“พิเชฐ”กระตุ้นเอกชนเร่งลงทุนร่วมภาครัฐ ลุยต่อยอดเน็ตประชารัฐ ดึงบัณฑิตกลับบ้าน ย้ำปี61 เห็นผลรูปธรรม

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2560 สมาคมจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย จัดงานเสวนา Thailand Competitiveness Conference 2017 โดยมีนายพิเชฐ ดุงรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) ร่วมบรรยายพิเศษ

โดยรัฐมนตรีว่ากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ดิจิทัลสามารถอำนวยประโยชน์ทั้งเศรษฐกิจและสังคม การที่ต้องเปลี่ยนจากกระทรวงไอซีทีมาเป็นดิจิทัล เพราะดิจิทัลมีความซับซ้อนไม่ได้เกี่ยวกับเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวอีกแล้ว ถ้าไม่เร่งทำดิจิทัล ก็จะทำลายโอกาสของคนรุ่นใหม่ สตาร์ตอัพเก่งๆ มีไอเดียดีแต่ต้องให้ประเทศอื่นมาลงทุนให้ เท่ากับโอกาสของประเทศหลุดลอยไป ฉะนั้นหน้าที่ของทุกคนคือสร้างให้เร็วสร้างให้ได้ เป็นนักปฏิบัติไม่ใช่นักวางแผน เพื่อความยั่งยืน

“ยุคนี้เราสามารถพูดเต็มปากว่า กำลังกระจายความเจริญอย่างเป็นรูปธรรม และด้วยดิจิทัลสปีด จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับคำว่า สเกลอัพอย่างจริงจังและเข้มข้น ทุกวันนี้ถึงใช้โมเดลของถนนคอนกรีตที่จะไปสร้างความเจริญสู่ชุมชน แต่วันนี้คือการสร้างถนนดิจิทัลสู่ชุมชน สร้างให้มีให้ใช้ เข้าถึงได้ และทุกคนมีปัญญาจ่ายเงินเพื่อซื้อบริการเหล่านี้ได้ นี่คือคอนเซ็ปต์ของเน็ตประชารัฐ ที่เป็นความพยายามของรัฐบาลที่จะทำให้คนไทยในระดับหมู่บ้าน ไม่ใช่แค่หัวเมืองใหญ่อีกต่อไป”

ทั้งยังเร่งออกแบบให้สามารถหารายได้จากบรอดแบนด์เหล่านี้ ด้วยการสร้างอีคอมเมิร์ซชุมชน ให้สามารถกระจายสินค้าและบริการออกไปสู่ชุมชน ตำบล อำเภอ จังหวัดนอกหมู่บ้าน และออกสู่โลก เพราะเป็นครั้งแรกที่คนตัวเล็ก คนด้อยโอกาสไม่สามารถเข้าถึงได้ สามารถขายสินค้าและบริการได้อย่างคล่องตัวและกระทรวงจะพยายามให้ชุมชนขายเองให้ได้มากที่สุด

โดยแผนงานหลักคือ 1 การสร้างแพลตฟอร์มสำหรับอีคอมเมิร์ซ ซึ่งไม่ยากสำหรับบริษัทใหญ่หรือแม้แต่สตาร์ตอัพ 2 อีเพย์เม้นท์ ซึ่งทุกวันนี้กระทรวงการคลังก็มีพร้อมเพย์ และยังมีแพลตฟอร์มอื่นๆ 3 อีโลจิสติกส์ ซึ่งยากสุด แต่กระทรวงมีไปรษณีย์ไทยที่จะพัฒนาตรงนี้ได้ เพื่อจะชักชวนให้ทุกคนมาร่วมกันติดตั้งแพลตฟอร์มเหล่านี้ไว้กับชุมชน อาทิ ศูนย์ดิจิทัลชุมชนที่มีอยู่ทั่วประเทศ และยังมีภาคเอกชนที่ทำงานร่วมกับกระทรวงในการช่วยพัฒนาชุมชนต่างๆ กศน. ก็มีศูนย์การเรียน กระทรวงเกษตรก็มี ถ้าเอามารวมกันก็จะเห็นศักยภาพที่จะผลักดันได้มาก

“ถ้า 75000 หมู่บ้านมี อีคอมเมิร์ซชุมชน ก็สามารถสร้างงาน จ้างงานได้อย่างน้อย 75000 คน เหมือนโครงการบัณฑิตคืนทุน แต่โครงการนี้สามารถสร้างงานสร้างรายได้ให้คนในชุมชนได้จริงๆ อาทิ เป็นผู้จัดการศูนย์ดิจิทัลชุมชน ซึ่งงานพื้นฐาน คือ การอบรมชาวบ้านในการค้าขายออนไลน์ ยุคนี้อุปกรณ์มีพร้อมช่วยทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น งานที่คนมองว่าเฉยๆ แต่สำหรับหมู่บ้านมีความหมายมาก เพราะได้เงินกลับมา บางหมู่บ้านที่ลงไปมีรายได้เพิ่มขึ้นเดือนละหมื่นต่อครัวเรือน และยังมีกลุ่มโซห่วย ที่สามารถเข้าไปพัฒนาได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่เริ่มนำผลผลิตการเกษตรนำไปขายโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง และทำให้โอกาสที่ไม่เคยมีมาก่อนเกิดขึ้นได้เพราะเน็ตประชารัฐ”

