“เทลสกอร์” ลุยอัพไซซ์ธุรกิจ รับเทรนด์โซเชียลคอมเมิร์ซบูม

เป็นสตาร์ตอัพดาวรุ่งที่ปรับตัวและพลิกวิกฤตโควิด-19 เป็นโอกาสได้ค่อนข้างดี สำหรับ “เทลสกอร์” แพลตฟอร์มอินฟลูเอนเซอร์แมเนจเมนต์ล่าสุดเตรียมระดมทุนซีรีส์ A เพื่อขยายธุรกิจ

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “สุวิตา จรัญวงศ์” ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เทลสกอร์ จำกัด เกี่ยวกับการปรับตัวของสตาร์ตอัพไทย กระแสโซเชียลคอมเมิร์ซที่กำลังมาแรงรวมถึงแผนขยายธุรกิจของบริษัทกับเป้าหมายในการระดมทุนในปีนี้

Q : สตาร์ตอัพได้รับผลกระทบจากโควิด

โควิดทำให้สตาร์ตอัพไทยหายไปจำนวนมาก เพราะไม่มีรายได้ บางรายตัดสินใจออกจากตลาดไป แต่เชื่อว่าถ้าสถานการณ์ดีขึ้นสตาร์ตอัพไทยก็จะมีโอกาสกลับมาได้อีกส่วนรายที่ยังอยู่ได้ก็มีการปรับตัว

เปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจไปจากเดิมพอสมควรเพื่อเดินต่อ แต่ในอีกมุมโควิดก็ส่งผลให้การระดมของสตาร์ตอัพเกิดขึ้นช้าลง เพราะนักลงทุนเดินทางไม่ได้ทำให้บางรายชะลอการตัดสินใจไว้ก่อน

ในเวลาเดียวกันเมื่อตัวเลือกลดลงก็อาจทำให้นักลงทุนเลือกได้ง่ายขึ้นว่าจะลงทุนกับใคร เพราะรายที่เหลืออยู่คือผู้ที่สามารถเดินหน้าธุรกิจต่อได้

Q : เทลสกอร์เป็นรายที่เหลืออยู่

ช่วงแรกก็ได้รับผลกระทบ แต่ปรับตัวได้ด้วยการปรับรูปแบบ ปรับกลยุทธ์ธุรกิจ เทลสกอร์ในฐานะคอมมิวนิตี้อินฟลูเอนเซอร์มองเห็นโอกาสที่เกิดขึ้นด้วยการดึงอินฟลูเอนเซอร์มาสร้างคอนเทนต์

เพื่อช่วยแบรนด์ขายของบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ช่วยสร้างอิมแพ็กต์ให้การขายมากขึ้น เพราะถ้ามีแค่เทคโนโลยีหรือแค่ขายของบนแพลตฟอร์มเฉย ๆ ก็เหมือนมีช็อปเปล่า ๆ ที่ไม่มีคนขาย ไม่มีสีสัน ไม่น่าสนใจ

การปรับตัวปีที่ผ่านมา ทำให้เรารักษาระดับการเติบโตได้ดี ประกอบกับผู้บริโภคคุ้นชินกับการซื้อของออนไลน์ กระตุ้นให้ตลาดโซเชียลคอมเมิร์ซโตขึ้น ทำให้เราเตรียมเปิดระดมทุนซีรีส์ A ในปีนี้

Q : กลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ก็ต้องปรับตัว

บริษัทมีเครือข่ายอินฟลูเอนเซอร์กว่า 40,000 คน ซึ่งได้รับผลกระทบเช่นกัน บางรายที่ปรับไม่ได้ก็หายไป บางรายต้องเปลี่ยนรูปแบบนำเสนอ จากเดิมเคยสร้างคอนเทนต์ที่ลึกลงไปในเรื่องใดเรื่องใดหนึ่ง ก็ต้องสร้างความหลากหลายให้ตัวเอง เพื่อบาลานซ์ความเสี่ยง

ปัจจุบันอินฟลูเอนเซอร์ 1 คน ต้องทำคอนเทนต์ได้มากกว่าสายที่ตัวเองถนัดและหลังโควิดพบว่าอินฟลูเอนเซอร์ที่ได้รับความนิยม 3 อันดับแรกคือ สายอาหารบิวตี้สุขภาพ และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ต่างจากช่วงก่อนโควิดที่อินฟลูเอนเซอร์ 3 อันดับแรกที่ได้รับความนิยมคือ สายบิวตี้ อาหารและท่องเที่ยว

Q : โซเชียลคอมเมิร์ซในไทยมาแรง

ปัจจัยหลัก คือ พฤติกรรมคนไทยที่เป็นเอกลักษณ์ ต้องการสื่อสารกับผู้ซื้อ ซึ่งโซเชียลคอมเมิร์ซตอบจริตนักช็อปไทย และกระแสนี้ได้รับความนิยมทั่วเอเซีย โดยโตมาตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด และเมื่อเจอโควิดยิ่งเร่งสีเร่งโตให้ตลาดนี้ จนแพลตฟอร์มรายใหญ่ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ต้องออกเครื่องมือใหม่ ๆ มาช่วยกระตุ้นการขายให้พ่อค้าแม่ค้า

