ชาวปะทิว ชุมพร 300 คน ค้านร่างประกาศ สวล. ขีดแนว 4 ตำบลห้ามทำประมง-สร้างตึก

ค้านร่างประกาศกำหนดเขต-มาตรการคุ้มครอง สวล. 4 ตำบลใน อ.ปะทิว จ.ชุมพร กำหนดระยะถอยร่นจากชายหาด 5,400 เมตรห้ามทำประมง-ก่อสร้างตึก

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (22 พ.ย. 65) ที่ศาลาประชาคม หมู่ที่ 2 ต.บางสน อ.ปะทิว จ.ชุมพร ประชาชนเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนอำเภอปะทิวประมาณ 300 คน นำโดยนายศักดิ์ชาย พยันตา ประธานเครือข่าย ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ได้ให้ความเห็นชอบร่างประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เกี่ยวกับกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมอำเภอปะทิวในบริเวณชายฝั่งพื้นที่ 4 ตำบล ประกอบด้วย ต.ปากคลอง ต.ชุมโค ต.บาสน และ ต.สะพลี ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ในระยะยาว

โดยมีนายเจริญโชค พรหมชุติมา นายอำเภอปะทิว ทำหน้าที่ประธานในการประชุม มีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) ชุมพร เข้าร่วมชี้แจงข้อเท็จจริงและรับฟังความคิดเห็น นอกจากนั้น ยังมีนายอำพล ธานีครุฑ รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดชุมพร ที่ปรึกษานายก อบจ.ชุมพร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ฯลฯ เข้าร่วมประชุมและให้คำแนะนำด้วย

นายเจริญโชคกล่าวว่า ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรฯดังกล่าว ตนได้รับข้อมูลเบื้องต้นว่า เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2552 และเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ก็มีข่าวว่า ครม.มีมติให้ความเห็นชอบร่างประกาศฉบับนี้ จึงแสดงว่ากรณีดังกล่าวไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ แต่ได้มีการศึกษามานานกว่า 10 ปี โดยในปี 2554-2555 ได้มีการประชุมในเรื่องนี้ที่ที่ว่าการ อ.ปะทิว ซึ่งก่อนหน้านั้นจังหวัดชุมพรได้มีคำสั่งตั้งคณะทำงานเรื่องนี้ในปี 2553 ด้วย

แต่เมื่อมีความไม่สบายใจของประชาชนในเรื่องนี้ ในฐานะที่ตนเป็นนายอำเภอปะทิวก็มีความกังวลใจเช่นเดียวกันที่ประชาชนในพื้นที่เกรงว่าจะได้รับผลกระทบในเรื่องการทำมาหากินจากประกาศกระทรวงดังกล่าว

นายอำพลกล่าวว่า คิดว่าคงเป็นที่ร่างประกาศฉบับนี้คงจะว่างเกินเหตุ กรณีที่อ้างว่าทรัพยากรธรรมชาติใน อ.ปะทิวเริ่มเสื่อมโทรม จึงต้องร่างประกาศฉบับนี้ออกมาถือว่าฟังไม่ขึ้น และถือเป็นร่างประกาศที่ซ้ำซ้อนกับที่เคยออกในช่วงที่ผ่านมา เพราะมีทั้งประกาศกรมประมงที่ห้ามทำประมงหลายเรื่องมาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ก็มีประกาศห้ามอีกมากมายหลายเรื่อง

นอกจากนั้น ยังมีประกาศต่าง ๆ ของกรมเจ้าท่า และยังมีประกาศห้ามเรื่องป่าชายเลนอีก จึงสงสัยว่าทำไมไม่เอามารวมเป็นฉบับเดียวกันเลย หากชาวบ้านจะทำอะไรเกี่ยวกับการประมงหรือการท่องเที่ยว ถามว่าต้องทำเรื่องขออนุญาตกี่หน่วยงาน ที่ว่าประกาศต่าง ๆ ที่ออกมาเหล่านี้ มีส่วนส่งเสริมอาชีพชาวบ้านอะไรบ้าง

ดังนั้น จึงขึ้นกับทุกคนที่เข้าร่วมประชุมในวันนี้ว่าจะยอมรับร่างประกาศที่กำลังจะมีการประกาศใช้นี้ได้หรือไม่ หากยอมรับไม่ได้จะต้องรีบทำหนังสือและร่วมกันลงชื่อถึง ทสจ.ชุมพรว่าพวกเราไม่ยอมรับ และพวกเราขอดูแลทรัพยากรในพื้นที่ของพวกเรากันเอง พร้อมกับต้องรีบทำหนังสือถึงส่วนกลางด้วย

หลังการประชุมและแสดงความคิดเห็นประมาณ 2 ชั่วโมง นายพรชัย พรหมรักษ์ ผู้ดำเนินรายการได้ขอมติจากผู้เข้าร่วมประชุมว่ามีผู้ใดไม่เห็นด้วยกับร่างประกาศกระทรวงดังกล่าว ปรากฏว่าทุกคนที่เข้าร่วมประชุมต่างยกมือว่าไม่เห็นด้วย และไม่มีผู้ร่วมประชุมคนใดที่ยกมือเห็นด้วยกับร่างประกาศกระทรวงดังกล่าวเลย จึงมีการบันทึกจากการประชุมเพื่อเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและ ครม.พิจารณาต่อไป

สำหรับสาระสำคัญของร่างประกาศกระทรวงดังกล่าวก็คือ มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ 4 ตำบล เช่น พื้นที่ชายหาดที่อยู่ในท้องที่ดังกล่าว และทำเลที่อยู่ถัดออกไปจากชายหาด ระยะ 5,400 เมตร ห้ามทำการประมงโดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ ห้ามก่อสร้างอาคารทุกชนิด พื้นที่แนวสันทราย ห้ามขุด ถม หรือเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติของพื้นที่บริเวณแนวสันทราย พื้นที่ภายในเขตท้องที่ดังกล่าว

รวมทั้งพื้นที่เกาะต่าง ๆ ที่อยู่ในแนวเขตพื้นที่ควบคุมการใช้เครื่องมือทำการประมง ห้ามก่อสร้างอาคารทุกชนิดในพื้นที่ที่วัดจากแนวชายฝั่งทะเลเข้าไปในแผ่นดิน ระยะ 20 เมตร