทีฟมากเรื่องการทำวิจัย และพัฒนานวัตกรรม อีกทั้งบริบทของประเทศไทย มีทั้งโรงพยาบาล และชนบทที่ห่างไกลทำให้มียูสเคสเรื่องการแพทย์ทางไกลหลายอัน เช่น การทำรีโมตอัลตราซาวนด์ ส่วนด้านเกษตร ในเครือมียูสเคสให้ทดลองเยอะ เน็ตเวิร์กยังอยู่ในเมือง แต่เกษตรกรอยู่นอกเมือง ทำให้เกิดขึ้นได้ช้า