“ยงสงวน” อุบลเจอวิกฤต 3 เด้ง โควิด-เงินเฟ้อ-น้ำท่วมชี้ Q4 ติดลบหนัก

ยงสงวน

ค้าปลีก-ค้าส่งอีสาน “ยงสงวนฯ” อุบลราชธานีอ่วม เจอวิกฤต 3 เด้ง ตั้งแต่โควิด-เงินเฟ้อใน สปป.ลาว-อุทกภัย ชี้น้ำท่วมปีนี้กระทบหนักสุดในรอบ 19 ปี ปริมาณน้ำมาเร็วและแรง ท่วมสูงกว่าปีที่ผ่านมา จมบาดาลนานกว่าปี 2562 คาดไตรมาส 4 ติดลบหนัก ต้องปิดกิจการชั่วคราวรอสถานการณ์คลี่คลาย

นายประกอบ ไชยสงคราม ประธานกรรมการ บริษัท ยงสงวนกรุ๊ป จำกัด จ.อุบลราชธานี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2565 การดำเนินธุรกิจของบริษัท ยงสงวนฯค่อนข้างมีอุปสรรค ตั้งแต่ครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ช่วงไตรมาส 1 และไตรมาส 2 รายได้ติดลบอยู่ประมาณ 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เมื่อเข้าสู่ไตรมาส 3 ยังติดลบเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นตัวเลขสองหลัก

จนก้าวเข้าสู่ไตรมาส 4 ยิ่งติดลบหนักกว่าเดิมเนื่องจากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมหนักในพื้นที่อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นที่ตั้งของร้าน ดังนั้น ทางบริษัท ยงสงวนฯต้องหารือกับซัพพลายเออร์ที่ส่งสินค้าให้ถึงผลกระทบต่อยอดขายในเดือนตุลาคม 2565 ที่ไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่ตกลงกันไว้ แต่คาดว่าในเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม 2565 สถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และสามารถทำยอดขายได้ตามที่คาดการณ์ไว้

ช่วงเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 อาจจะส่งผลกระทบแต่ยงสงวนฯยังขายของได้ ลูกค้าทั้งคนไทยและจากฝั่ง สปป.ลาวก็สามารถสั่งซื้อสินค้าได้เป็นปกติ เมื่อสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายกลับมาเจอสภาวะเงินเฟ้อภายใน สปป.ลาว ส่งผลกระทบให้ลูกค้าคนลาวแทบไม่มีเงินมาซื้อสินค้า กระทั่งเริ่มประคองตัวได้ก็ประสบภัยน้ำท่วมอีก ยงสงวนฯจึงเจอวิกฤตอย่างต่อเนื่อง

โดยสถานการณ์น้ำท่วมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทำให้การสัญจรไป-มาไม่ได้ น้ำท่วมสูงอย่างต่อเนื่องทำให้ต้องปิดร้านชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2565 เป็นต้นมา เพราะไม่สามารถขายของให้ลูกค้าได้ รถของลูกค้าก็ไม่สามารถวิ่งเข้ามารับสินค้าได้เช่นกัน

“ตอนนี้ระดับน้ำมากกว่าปี 2562 ที่จังหวัดอุบลราชธานีเคยเกิดน้ำท่วมใหญ่ และคนส่วนมากยังจำภาพได้ดี แม้เทียบกับช่วงปี 2521 ที่เคยเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุดของจังหวัดไม่ได้ แต่ก็เรียกว่าสถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้หนักหนาสาหัส

พายุทำให้ฝนตกทั่วภาคอีสาน มีมวลน้ำไหลมารวมกันอยู่ที่อุบลราชธานีเป็นจำนวนมากและยังมีมาอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้ปริมาณน้ำจากถนนถึงพื้นที่ยงสงวนฯสูงประมาณ 140 เซนติเมตรถึงระดับหน้าอกแล้ว คาดว่าในวันที่ 8 ตุลาคม 2565 น้ำจะไหลมารวมสูงสุดขึ้นอีกกว่า 50 เซนติเมตร”

2 เดือนที่ผ่านมาฝนตกเกือบทุกวัน สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการค้าเลยแม้แต่วันเดียว ก่อนหน้านี้ยงสงวนฯเตรียมแผนรับมือน้ำท่วมปี 2565 ล่วงหน้าแล้ว ทั้งเร่งกระจายสินค้าและเตรียมจัดโปรโมชั่นเพื่อระบายสินค้าให้ได้มากที่สุด ตามแผนคือวันที่ 4-6 ตุลาคม 2565

แต่น้ำมาก่อนการคาดการณ์ทั้งเร็วและแรงเพียงข้ามวัน เฉลี่ยตอนนี้เพิ่มขึ้นประมาณ 20 เซนติเมตรต่อวัน สต๊อกสินค้าที่เตรียมไว้ทั้งหมด 100% ขายไม่ทันเหตุการณ์และระบายออกได้ไม่ถึง 10% ต้องปิดร้านย้ายสินค้าไปยังโกดังที่น้ำท่วมไม่ถึง แล้วหันมาเร่งสร้างคันกั้นน้ำเข้าพื้นที่แทน สุดท้ายก็ส่งสินค้าไปให้ร้านสาขาได้ไม่ครบ และสิ่งที่แย่ที่สุดคือหากสินค้าเสียหายมูลค่าความเสียหายจะเพิ่มมากขึ้น