Q : โซเชียลคอมเมิร์ซไทยอยู่ขั้นไหน

ปีก่อนเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลผ่านอินฟลูเอนเซอร์โตขึ้น 30% จากปี 2562 ที่โตเพียง 12-13% เท่านั้น เฉพาะผลิตคอนเทนต์ โฆษณา ไม่นับรวมอินฟลูเอนเซอร์ที่ทำอีคอมเมิร์ซ ถือได้ว่าเติบโตมากกว่าการใช้เม็ดเงินโฆษณาผ่านเสิร์ชเอนจิ้นในปี 2562

ขณะเดียวกัน ปีนี้ยังเป็นปีแจ้งเกิดของโซเชียลคอมเมิร์ซด้วย หลังจากในช่วงโควิดที่ผ่านมาหลายแบรนด์ได้ทดลองขายผ่านช่องทางนี้แล้ว พบว่าขายของได้จริงและขายได้ดี ทำให้แบรนด์ที่เคยกล้า ๆ กลัว ๆ ตัดสินใจลงมาเล่นในตลาดนี้

ผู้เล่นที่ให้บริการแพลตฟอร์มการทำตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์ก็เพิ่มขึ้นเรามองว่าเป็นสัญญาณที่ดีในการกระตุ้นตลาดให้เติบโต ซึ่งเทลสกอร์ก็มีจุดแข็งเรื่องระบบการจ้างอินฟลูเอนเซอร์และมีทีมขายที่ช่วยให้แบรนด์บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้

Q : อินฟลูเอนเซอร์ช่วยขายของได้จริง

เมื่อรวมโซเชียลคอมเมิร์ซและอินฟลูเอนเซอร์เข้าด้วยกัน ทำให้เกิดการซื้อขายได้จริง แต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ที่วางไว้ เริ่มตั้งแต่การทำคอนเทนต์ว่าจะไปแนวไหน จะขายสินค้ามากหรือน้อย โดยโจทย์ที่วางไว้ต้องชัด

กลุ่มสินค้าที่มาแรงปีนี้คือสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะโกลบอลแบรนด์ออกมาไลฟ์ขายสินค้าผ่านเฟซบุ๊ก อินสตาแกรมของตัวเอง พร้อมกับตั้งงบฯสำหรับโฆษณา หรือจ้างอินฟลูเอนเซอร์มาขายบนโซเชียลคอมเมิร์ซมากขึ้น เพราะรู้แล้วว่าขายของได้จริง

Q : แผนระดมทุนซีรีส์ A

ปีที่ผ่านมาบริษัทมีการเติบโตที่ดี มีลูกค้าเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีประมาณ 150 ราย แต่มีพนักงานเพียง 70 คน จึงจะเปิดระดมซีรีส์ A โดยเริ่มคุยกับนักลงทุนบางรายไปแล้วตั้งแต่ ธ.ค.ปีที่แล้ว

ตั้งใจนำเงินมาขยายเทคโนโลยี AI, machine learning เพิ่มทีมขายเพื่อขยายศักยภาพรองรับตลาดโซเชียลคอมเมิร์ซที่กำลังโตขึ้น ส่วนในแง่มูลค่าการระดมทุนอยู่ระหว่างสรุปตัวเลข

Q : วางแผนทางธุรกิจอย่างไร

ตลาดโซเชียลคอมเมิร์ซยังโตต่อเนื่อง โดยปีที่ผ่านมาแม้เจอโควิดบริษัทก็ยังโตได้ จากการเปิดตัวหน้าร้านออนไลน์รูปแบบอินฟลูเอนเซอร์ชื่อ “Tellscore Shop” ช่วงปลายปี จากเดิมที่เตรียมจะเปิดในปีนี้

ข้อดีของการเปิดตัวเร็วทำให้ได้เรียนรู้ว่าควรปรับอะไรบ้าง ซึ่งได้ปรับแก้ไขไปแล้ว สิ่งที่ต้องทำเพิ่มคือ การหาอินฟลูเอนเซอร์ให้ตรงกับสินค้ามากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งปีนี้จะโหมทำตลาด Tellscore Shop โดยจะเจาะกลุ่มเอสเอ็มอี

เป้าหมายคือทำให้ Tellscore Shop เป็นหัวหอกในการเปิดประตูให้เอสเอ็มอีไว้ใจและใช้บริการ เนื่องจากเป็นตลาดใหญ่และมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ

เราวางราคาค่าบริการไม่สูงแต่มีประสิทธิภาพในการช่วยเอสเอ็มอีขายของได้จริง คาดว่า Tellscore Shopจะเป็นแรงสำคัญในการผลักดันให้บริษัทเติบโตมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว