โลจิสติกส์ปีเสือแข่งแรงไม่มีตก เข้มบริหารต้นทุน-ปั๊มรายได้ใหม่รอบทิศ

โลจิสติกส์

ธุรกิจโลจิสติกส์แข่งแรงข้ามปีรายใหญ่เฟ้นธุรกิจใหม่ปั๊มรายได้เพิ่ม “ปณท” เพิ่มพื้นที่บริการส่งเย็น “ฟิวซ์โพสต์” บุกต่างจังหวัดพร้อมงัดจุดแข็งบุรุษไปรษณีย์ผนึก “BAM” ต่อยอดธุรกิจ “แฟลช เอ็กซ์เพรส” เชื่ออีคอมเมิร์ซดันตลาดโตต่อ แนะดึงเทคโนโลยีอัพสปีดธุรกิจ-บริหารต้นทุน “เคอรี่” เร่งเพิ่มจุดบริการทั่วประเทศ “เบสท์” โฟกัส “สินค้าชิ้นใหญ่-ขนส่งระหว่างประเทศ”

ผลจากการระบาดโควิด-19 ทำให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซขยายตัวอย่างรวดเร็ว และเป็นแรงส่งสำคัญที่ผลักดันให้ธุรกิจโลจิสติกส์เติบโตก้าวกระโดด ซึ่งการแข่งขันในปีที่ผ่านมานอกจากจะมุ่งไปยังด้านราคาเป็นหลัก โดยบางรายดัมพ์ค่าขนส่งลงไปต่ำมาก ๆ เช่น เริ่มต้นที่ 9 บาท แต่ขณะเดียวกันก็เริ่มขยับขยายการลงทุนไปยังบริการใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ลดดีกรีสงครามตัดราคา

แหล่งข่าวในธุรกิจโลจิสติกส์กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการโลจิสติกส์เผชิญความท้าทายจาก 2 ด้านด้วยกัน คือ

1.จากการแข่งขันด้านราคาที่สูงมากต่อเนื่องมาตั้งปลายปี 2563 จนถึงปลายปี 2564 ส่งผลให้บางรายตัดสินใจยุติการดำเนินธุรกิจในไทย เช่น ผู้ให้บริการส่งพัสดุด่วนสำหรับอีคอมเมิร์ซ, ธุรกิจออนไลน์ และค้าปลีก ภายใต้แบรนด์ “อัลฟ่า” ขณะที่บางรายยอมคิดราคาต่ำกว่าต้นทุน เริ่มต้นที่ 9 บาท และ

2.แพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลซรายใหญ่ ๆ เริ่มหันมาให้บริการขนส่งเอง

“ทั้งการแข่งขันราคาในตลาดด้วยกันเองของผู้เล่นแต่ละราย และการเข้ามากินส่วนแบ่งตลาดของอีมาร์เก็ตเพลซเป็น 2 ความท้าทายสำคัญของผู้เล่นทุกรายทำให้แต่ละรายเริ่มปรับกลยุทธ์ต่อยอดขยายบริการใหม่ ๆ เพื่อขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ ลดการพึ่งพาแพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลซ และเพิ่มรายได้จากธุรกิจใหม่ คาดว่าปีนี้การแข่งขันด้านราคาจะลดลง เนื่องจากแต่ละรายเบิร์นเงินมาแล้วระดับหนึ่ง สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้คือหันมาแข่งกันพัฒนาบริการด้านอื่น ๆ เช่น ส่งเร็ว และรับประกันการส่ง”

ปณท ลุยขยายบริการขนส่งเย็น

นายดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หรือ ปณท กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การแข่งขันในธุรกิจขนส่งทุกวันนี้ไม่ต่างไปจากอีคอมเมิร์ซที่มีการใส่เงินอัดโปรโมชั่นสร้างฐานลูกค้า ซึ่งถ้ากำลังซื้อลดลง แต่ยังดัมพ์ราคามาก

