Apple กับโจทย์หิน ด้านการละเมิดความเป็นส่วนตัว

REUTERS/Gonzalo Fuentes/File Photo
TechTimesมัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

Apple กำลังทดสอบระบบในการสแกนหารูปถ่ายที่เป็นการล่วงละเมิดทางเพศเด็กบน iCloud โดยอ้างว่าเป็นระบบที่ล้ำสมัยและมีประสิทธิภาพที่สุดในอุตสาหกรรม

ในขณะที่ได้รับคำชื่นชมจากกลุ่มพิทักษ์สิทธิเด็ก บริษัทก็กำลังโดนโจมตีอย่างหนักจากกลุ่มรณรงค์เพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัว

โดยมองว่าระบบใหม่นี้เป็นการละลาบละล้วงข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า อีกทั้งยังอาจเปิดช่องให้รัฐบาลเผด็จการในหลายประเทศนำมาใช้ปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมืองด้วย

Apple ยืนยันว่า ระบบใหม่นี้เป็น win-win solution เพราะทั้งเคารพสิทธิส่วนบุคคลและช่วยปกป้องไม่ให้เกิดการละเมิดทางเพศเด็กไปในเวลาเดียวกัน

โดยบริษัทชี้แจงว่า ก่อนที่จะมีการอัพโหลดรูปภาพขึ้น iCloud ระบบจะใช้วิธีที่เรียกว่า hashing หรือการแปลงไฟล์ภาพให้เป็นรหัสตัวเลข (hashes) เพื่อนำมาเทียบเคียงว่าตรงกับ hashes

Advertisment

ของรูปถ่ายล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ที่ศูนย์ The National Center for Missing and Exploited Children (NCMEC) รวบรวมขึ้นหรือไม่

หากตัวเลขตรงกัน ระบบจะทำการปลดรหัส (decrypt) เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถทำการตรวจสอบรูปดังกล่าวจากบัญชีผู้ใช้งานนั้น ๆ

บริษัทบอกด้วยว่า หากใครไม่อยากโดนตรวจ ก็แค่ปิดการใช้งาน หรือไม่อัพรูปขึ้น iCloud เท่านั้นเอง

บริษัทเริ่มทดสอบระบบในอเมริกาตั้งแต่สัปดาห์ก่อน แต่น่าจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการพร้อม iOS 15 ราวปลายปีนี้

Advertisment

ความจริง Google และ Facebook ก็มีระบบที่ใช้ในการระบุภาพล่วงละเมิดทางเพศเด็กเช่นกัน แต่ Apple อ้างว่า ระบบล่าสุดของตัวเองนั้นทันสมัย และเคารพความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้บริการมากกว่า

แต่หลายฝ่ายดูจะไม่ค่อยเชื่อเท่าไร

“เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน” ผู้โด่งดังจากการออกมาแฉว่า สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ หรือ NSA มีการลักลอบเก็บข้อมูลการใช้โทรศัพท์มือถือและอีเมล์ของประชาชนอเมริกันหลายล้านคน บอกว่าหากระบบสามารถสแกนรูปเด็กได้ มันก็สามารถประยุกต์ให้สแกน “อะไร” ก็ได้ในอนาคต

ในขณะที่ The Electronic Frontier Foundation (EFF) เอ็นจีโอที่เคยชื่นชมนโยบายการรักษาความเป็นส่วนตัว และระบบ encryption ของ Apple ก็ออกมาโจมตีระบบใหม่นี้อย่างรุนแรงว่า เป็นการเปิด “ประตูหลัง” ให้รัฐบาลเผด็จการเข้าถึงไฟล์หรือข้อมูลส่วนตัวของผู้เห็นต่างทางการเมืองได้

การที่หลายฝ่ายจิกกัด Apple เรื่อง privacy อย่างหนัก มาจากการที่บริษัทชูเรื่องนี้เป็นจุดเด่นในการสร้างความแตกต่างมาตลอด โดยเฉพาะระบบ end-to-end encryption ที่บริษัทอ้างว่าสามารถปกป้องข้อมูลลูกค้าได้แน่นหนา

“ซีอีโอทิม คุก” ที่เตือนภัยเรื่องการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลว่า หากวันใดผู้บริโภครู้สึกว่าข้อมูลของตนกำลังโดนสอดแนมจาก “บุคคลที่ 3” พวกเขาก็จะเริ่ม “เซ็นเซอร์” ตัวเองทีละนิด

รู้ตัวอีกทีก็ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างแล้ว กลายเป็น“chilling effects” ที่ทำให้ “คนไม่กล้าเสี่ยงไม่กล้าใช้จินตนาการ ไม่กล้าสร้างสรรค์อะไรใหม่ ไม่กล้าพูด ไม่กล้าลอง และไม่กล้าคิด”ซึ่ง Apple จะไม่มีวันทำเช่นนั้นเด็ดขาด

การชูจุดขายเรื่อง privacy ของ Apple ประสบความสำเร็จอย่างมาก และทำให้บริษัทได้รับความเชื่อถือจนขยายกิจการเข้าสู่อุตสาหกรรมการเงินและสาธารณสุขที่ต้องการระบบที่มีประสิทธิภาพในการปกป้องข้อมูลส่วนตัวสูง

จึงไม่แปลกที่กลุ่มรณรงค์เรื่อง privacy ซึ่งเป็นพันธมิตรเก่าจะรู้สึกเหมือนโดนหักหลัง เมื่อรู้ว่า Apple กำลังทดสอบระบบที่เข้ามาส่องดูรูปถ่ายต่าง ๆ ของผู้ใช้ได้

ถึง Apple จะยืนยันว่า ระบบที่พัฒนาขึ้นนี้จะสแกนได้เฉพาะรูปถ่ายล่วงละเมิดทางเพศเด็กเท่านั้น แต่ฝ่ายโจมตีก็ไม่เชื่อ เพราะทุกวันนี้ ผู้คนหวงแหนความเป็นส่วนตัวเหนือสิ่งอื่นใด

และหลายคนลงทุนซื้อไอโฟนแม้จะมีราคาสูงกว่าสมาร์ทโฟนแบรนด์อื่น เพราะเชื่อมั่นในระบบของบริษัท ประกอบกับสถานการณ์การเมืองในหลายประเทศที่คุกรุ่นด้วยความขัดแย้งก็ยิ่งเพิ่มความระแวงเข้าไปอีก น่าจับตาว่า Apple จะรับมือกับโจทย์ท้าทายนี้อย่างไร