สามารถเทลคอม คว้าโปรเจ็คมิเตอร์อัจฉริยะของ กฟภ.

จง ดิลกสมบัติ
จง ดิลกสมบัติ

“สามารถ เทลคอม” เร่งเกมปั๊มรายได้ ชูบริการ “Digital Solution Outsource” เจาะงาน “อี-เซอร์วิส”ภาครัฐ ล่าสุดคว้าโปรเจ็ค AMI มูลค่ากว่า 2,350 ล้านบาท มั่นใจเป้ารายได้ 7,000 ล้านบาทภายในปี’ 65 ไม่เกินจริง

วันที่ 8 มีนาคม 2565  รายงานข่าวจากบริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทได้รับหนังสือสั่งจ้างงานโครงการติดตั้งระบบมิเตอร์อัจฉริยะ (AMI) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ที่บมจ.สามารถเทลคอม ร่วมกับบจ.สามารถคอมมิวนิเคชั่น เซอร์วิส ร่วมประมูลในนาม STS Consortium มูลค่ากว่า 2,350 ล้านบาท

นายจง ดิลกสมบัติ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าจากวิถีปกติใหม่ ทั้งเรียน และทำงานออนไลน์ รวมถึงสังคมไร้เงินสดจากเทคโนโลยี และพฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว โดยมีปัจจัยบวกมาจากสถานการณ์ไวรัส COVID-19 ผลักดันให้ภาครัฐปรับตัว และให้ความสำคัญกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อพัฒนาการให้บริการสาธารณะผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Government e-Service) เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนยุคดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งบริษัทมีความชำนาญ และพร้อมนำเสนอเทคโนโลยีดิจิทัลครบวงจรในการให้บริการกับภาครัฐ ด้วยกลยุทธ์ Digital Solution Outsource Service เพื่อเสริมศักยภาพการบริการสาธารณะของภาครัฐในรูปแบบดิจิทัล (e-Service) กับเป้าหมายรายได้ในสิ้นปีที่ 7,000 ล้านบาท

โดยบริษัทจะมุ่งไปยัง 3 กลุ่มหลัก คือ 1.Government Service Outsource เน้นให้บริการธุรกรรมต่างสาขา ได้แก่ การซื้อ-ขาย โอนทรัพย์สิน และการบูรณาการข้อมูลภาครัฐเพื่อการเข้าถึงของประชาชน เช่น การตรวจสอบสิทธิ สถานะบริการ เป็นต้น คาดว่ามีมูลค่าโครงการ 5,000-6,000 ล้านบาท

2.Utility Sector ได้แก่ การให้บริการ Advance Utility Infrastructure ยกระดับบริหารจัดการองค์กร, บริการระบบบริหารจัดการทรัพยากร (ERP) รวมถึงบริการดูแลรักษาระบบต่างๆ และบริการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็นต้น คาดว่ามีมูลค่าโครงการ 6,500 ล้านบาท

Advertisment

ส่วนกลุ่มที่ 3.Banking Sector บริการด้าน Digital Banking และSmart Branch Services เป็นต้น คาดว่ามีมูลค่าโครงการที่ 750 ล้านบาท รวมทั้ง 3 กลุ่ม จะมีมูลค่าโครงการกว่า 13,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน บริษัทได้เตรียมโซลูชันที่ตอบโจทย์การยกระดับการให้บริการของภาครัฐไปสู่ดิจิทัล แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. Data Integrity & Infrastructure โซลูชันเพื่อการจัดการข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐานที่มั่นคงปลอดภัย เช่น Network & Cyber Security, Data Governance & Protection 2. Competitiveness Enhancement โซลูชันเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน เช่น Big Data, AI Analytics และ 3. e-Filling Services โซลูชันเพื่อส่งมอบบริการครบวงจรถึงมือประชาชน รวมถึงการยืนยันตัวตน และความถูกต้องของข้อมูลดิจิทัล (Digital Verification) และสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) เป็นต้น

โดยที่ผ่านมาบริษัทได้ให้บริการในลักษณะนี้กับภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจมาแล้วหลายโครงการ เช่น บริการบำรุงรักษาอุปกรณ์ และดูแลรักษาระบบอ่านมิเตอร์ไฟฟ้าอัตโนมัติ ให้องค์กรด้านสาธารณูปโภค, บริการด้านระบบบริหารจัดการทรัพยากร( ERP) ให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และบริการเฝ้าระวังการโจมตีทางไซเบอร์ (SOC Service) ให้หน่วยงานรัฐ และสถาบันการเงิน เป็นต้น