ชีวิต ไรเดอร์ เริ่มไม่ง่าย ฟู้ดดีลิเวอรี่ จ่อลดค่าส่ง-เพิ่มหัวคิว

ชีวิตไรเดอร์ไม่ง่าย
ภาพจากเฟซบุ๊ก สหภาพไรเดอร์

วงการไรเดอร์ ไม่ง่าย ไลน์แมน หั่นค่าส่ง แกร็บเก็บค่าคอมมิชชั่น 15% ฟู้ดแพนด้า ย้ำ ไรเดอร์จิ๊กซอว์สำคัญเปิดค่าส่งเฉลี่ย 33 บาทต่อออเดอร์ พร้อมเพิ่มคะแนนวิ่งดี ส่วน โรบินฮู้ด-โกเจ็ก วิ่งเท่าไรได้เท่านั้น

วันที่ 5 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โควิด-19 ถือเป็นตัวเร่งสำคัญ กระตุ้นให้แพลตฟอร์มฟู้ดดีลิเวอรี่เติบโตแบบก้าวกระโดด ซึ่งหน้าที่สำคัญของแพลตฟอร์มฟู้ดดีลิเวอรี่ คือ ตัวกลางเชื่อมระหว่างร้านอาหารทั้งเล็ก รายกลาง รายใหญ่ ให้มาเจอกับผู้บริโภค โดยมีไรเดอร์ที่ถือเป็นจิ๊กซอว์สำคัญ

ขณะที่ค่าตอบแทนต่อรอบของไรเดอร์ ที่แพลตฟอร์มฟู้ดดีลิเวอรี่ให้ก็กลายเป็นประเด็นกระทบกระทั่งกันต่อเนื่อง

ไลน์แมน-แกร็บหักคอมมิชชั่น 15%

ล่าสุด กลุ่มไรเดอร์ไลน์แมนต่างจังหวัด ได้รวมตัวกันออกมาเรียกร้องแก่แพลตฟอร์ม ไลน์แมน เพื่อให้จ่ายค่าตอบแทนต่อรอบเท่าเทียมกัน โดยค่าตอบแทนพื้นที่ต่างจังหวัดต้องอยู่ที่ 40 บาทต่อรอบ จากปัจจุบันที่ค่าตอบแทนต่ำกว่า 40 บาทต่อรอบ โดยปัจจุบันไลน์แมนให้บริการอยู่ 55 จังหวัดทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลอัตราค่าขนส่งของไลน์แมน ระบุว่า ไรเดอร์จะได้รับค่าตอบแทนบริการส่งอาหารเริ่มต้นที่ 55 บาท บวกกับค่าจัดส่งเพิ่มเติม กิโลเมตรละ 9 บาท และหักค่าคอมมิชชั่น 15% ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพ หลังจากหักค่าคอมมิชชั่นและภาษีแล้วจะเหลือประมาณ 42.50 บาท

ส่วน แกร็บ ฟู้ด ไรเดอร์จะได้ค่าจัดส่งอาหาร เริ่มที่ 40 บาท บวกค่าส่งเพิ่มเติมกรณีส่งอาหารระยะทางมากกว่า 3 กิโลเมตรขึ้นไป และหักคอมมิชชั่น 15% จากค่าจัดส่ง พร้อมด้วยระบบ “อินเซนทีฟ” หรือที่รู้จักในหมู่ไรเดอร์ว่า “ภารกิจนักล่าเพชร” สะสมเพชร เพื่อรับโบนัสเงินสด ที่จะโอนเข้ากระเป๋าเงินทุกวันพุธของทุกสัปดาห์ เช่น ขับครบ 11 รอบได้เพิ่ม 500 บาท หรือขับในวันศุกร์-อาทิตย์ครบ 6 รอบ ได้เพิ่ม 350 บาท

