“นิพนธ์ คนขยัน” ก้าวใหม่พัฒนา “บึงกาฬ”

สัมภาษณ์

ตั้งแต่ 23 มีนาคม 2554 อำเภอบึงกาฬ จ.หนองคายแต่เดิมได้ยกสถานะขึ้นเป็นจังหวัดบึงกาฬ จังหวัดที่จัดตั้งขึ้นใหม่ในกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีพื้นที่ 4,305 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,690,625 ไร่ เป็นจังหวัดชายแดนที่มีอาณาเขตติดต่อกับแขวงบอลิคำไซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)

ในระยะเวลาเกือบ 7 ปี “บึงกาฬ” มีผู้ว่าราชการจังหวัดผลัดเปลี่ยนมาทำหน้าที่ถึง 6 คน แต่ที่ยังไม่เปลี่ยน และยังเป็นคนเดิมทำหน้าที่พัฒนาจังหวัดอย่างต่อเนื่อง คือ “นิพนธ์ คนขยัน” นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ (อบจ.) และยังเป็นโต้โผใหญ่ของชาวสวนยางบึงกาฬ ในการผลักดันให้เกิดโรงงานแปรรูปยางของชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางฯ เพื่อผลิต “หมอนยางพารา” เป็นรายได้เพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกรที่ปลูกยางพารา

นิพนธ์เล่าถึงภาพรวมของจังหวัดบึงกาฬในห้วง 6-7 ปีที่ผ่านมา ว่าตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบึงกาฬเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เพราะปลูกยางพารามากเป็นอันดับ 1 ของภาคอีสานและเป็นแหล่งปลูกยางพาราที่ใหญ่ที่สุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นจังหวัดที่มีการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน และรวมไว้ด้วยแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม และน่าสนใจมากมาย สิ่งที่กำลังพัฒนาไปด้วยดีในบึงกาฬ นอกจากยางพาราแล้ว ยังเป็นเรื่องของการพัฒนาเมือง โดยเฉพาะด้านขนส่งและจราจร

สำหรับแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของจังหวัดบึงกาฬ เท่าที่ทราบ สนข.อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำแผนแม่บท โดยตนเองได้รับแผนพัฒนาบึงกาฬให้เป็นสังคมแห่งความสุข และให้เศรษฐกิจของบึงกาฬเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ในฐานะที่เป็นนายก อบจ. มองว่าถึงแม้บึงกาฬจะเป็นเมืองใหม่อายุ 6-7 ปี แต่ต้องยอมรับว่ามีการปรับปรุงพัฒนาที่เร็วมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าสะพานข้ามโขงแห่งที่ 5 สร้างเสร็จ จะยิ่งไปไกลกว่านี้ บึงกาฬจะกลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภาคอีสาน เพราะได้เปรียบเรื่องการขนส่ง สามารถเดินทางไปจีน เวียดนาม ได้เร็วกว่าเส้นทางอื่น โดยเฉพาะการขนถ่ายสินค้าจากบึงกาฬไปท่าเรือน้ำลึก เมืองวิน ประเทศเวียดนาม ระยะทางเพียง 240 กม.ถือว่าใกล้มากและเป็นเส้นทางที่ดี

“ถ้ามีสนามบิน เมืองยิ่งจะเปลี่ยนไปทันที รายได้จะเข้ามาอีกมหาศาลแบบก้าวกระโดด บึงกาฬมีที่ดินสาธารณะอยู่ 3,700 ไร่ เราพร้อมจะทำเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือพื้นที่ในการสร้างสนามบิน เราก็พร้อมจะทำได้ทันที ส่วนการก่อสร้างถนน จากหนองคายมาบึงกาฬ เป็นถนน 4 เลน เวลานี้ก่อสร้างเกือบเสร็จแล้ว จะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2561 จากนั้นปี 2562 จะเริ่มโครงการเส้นทางศรีวิไล-บึงกาฬ-พังโคน จ.สกลนคร”

นิพนธ์กล่าวถึงสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของจังหวัดบึงกาฬในปีที่ผ่านมาว่า กำลังซื้อของประชาชนลดลงบ้าง เพราะราคาสินค้าเกษตรตก โดยเฉพาะยางพารา จากตัวเลขของจังหวัดพบว่า การก่อสร้างในเขตเทศบาล ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารพาณิชย์และที่อยู่อาศัยหดตัว ขณะที่การก่อสร้างเพื่อการบริการยังขยายตัวดี ส่วนนอกเขตเทศบาลการก่อสร้างยังขยายตัว ยังมีการลงทุนของกิจการขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง มีการตั้งโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตร และพลังงานทดแทน เป็นต้น

” 3-4 ปีที่ผ่านมา เราได้พัฒนาบึงกาฬ จนวันนี้ได้ต่อยอดสามารถรวมตัวพี่น้องเกษตรกรมาสร้างโรงงานแปรรูปหมอนยางพาราจนประสบความสำเร็จ รัฐบาลเห็นความสำคัญจึงได้ให้งบประมาณมาอีก 193 ล้านบาทซึ่งเป็นงบฯ ใหม่ที่ให้เพิ่มมา เพื่อมาสร้างโรงงานน้ำยางข้น โรงงานที่นอนยางพารา ขณะนี้กำลังก่อสร้างโรงงานอยู่ คาดว่าอีก 6 เดือนข้างหน้าจะสร้างโรงงานเสร็จ จากนั้นเราจะรับซื้อน้ำยางสดมาทำน้ำยางข้น แล้วมาแปรรูปเป็นหมอน ที่นอน หรือแผ่นยางที่นำไปทำสนามเด็กเล่นยางพารา เพิ่มมูลค่าให้กับยางและคาดว่าภายในสิ้นเดือนมกราคมนี้ “

กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยจะทำหนังสือสั่งการยืนยันคำสั่ง คสช. ที่เห็นชอบในหลักการให้ใช้อำนาจตาม ม.44 ให้หน่วยงานภาครัฐจัดซื้อยาง 2 แสนตันไปทำถนนได้ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ อบจ.แต่ละจังหวัดสามารถจัดสรรงบประมาณที่มีอยู่มาใช้ก่อสร้างถนนยางพาราได้ โดย อบจ.บึงกาฬ จัดสรรงบประมาณ 30 ล้านบาทเพื่อก่อสร้างถนนยางพารารอบจังหวัด เป็นการสนองนโยบายรัฐบาลเช่นเดียวกับ อบจ.ทั่วประเทศ

นอกจากนี้ นิพนธ์บอกว่าที่บึงกาฬยังมีบริษัทจากประเทศจีนเข้ามาติดต่อกับชาวบ้าน และแสดงเจตจำนงในการลงทุน เนื่องจากจีนมีเทคโนโลยีที่เก่งมาก รวมถึงผลการวิจัยที่ดี ๆ จำนวนมาก ที่ได้ยินจากผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการยางของจีน นายหยวน จงเสว่ ว่าถ้าจีนทำการวิจัยเสร็จ จะมาตั้งโรงงานตัวใหม่รับซื้อน้ำยางสดและแปรรูปทำผลิตภัณฑ์ยางในพื้นที่บึงกาฬเลย เพื่อช่วยเกษตรกร 6 หมื่นครอบครัวในบึงกาฬ โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

“ปี 2562 บึงกาฬโมเดลจะคืบหน้าไปมาก ซึ่งผมได้เสนอของบประมาณอีก 200 ล้านบาท เพื่อมาต่อยอดเรื่องยางแผ่นรมควัน เมื่อรัฐบาลต้องการแก้ปัญหาปากท้องประชาชน รัฐบาลก็ต้องให้เงินทุนเป็นพี่เลี้ยงให้ชาวบ้าน”

ต้องรอดูกันต่อว่า นายก อบจ.บึงกาฬ คนนี้ จะสร้างฝันและเดินตามฝันทำให้บึงกาฬพัฒนาไปได้ไกลแค่ไหน