ควบคู่ไปกับการปฏิรูประบบการศึกษา ซึ่งปัญหาในไทยแก้ด้วยระบบการศึกษาอย่างเป็นทางการไม่ทันกับโลกดิจิทัลแน่นอน จึงเชื่อว่าการอบรมระยะสั้น การบ่มเพาะเป็นประเด็นๆ จึงจะได้ตามเป้า 5 แสนคนภายใน 5 ปีให้ได้ โดยคุยกับเอกชนรายใหญ่อย่าง กูเกิลกับซิสโก้ ให้ต้องจัดชุดทักษะในการเรียนรู้ ให้เอื้อต่อการหยิบไปเรียนรู้

“ณ เวลานี้ต้องดิสรัปการศึกษาอย่างด่วน และอาศัยสิทธิประโยชน์มาดึงดูดเอกชนให้ลงทุนด้านนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศด้วย เพราะในโลกดิจิทัล คนต้องตกงานเยอะขึ้น เนื่องจากนำระบบอัตโนมัติมาใช้ทดแทน ดังนั้นดิจิทัลเวิร์คฟอร์ซ ต้องเข้ามาเสริมตรงนี้ อย่างผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ทุกวันนี้นับหัวได้ ทั้งๆ ที่ต้องรีบใช้มาตั้งแต่เมื่อวาน”

ขณะที่การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้วยดิจิทัล จำเป็นต้องมีดิจิทัลพาร์คในโครงการ EEC ระเบียงเศรษบกิจภาคตะวันออก เพราะต้องการให้ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตในบางเรื่อง ไม่ใช่แค่บริโภคอย่างเดียว อาทิ อินเทอร์เน็ตออฟธิงค์ IoT อย่างอุตสาหกรรมยานยนต์เราเป็นฮับอยู่แล้ว และรถยนต์แบบเดิมกำลังจะเฟดเอ้าท์ภายใน 4 – 5 ปีนี้ แนวโน้มนี้เริ่มเห็นแล้ว เพียงแต่จะกลายเป็นแมสโปรดักสเมื่อไรเท่านั้น ซึ่งไม่ได้นานถึง 10 ปีอย่างที่คิด เมื่อไทยกำลังจะดิจิทัลทรานฟอร์ม นี่จึงเป็นโอกาสที่จะปลั๊กอินเรื่องพวกนี้เข้าไปด้วย

โดยปัจจุบัน EEC เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ บวกสิทธิประโยชน์ภาษีได้ตั้งแต่ 8 – 15 ปี ภาษีเงินได้ผู้เชี่ยวชาญได้อัตรา 17% จึงอยากเชิญชวน และยังมีโครงการสมาร์ทซิตี้ ที่จะเข้ามาผนวกเป็นเนื้อเดียวกันได้ ตอนนี้มีตัวอย่างแล้วที่ภูเก็ต สมาร์ทไลฟ์ สมาร์ททราฟฟิก ฯลฯ เป็นแห่งแรกในไทย และปีนี้ปีหน้า น่าจะเพิ่มได้อีก 6 จังหวัด และรัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงไปผลักดันสมาร์ท EEC เพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ ถ้าทำได้จริงจังหวัดอื่นๆ ก็จะเริ่มทำด้วย ประเทศไทยก็จะทรานฟอร์ม

“ที่ผ่านมาเอกชนทำน้อยไป หลายปีที่ผ่านมาเห็นชัดว่าภาครัฐเดินหน้าและลงทุนแซงหน้าเอกชนไปแล้ว จึงอยากเรียกร้องให้เอกชนลุกขึ้นมาลงทุนให้มากกว่านี้ ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องเริ่มทำ ทั้งอีก็อฟเวอร์เมนต์ ดาต้าเซ็นเตอร์ คลาวด์คอมพิวติ้ง แล้วยังมีภาระที่จะต้องฝึกอบรมบุคลากรภาครัฐ ถ้าอยากได้สิทธิประโยชน์อะไรเพิ่ม ขอให้บอกมา”

ขณะที่การผลักดันสตาร์ตอัพไทยก็ต้องจะต่อเนื่อง ซึ่งตอนนี้กระทรวงได้รับมอบหมายให้คิดเรื่องสตาร์ตอัพวีซ่าด้วย ประเด็นพวกนี้พร้อมให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งหมดต้องทำให้เสร็จภายในปีนี้ปีหน้า