ไรเดอร์ตัวเชื่อมสำคัญฟู้ดดีลิเวอรี่

ขณะที่ฟู้ดแพนด้า ที่กินพื้นที่ให้บริการครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วไทย “อเล็กซานเดอร์ เฟลเดอร์” กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้งฟู้ดแพนด้า ผู้บริหารแพลตฟอร์มฟู้ดดีลิเวอรี่ “แพนด้า” ให้มุมมองว่า แพลตฟอร์มฟู้ดดีลิเวอรี่ถือเป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างร้านอาหารและผู้บริโภคเข้าหากัน โดยมีไรเดอร์เป็นตัวเชื่อมในการส่งต่ออาหารและสิ่งของให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งในมุมไรเดอร์ คือ ต้องการสร้างรายได้ ส่วนแพลตฟอร์มก็ต้องให้รายได้ที่ดีที่สุดแก่ไรเดอร์เช่นกัน

แต่อยากให้มองหลาย ๆ มุมว่า ถ้าแพลตฟอร์มจ่ายค่าตอบแทนให้ไรเดอร์สูง แต่ได้รอบน้อย แต่หากจ่ายค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผลแต่ได้รอบวิ่งจำนวนมาก รายได้ของไรเดอร์ก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เพราะต้องยอมรับว่า รายได้หลักของฟู้ดดีลิเวอรี่ คือ ค่าคอมมิชชั่นที่เก็บจากร้านค้าและไรเดอร์ ส่วนต้นทุนหลักของฟู้ดดีลิเวอรี่ คือ ต้นทุนจากการทำแคมเปญ การทำตลาด ผ่านคูปองส่วนลดต่างๆ ที่ให้แก่ผู้บริโภค กระตุ้นให้เกิดการซื้อ เพื่อทำให้อีโคซิสเท็มของฟู้ดดีลิเวอรี่เดินหน้าต่อได้

สำหรับคนขับฟู้ดแพนด้า จะมีรายได้มาจากค่าจัดส่งเฉลี่ย 33 บาทต่อออเดอร์ โดยคนขับแต่ละคนจะได้รับไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับคะแนนการทำงานหรือแบช ส่วนเกณฑ์การคำนวน แบ่งเป็น 2 กลุ่มตามเขตจังหวัด ได้แก่ กลุ่ม A วิ่งในช่วงเวลาพิเศษ จะได้คะแนน 30% วิ่งครบตามชั่วโมงที่จองได้ 30% ไม่ขาดงานในเวลาที่เลือกไว้ได้ 20% และจำนวนออเดอร์ที่กดรับอีก 20% ส่วนกลุ่ม B วิ่งในช่วงเวลาพิเศษ จะได้คะแนน 30% วิ่งครบตามชั่วโมงที่จอง 40% ไม่ขาดงานในเวลาที่เลือกไว้ได้ 20% และจำนวนออเดอร์ที่กดรับอีก 10%

โรบินฮู้ด-โกเจ็ก วิ่งเท่าไรได้เท่านั้น

สำหรับแพลตฟอร์มสัญชาติไทย “โรบินฮู้ด” รายได้ของไรเดอร์จะขึ้นอยู่กับจำนวนรอบที่ขับต่อวัน การันตีรายได้ 25,000-30,000 บาทต่อเดือน ไม่หักค่า GP จากพาร์ทเนอร์ ไม่ต้องสำรองจ่ายค่าอาหารก่อน  ไม่บังคับซื้อเสื้อ ซื้อกล่อง พร้อมประกันอุบัติเหตุและประกันรถจักรยานยนต์จาก SKOOTAR ด้วย

ปิดท้ายด้วย โกเจ็ก โดยรายได้ของไรเดอร์ขึ้นอยู่กับจำนวนรอบที่ขับต่อวันเช่นกัน พร้อมรับอินเซนทีฟเพิ่มเติม หากขับได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยผู้ที่สนใจสามารถสมัครเป็นพาร์ทเนอร์คนขับได้ผ่านระบบออนไลน์ โดยไม่เสียค่าสมัคร