ท้ายสุดต้องมาดูกันว่า เกมนี้ใครจะทนได้นานกว่ากัน สำหรับ ปณท เล่นเกมยาวจึงไม่ลงไปแข่งเรื่องราคา โดยทิศทางธุรกิจในปี 2565 จะมุ่งขยายธุรกิจ เพื่อสร้างรายได้ในทุกมิติ เริ่มจากบริการส่งเย็น “ฟิวซ์โพสต์ (FUZE POST)” ซึ่งเป็นความร่วมมือกับ บมจ.เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟ โลจิสติกส์ และแฟลช เอ็กซ์เพรส โดยภายในเดือน ม.ค.จะเปิดให้บริการจุดรับฝาก และขยายเส้นทางขนส่งระหว่างภูมิภาค

“เราตั้งเป้าเจาะกลุ่มธุรกิจอาหารสด อาหารแช่แข็ง ผู้ประกอบการสินค้าการเกษตร ผัก และผลไม้ รวมถึงผู้ผลิตวัตถุดิบการทำอาหาร และผู้ประกอบการอาหารแปรรูป และแพปลาที่จัดส่งไปยังร้านอาหาร หลังจากให้บริการเฉพาะในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และ 6 เส้นทางภูมิภาค ได้แก่ หนองคาย เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต ตราด และบางละมุง ตั้งแต่ ก.ย.ปีที่แล้ว เรามองว่าตลาดขนส่งเย็นในไทยมีโอกาสเติบโต ปีละ 8-10% จากมูลค่าตลาดปัจจุบันที่ราว 3 หมื่นล้านบาท เชื่อว่าด้วยจุดแข็งที่แต่ละรายมีจะทำให้ฟิวซ์โพสต์ก้าวขึ้นเป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิที่แข็งแกร่งในไทย”

เล็งจับมือ BAM ต่อยอดบริการ

นอกจากนี้ ปณท ยังคงเดินหน้าปรับบริการไปรษณีย์ดั้งเดิมไปสู่บริการ “Super Service Centre” ซึ่งเป็นการขยายผลการใช้ประโยชน์จากระบบการจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร หรือ total document handling (TDH) ให้สร้างรายได้ที่หลากหลายขึ้น ช่วยชะลอการลดลงของบริการไปรษณียภัณฑ์ธรรมดาให้ช้าลงได้ รวมถึงอำนวยความสะดวกแบบครบวงจร

โดยนำเทคโนโลยีมาตอบสนองความต้องการของลูกค้าต่อด้วยการขยายจุดให้บริการรับฝาก (First Mile) และบริการรับฝากนอกที่ทำการ (Pick up Service) เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงลูกค้าและตอบสนองความต้องการของลูกค้า

นายดนันท์กล่าวต่อว่า ปณท ได้เพิ่มประสิทธิภาพการนำจ่าย ด้วยการปรับระบบปฏิบัติการให้บริการนำจ่ายได้ทุกวัน ในที่ทำการทุกระดับ ตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มศักยภาพในการนำจ่ายให้แข่งขันกับคู่แข่งได้ และลดปัญหาของตกค้างล่าช้าในวันหยุดยาว ตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มอีมาร์เก็ตเพลซ

และกำลังจะมีความร่วมมือกับ บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) โดยใช้จุดแข็งของเครือข่ายเจ้าหน้าที่นำจ่ายที่เข้าถึงได้ในทุกพื้นที่ เพื่อสนับสนุนงานของ BAM ให้มีประสิทธิภาพ ลดข้อจำกัดทางธุรกิจ เช่น การดูแล และบริการสินทรัพย์ของ บสก. การเชื่อมต่อระบบด้านเอกสาร และการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่การประเมินทรัพย์ คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือน ม.ค.นี้

อัพสปีดธุรกิจ-คุมต้นทุน

ด้านนายคมสันต์ ลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจโลจิสติกส์ปีนี้ยังเติบโตต่อเนื่องจากการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ยังคงอยู่ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ยังคงเฝ้าระวังตัวแปรนี้ เช่นกันกับบริษัทเองที่ต้องปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์

