ถอดบทเรียน “อัลฟ่า ฟาสต์” พ่ายสงคราม “ราคา” โลจิสติกส์

ปรากฏการณ์ถอยทัพจากธุรกิจขนส่งไทยแบบฟ้าผ่าของผู้เล่นรุ่นบุกเบิก อย่างบริษัท อัลฟ่า เพอร์ฟอร์มาซ์ กรุ๊ป จำกัด ผู้ให้บริการส่งพัสดุด่วนสำหรับอีคอมเมิร์ซ ภายใต้ชื่อ “อัลฟ่า ฟาสต์”

เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา ด้วยการประกาศเลิกจ้างพนักงานกว่า 400 ชีวิต ตามด้วยการร่อนหนังสือแจ้งปิดกิจการในไทย มีผลทันทีเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยระบุเหตุผลว่า การแข่งขันด้านราคามีความรุนแรง มุ่งไปที่การลดราคาให้ต่ำกว่าต้นทุนมากกว่าการให้บริการ ประกอบกับบริษัทยังได้รับผลกระทบทางธุรกิจจากวิกฤตโควิด ทำให้ผลประกอบการอยู่ในสภาวะขาดทุนต่อเนื่อง

“สุทธิเกียรติ จันทรชัยโรจน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชิปป๊อป จำกัดผู้ให้บริการระบบโลจิสติกส์ครบวงจร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การปิดตัวลงของผู้ให้บริการบางราย ชัดเจนว่ามาจากการแข่งขันด้านราคาอย่างรุนแรงเห็นได้จากอัตราค่าบริการขนส่งโดยเฉลี่ยในปัจจุบันอยู่ที่ 25 บาท ขณะที่บางบริษัท เช่น อัลฟ่า ฟาสต์ คิดค่าขนส่งเริ่มต้นที่ 35 บาท ถือว่าสูงเทียบรายอื่น

“ผู้เล่นที่จะอยู่รอดในธุรกิจโลจิสติกส์ได้ คือ รายที่ทำราคาค่าส่งที่จูงใจให้คนมาใช้บริการได้ เน้นการส่งในปริมาณมาก ๆเมื่อได้จำนวนที่มากพอจึงจะมีกำไร ขณะที่อัลฟ่ามียอดจัดส่งไม่มาก ราว 2-3% ของยอดจัดส่งของชิปป๊อป”

อีกปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นมาจากบริการจัดส่งด่วนใน 1 วัน ถ้าทำยอดจัดส่งพัสดุไม่ได้ตามเป้าก็ยากที่จะอยู่รอดได้ ทั้งนี้การประกาศปิดกิจการ “อัลฟ่า ฟาสต์” ไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโลจิสติกส์โดยรวมเพราะยอดจัดส่งไม่มาก ลูกค้าที่เคยใช้บริการจึงย้ายไปใช้บริการขนส่งของรายอื่นได้

ผู้บริหารชิปป๊อปกล่าวด้วยว่า การแข่งขันในธุรกิจโลจิสติกส์ปีนี้มีแนวโน้มที่จะไม่แข่งด้านราคารุนแรงเหมือนที่ผ่านมาที่ราคาขนส่งเริ่มต้น 9 บาท โดยปัจจุบันปรับขึ้นมามีราคาเริ่มต้นมาที่ 12 บาท และ 15 บาท ตามลำดับ และคาดว่าครึ่งปีหลังจะปรับเพิ่มเป็น 18 บาท

“ผู้ให้บริการที่จะอยู่รอดได้ก็ต่อเมื่อมีการปรับราคาให้สอดคล้องกับเจ้าอื่น ๆ และขยายฐานลูกค้าเพิ่มได้ ซึ่งหมายถึงเป็นรายใหญ่ที่ต้องมีทุนมากพอที่จะสามารถขาดทุนในระยะยาวได้ เห็นได้จากผู้เล่นทุนใหญ่จากจีน เช่น นินจาแวน เจแอนด์ที เบสท์ เอ็กซ์เพรส เป็นต้น”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ผู้เล่นรายหลักมีการคิดราคาค่าส่งต่างกัน หากเทียบการส่งที่น้ำหนัก 1 กิโลกรัม พบว่า ไปรษณีย์ไทยคิดราคาค่าส่ง EMS ที่ 67 บาท เคอรี่เริ่มต้นที่ 25 บาท และลาซาด้า เอ็กซ์เพรสอยู่ที่ 38 บาท โดยธุรกิจขนส่งไทยถือเป็นธุรกิจดาวรุ่งที่มีเติบโตท่ามกลางการระบาดโควิด-19

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยอีไอซีของธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า ธุรกิจขนส่งด่วนในไทยปี 2563 มีมูลค่ารวมประมาณ 66,000 ล้านบาท มีจำนวนพัสดุไม่ต่ำกว่า 4 ล้านชิ้นต่อวันโดยส่วนแบ่งตลาด 5 อันดับแรก คือ ไปรษณีย์ไทย 41% เคอรี่ 39% ลาซาด้า เอ็กซ์เพรส 8% นิ่ม เอ็กซ์เพรส 3% และดีเอชแอล 2%

การถอนทัพของ อัลฟ่า เป็นบทพิสูจน์ชัดเจนว่า economic of scale และการมีฐานเงินทุนที่พร้อมจะเล่นเกมได้ยาวกว่ากันโดยไม่ลืมที่จะพัฒนาคุณภาพไปพร้อมกัน เพราะอย่างที่รู้กันว่าการแข่งขันบนเส้นทางธุรกิจไม่ใช่การวิ่งระยะสั้นแต่เปรียบได้กับการวิ่งมาราธอน