ม.เกษตรผนึกแม่โจ้วิจัย กลิ่น SILPIN ต่อยอดธุรกิจพันล้าน

SILPIN

ม.เกษตรฯผนึก ม.แม่โจ้ ชูงานวิจัยการสกัดกลิ่นและรสจากพืชเกษตร ธรรมชาติ นำร่องใบมะกรูดและกัญชา มุ่งส่งต่อสู่ภาคธุรกิจทั้งอุตสาหกรรมอาหาร-สุขภาพและการแพทย์ ด้านแบรนด์ SILPIN เล็งต่อยอดธุรกิจพันล้าน พร้อมนำลิ้นจี่ ลำไย จากภาคเหนือ สกัดกลิ่นผลไม้

ผศ.ดร.อุศมา สุนทรนฤรังษี ภาควิชาพัฒนาผลิตภัณฑ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัย เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดตัวงานวิจัยและคิดค้นเทคโนโลยีการสกัดกลิ่นและรส

ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง 2 มหาวิทยาลัย โดยงานวิจัยนี้ (Development of Flavoring Agent from Thai Agricultural Produces : Cannabis and Kaffir Lime Leaf) เป็นการสกัดกลิ่นและรสจากพืชพันธุ์ธรรมชาติ

โดยเน้นพืช 2 กลุ่มหลักคือ ใบมะกรูดและกัญชา เพื่อนำไปใช้ในสายธุรกิจต่าง ๆ ที่ต้องใช้กลิ่นและรสชาติของพืชพันธุ์ เริ่มต้นจากการทำผลิตภัณฑ์สเปรย์และน้ำเชื่อม สำหรับการปรุงอาหารและเครื่องดื่มต่าง ๆ เพื่อให้ได้สัมผัสทั้งกลิ่นและรสชาติไปพร้อม ๆ กัน รวมถึงการร้อยเรียงเรื่องราวของอาหารกับสถาปัตยกรรมต่าง ๆ

นายอนุวัต เชื้อเย็น อาจารย์ประจำคณะพัฒนาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า งานวิจัยเรื่องกลิ่นและรสที่ 2 มหาวิทยาลัยร่วมกันทำครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ที่ต้องการให้นำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริง ไม่ใช่ทำแล้วเก็บไว้บนหิ้ง

แต่จะต้องนำสู่ห้างซึ่งคือ ภาคธุรกิจที่สามารถนำงานวิจัยนี้ไปใช้ประโยชน์หรือต่อยอดเชิงธุรกิจ ให้เกิดมูลค่าเพิ่มในเชิงเศรษฐกิจตลอดทั้ง supply chain โดยเฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจเกี่ยวกับ flavor อาทิ โรงงานผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แต่งกลิ่นและรสชาติ ที่จะตอบโจทย์ความต้องการของเทรนด์ธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม ท่องเที่ยว ที่จะนำกลิ่นและรสของพืชธรรมชาติไปเพิ่มมูลค่าให้กับตัวสินค้าหรือผลิตภัณฑ์

ด้าน นายปิยะ บุญนำกิจสวัสดิ์ กรรมการบริหาร บริษัท บุญ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปรุงแต่งกลิ่นรสในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ของประเทศ ภายใต้แบรนด์ “SILPIN” กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าปัจจุบันบริษัทผลิตกลิ่น-รสใน 3 รูปแบบคือ

1.รูปแบบ syrup 2.รูปแบบ perfume 3.รูปแบบ oil ซึ่งทั้ง 3 รูปแบบดังกล่าวสามารถนำกลิ่นไปใช้ในกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่ม ในกลุ่มธุรกิจโรงแรม และในกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร โดยวัตถุดิบหลักที่นำมาใช้สกัดกลิ่นคือ พืชเกษตรธรรมชาติที่ผลิตในประเทศไทยจากทั่วประเทศ เน้น 3 กลุ่มหลัก

ได้แก่ พืชสมุนไพรไทย ผลไม้ไทย ดอกไม้ไทย อาทิ กุหลาบจุฬาลงกรณ์ ดอกลำดวน ทุเรียน มะขามหวาน ลำไย ลิ้นจี่ ส้ม ตะไคร้ และใบมะกรูด เป็นต้น โดยรับซื้อตรงจากเกษตรกรทั่วประเทศ นำมาสกัดในโรงงานของบริษัทเอ คือ “บุญ คอร์ปอเรชั่น” ตำบลบางเพรียง อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรมที่ทันสมัย

สำหรับงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ครั้งนี้ บริษัทมองว่าสามารถนำไปต่อยอดธุรกิจของบริษัท และเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้นได้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะใบมะกรูดถือเป็นกลิ่นที่ตลาดมีความต้องการสูง ทั้งในรูปแบบ perfume oil และ syrup

นอกจากนี้ บริษัทยังได้นำผลผลิตทางการเกษตรของทางภาคเหนือ ทั้งเชียงใหม่และลำพูน อาทิ ลิ้นจี่และลำไย นำไปสกัดกลิ่นที่สามารถนำไปแต่งกลิ่นในเมนูอาหาร ซึ่งจะมีความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะ

นายปิยะกล่าวต่อว่า ลูกค้ากลุ่มหลักของบริษัท ได้แก่ ร้านอาหาร ร้านกาแฟ โรงแรมระดับ 5 ดาว เน้นการทำตลาดในประเทศเป็นหลัก มีสัดส่วนตลาดในประเทศมากถึง 99% ที่เหลือเป็นสัดส่วนการส่งออกต่างประเทศมีมูลค่าตลาดต่อปีกว่า 1,000 ล้านบาท

โดยในปีนี้ (2566) บริษัทจะเพิ่มสัดส่วนตลาดต่างประเทศมากขึ้น อาทิ ญี่ปุ่น จีน ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ซึ่งคาดว่าภายในระยะเวลา 10 ปี มูลค่าตลาดของบริษัทจะเพิ่มเป็น 5,000 ล้านบาท