อีกปัจจัยต้องระมัดระวัง คือ การบริหารจัดการต้นทุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับทรัพยากรที่มี เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าไปได้ไม่สะดุด โดยในปีนี้จะเริ่มเห็นผู้ประกอบการหลายรายนำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพในตลาดโลจิสติกส์มากขึ้น รวมถึงการมองหาพลังงานทางเลือก เช่น รถไฟฟ้าเข้ามาใช้ในธุรกิจขนส่ง เพื่อลดต้นทุนด้านเชื้อเพลิง และนำไปสู่ green logistics มากขึ้น

“โควิด-19 เป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้ตลาดอีคอมเมิร์ซ และธุรกิจขนส่งยังโตต่อเนื่อง รวมถึงตลาด fulfillment เนื่องจากเมื่อออนไลน์มียอดขายเพิ่มขึ้น การให้บริการในส่วนคลังสินค้าครบวงจรอย่าง fulfillment เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญของธุรกิจ”

เคอรี่-เบสท์ ปรับรอบทิศ

ก่อนหน้านี้ นายวราวุธ นาถประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานปฏิบัติการ บมจ.เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) กล่าวว่า บริษัทไม่มีนโยบายทำราคาต่ำกว่าต้นทุน แต่พร้อมลดราคาต่อเนื่องเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้มากที่สุด โดยที่ผ่านมามีการจัดโปรโมชั่นเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกันตามพื้นที่

และในไตรมาส 4/2564 ได้เปิดตัว “เคอรี่ วอลเล็ต” และบริการขนส่งเย็น โดยร่วมกับเครือเบทาโกร ตั้งบริษัทร่วมทุน “เคอรี่เบทาโกร” ให้บริการขนส่งเย็นครบวงจร ภายใต้ชื่อ “KERRY COOL” และในปีนี้จะขยายศูนย์กระจายสินค้า 55 แห่ง และจุดบริการให้ครบ 1,000 จุดทั่วประเทศ และคาดว่าในไตรมาส 2 ปีนี้จะขยายฐานลูกค้าในกลุ่มซีทูซี หรือพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ได้ และขยายบริการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ (มากกว่า 30 กิโลกรัมขึ้นไป) เป็นต้น

“แม้จะมีธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้น แต่ธุรกิจหลักยังเป็นบริการจัดส่งพัสดุ บริการใหม่เป็นส่วนเสริม เพื่อสร้างดีมานด์ และเข้าสู่ตลาดที่การแข่งขันไม่สูง”

นายเจสัน เชียน ผู้จัดการทั่วไปภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประธานกรรมการ บริษัท เบสท์ โลจิสติกส์เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การแข่งขันด้านราคาในธุรกิจโลจิสติกส์มีแนวโน้มลดลง เพราะแข่งมาถึงจุดที่ไปต่อยากจึงน่าจะเริ่มหันกลับมาแข่งกันเรื่องคุณภาพ ทั้งการส่งเร็ว และบริการที่ดีขึ้น

ซึ่งปีนี้บริษัทจะให้น้ำหนักกับธุรกิจใหม่ คือ บริการขนส่งสินค้าชิ้นใหญ่ที่มีน้ำหนัก 21-100 กิโลกรัมมากขึ้น เพื่อสร้างความแตกต่าง รวมถึงการขยายบริการขนส่งระหว่างประเทศ (cross-border) ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา เวียดนาม เป็นต้น

“การขยายธุรกิจใหม่จะเป็นการต่อยอดจากจุดแข็งหลัก คือ บริการขนส่งในประเทศ ปัจจุบันให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศไทย จากเครือข่ายแฟรนไชส์ 250 ราย 1,100 สาขา ครอบคลุม 77 จังหวัด และคาดว่าปี 2565 จะเพิ่มเป็น 2,000 สาขาทั่วประเทศ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “เจแอนด์ที” หนึ่งในผู้ให้บริการโลจิสติกส์ จับมือกับบริษัท แบงคอก เมโทร เน็ทเวิร์คส์ จำกัด หรือ BMN ขยายจุดบริการบนรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน 32 สถานี รวมถึงขยายบริการส่งพัสดุไปต่างประเทศเพิ่มเติมปัจจุบันมากกว่า 10 ประเทศแล้ว ล่าสุดขยายไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย