“กลุ่มสามารถ” ปักธงรายได้ปี’65 แตะ 1.4 หมื่นล้าน รับเปิดประเทศ

กลุ่มสามารถโชว์เป้ารายได้ทั้งปี 1.4 หมื่นล้าน รับเปิดประเทศ มั่นใจทุกสายธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตกว่าปีที่แล้ว ดัน “สามารถเทลคอม” คว้างานโครงการใหม่กว่าหมื่นล้านหลังไตรมาสแรกเซ็นสัญญาไปได้แล้วกว่า 3,000 ล้านบาท

วันที่ 1 มิถุนายน 2565 นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกลยุทธ์องค์กร และพัฒนาธุรกิจใหม่ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่าผลการดำเนินงานของกลุ่มสามารถในช่วงไตรมาสแรก/2565 เป็นไปตามคาด โดยมีผลงานการติดตั้งและส่งมอบโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้าประเภทสุราแช่ชนิดเบียร์ ที่ผลิต และจำหน่ายในประเทศ มูลค่าโครงการรวม 8,000 ล้านบาท เรียบร้อยแล้ว

และเริ่มให้บริการพิมพ์รหัสควบคุมบนบรรจุภัณฑ์ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. เป็นต้นมา ทำให้บริษัททยอยรับรู้รายได้ คาดว่าในปีนี้จะมีรายได้ราว 600 ล้านบาท ขณะที่สายธุรกิจ U-Trans โดยเฉพาะ CATS ส่งสัญญาณบวกชัดเจน จากจำนวนเที่ยวบินไตรมาสแรกที่เพิ่มขึ้นถึง 38% เทียบไตรมาสเดียวกันปีก่อน ส่วนสายธุรกิจ ICT ก็มีแนวโน้มเติบโต โดยปีนี้ตั้งเป้าชนะโครงการรวม 11,000 ล้านบาท โดยในไตรมาสแรก เซ็นสัญญาใหม่ไปแล้วกว่า 3,000 ล้านบาท ส่งผลให้มี Backlog ณ สิ้นไตรมาสแรกถึง 8,000 ล้านบาท

กลุ่มสามารถ

โดยบริษัทมุ่งนำเสนอ 4 โซลูชั่นมาแรง 1. Financial and Banking Solution ที่จะมีการขยายสาขา Smart Branch Outsourcing เฟสต่อไป 2. Solutions for Utility Sector ที่จะมีการจัดหา e-Meter สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยทั่วประเทศ และการขยายฐานลูกค้า ERP ไปยังกลุ่ม Utility Sector อื่นๆ 3. E- Payment Solution ที่จะนำเสนอแพลตฟอร์มที่เชื่อมทุกกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Walle)t รองรับทุกแพลตฟอร์มชำระเงินได้ทุกร้านค้า และ 4. Cyber-Security Solution ที่จะยายฐานลูกค้าเข้าสู่กลุ่ม Utility กลุ่มธนาคารและอื่นๆ

Advertisment

สำหรับสายธุรกิจ Samart Digital (SDC) ได้กระจายความเสี่ยงและสร้างสมดุลย์ให้กับพอร์ตธุรกิจด้วย 2 สายธุรกิจ คือ Digital Trunk Radio System (DTRS) ที่สร้างรายได้ประจำจากค่าใช้บริการรายเดือนและค่าเช่าเครื่องลูกข่าย ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการจาก 2 หน่วยงาน คือกระทรวงมหาดไทย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำนวน 85,000 เครื่อง และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 115,000 เครื่องในสิ้นปีนี้

ส่วนธุรกิจ Digital Content & Service จะเน้นสร้างรายได้เติบโตตาม Digital Trend & Lifestyle ของคนยุคใหม่ ผ่าน Content และบริการสายมู (เกี่ยวกับความเชื่อ), กีฬา และ Lifestyle ผ่านแอปพลิเคชั่น เช่น แอป Horoworld โดยบริษัทได้จัดตั้งบริษัท LUCKY Heng Heng ขึ้น ที่ใช้รูปแบบการระดมทุนและการบริหารงานแบบสตาร์ตอัพเพื่อให้เกิดความคล่องตัว และรองรับการทำงานของคนรุ่นใหม่

ภายใต้บริษัทนี้จะดูแลธุรกิจสายมู คือ Horoworld Mobile Application ซึ่งเป็น One stop Service ด้านโหราศาสตร์และความเชื่อ มีบริการดูดวงสดออนไลน์ ดูโหงวเฮ้ง ฮวงจุ้ย และฤกษ์มงคลต่างๆ และเร็วๆนี้ จะเปิดตัวอีก

แอปพลิเคชั่น “Thai merit”ช่วยให้สายบุญไหว้พระ บริจาคเงิน แก้บน เสี่ยงเซียมซี ตลอดจนการบูชาวัตถุมงคล ได้กับทุกวัด ทุกสถานที่ศักด์สิทธิ์ ผ่านช่องทางออนไลน์

Advertisment

นายวัฒน์ชัยทิ้งท้ายด้วยว่า นอกจากความพยายามในการฟื้นฟูธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และสถานการณ์โรคระบาดแล้ว บริษัทได้ศึกษาและมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ อยู่เสมอเพื่อสร้างรากฐานที่มั่นคงและการเติบโตอย่างยั่งยืน และได้หาแนวทางในการลดภาระค่าใช้จ่ายทางการเงิน และเพิ่มความคล่องตัวในการลงทุน เช่น ปีที่ผ่านมา ได้ออกหุ้นกู้ และกำลังศึกษาแนวทางจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน Infrastructure Fund เพื่อระดมทุนมาใช้ในโครงการ DTRS ด้วย