“ผมใช้คำว่าน้ำท่วมปีนี้เจ็บกว่าทุกครั้งในรอบ 19 ปี ผมส่งของไม่ได้เลย ลูกค้าก็มาหาไม่ได้ ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีตอนนี้ผู้คนเดือดร้อนมากไม่ใช่แค่ผม พื้นที่เราหนักหนาสาหัส เพราะเป็นแหล่งรองรับน้ำจากจังหวัดอื่นในภาคอีสาน

ขณะที่จังหวัดอื่นเป็นเพียงทางผ่านน้ำ อยากให้หน่วยงานราชการเร่งเยียวยาให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะบ้านที่ถูกน้ำท่วม เพราะไม่ใช่แค่รับผลกระทบชั่วคราว ยังต้องหาเงินมาซ่อมแซมบ้านอีก คนยิ่งเป็นหนี้เป็นสิน ก็ยิ่งไม่มีอยู่ ไม่มีกิน”

นายประกอบกล่าวต่อไปว่า ปีนี้การผันน้ำจากแม่น้ำมูลไปลงแม่น้ำโขงช้ามากเกินไป ภาครัฐควรจัดระบบการระบายน้ำการผันน้ำให้เร็วกว่านี้ เพื่อให้ผู้คนเดือดร้อนน้อยที่สุด แต่ประเด็นสำคัญตอนนี้คือ ไม่มีใครรู้เลยว่าน้ำจะขึ้นสูงสุดวันที่เท่าไหร่กว่าจะนิ่ง และเมื่อน้ำนิ่งแล้วจะลดลงเมื่อไหร่ จากการประเมินด้วยสายตาเบื้องต้นคิดว่าน้ำจะท่วมนานเกินกว่า 10 วัน เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562

อนึ่ง ในปี 2564 บริษัท ยงสงวนกรุ๊ป จำกัด ประสบกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ยอดขายไตรมาสแรกของปี 2564 เติบโตอยู่ที่ประมาณ 20% มาถึงเดือนเมษายน 2564 ช่วงสัปดาห์สุดท้าย ถือว่าสถานการณ์แย่ที่สุด เพราะเริ่มมีการแพร่ระบาดของผู้ติดเชื้อโควิด-19 รอบ 3 ทำให้ยอดขายตกลงมากว่า 50% และค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564

ลูกค้าสามารถสั่งออร์เดอร์ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะลูกค้ารายใหญ่และลูกค้าประจำ ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก สรุปในปี 2564 ผลประกอบการของยงสงวนกรุ๊ปจึงมีอัตราการเติบโตตลอดทั้ง 4 ไตรมาสเฉลี่ย 12.48% รวมมูลค่ากว่า 2,600 ล้านบาท โดยได้รับอานิสงส์จากโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอย่างท่วมท้น

แต่ในปี 2565 โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเริ่มหมดไป พร้อมสินค้าทุกชนิดปรับราคาขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไม่มีท่าทีว่าจะคงที่ ทำให้ลูกค้าชะลอการซื้อสินค้าหรือซื้อในปริมาณที่น้อยลง กระทั่งสถานการณ์น้ำท่วมปัจจุบันที่ส่งผลต่อสภาพคล่องการขายสินค้าเป็นอย่างมาก

ปัจจุบันบริษัท ยงสงวนกรุ๊ป จำกัด มีสาขาทั้งหมดคือ 1.Wholesale (Cash & Carry) : ยงสงวนฯศูนย์ค้าส่ง 2.Super Saveland (Mini Supermarket) : สาขาอุบลวิทย์ สาขาโนนหงษ์ทอง สาขาแจ้งสนิท สาขาห้วยวังนอง สาขาอุบลเดช สาขา ม.อุบลฯ สาขาอุบลสแควร์ สาขาบ้านบัววัด และสาขาอุบล-ตระการ

3.Saveland (Minimart) : สาขาเทพโยธี สาขาตลาดบ้านดู่ สาขาตลาด 5 สาขาพรหมเทพ สาขาสามัคคี สาขาวาริน-กันทรลักษ์ สาขาตลาดวาริน สาขาดอนกลาง สาขาแจ้งสนิท 2 และสาขาบ้านนาควาย 4.Saveland นักเดินทาง (ร้านสะดวกซื้อ) : สาขาปั๊ม Shell ศรีสะเกษ และสาขาอุบล-วาริน

ส่วนบริษัทในเครือได้แก่ 1.บริษัท ยงสงวนกรุ๊ป 2.บริษัท สยามเซฟแลนด์ 3.ปังม่า พานิชย์ 4.88.5 Cake Radio และ 5.Cockpit ยงสงวนฯ