มังคุดใต้ราคาดีดขึ้น 63-65 บาท/กก. หลังชาวสวน-รัฐรวมพลังแก้เกมพ่อค้า

มังคุดใต้ราคาดีดขึ้น 63-65 บาท/กก.

มังคุดใต้ราคาดีดขึ้น 63-65 บาท/กก. หลังชาวสวน-รัฐรวมพลังแก้เกมพ่อค้า ชี้การรวมกลุ่มประมูลคัดเกรดได้ราคาสูง แจงปัญหาราคาตกต่ำซ้ำทุกปี วอนรัฐต้องวางแผนแก้ปัญหาล่วงหน้า ไม่ใช่แก้ไขเฉพาะหน้า พร้อมเร่งพัฒนาคุณภาพมังคุดพรีเมี่ยม 3-5 ปี

วันที่ 25 สิงหาคม 2566 ร.ต.อรุณ บุญวงศ์ ประธานกลุ่มมังคุดบ้านน้ำดำ (ชะอวดโมเดล) อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้ราคามังคุดเริ่มปรับตัวดีขึ้นจากช่วงก่อนหน้าราคาลดต่ำลง เพราะมีผู้ประกอบการ (ล้ง) มาประมูลกันมากขึ้น 80-85% โดยกลุ่มมังคุดบ้านน้ำดำมีผู้ประมูลวันละ 6-7 ราย ล่าสุดราคาประมูลเกรดผิวมันรวมหรือเกรดส่งออกอยู่ที่ กก.ละ 57 บาท ผิวดำ 15-17 บาท

ซึ่งราคามังคุดที่ผ่านการประมูลปรับราคาดีขึ้น และล้งจะช่วยซื้อเกรดที่ตกไซซ์ผิวดำที่มีปริมาณมาก ส่งตลาดภายในประเทศ คาดว่าไม่เกินสิ้นเดือนสิงหาคม ปริมาณมังคุดใกล้หมดรุ่น ราคาจะดีขึ้นเรื่อย ๆ อาจจะถึง 60-70 บาท เพราะตลาดจีนไปได้ดี

ซึ่งราคาประมูลเป็นราคาของผู้ส่งออก สูงกว่าแผงรับซื้อข้างทางและ กก.ละ 25-30 บาท ที่ชาวสวนขายแบบเทรวมไม่คัดเกรดจะแยกเฉพาะปัดดอก ปัดดำ (ผิวสีดำไม่สวย) การยื่นประมูลแม้มีรายเดียวราคาต้องสูงกว่าราคาตลาด 10% ป้องกันพ่อค้าฮั้วกัน หรือกดราคา มีบางรายยื่นราคาต่ำมาก

“ราคาจะผันผวน 2 ช่วงทุก ๆ ปี คือ ช่วงต้นฤดู ปริมาณมังคุดไม่มาก และล้งยังเปิดรับซื้อน้อย ราคาจะสูงระยะสั้น ๆ เมื่อผลผลิตเริ่มมาก ล้งยังเปิดรับซื้อน้อย แทบไม่มีการแข่งขัน ราคาจะลดลงอย่างรวดเร็ว ล้งจะอ้างว่าของยังมีน้อยปริมาณไม่พอเปิดล้ง และคุณภาพไม่ดี ชาวสวนบางรายหยุดเก็บเพราะราคาต่ำไม่คุ้มทุน และเมื่อปริมาณมากขึ้น ล้งเริ่มเปิดราคาจะขยับขึ้นช่วงสั้น ๆ ต่อมาราคาจะลดลง โดยอ้างกลไกตลาด”

สำหรับตลาดจีนล้งมีความต้องการเบอร์ 1-3 ยังขายได้ราคา แต่เบอร์ตกไซซ์ที่มีปริมาณมากตลาดอยู่ภายในประเทศราคาถูกมาก การที่หน่วยงานภาครัฐช่วยพยุงราคา จะช่วยดันราคาตลาดให้สูงขึ้น แต่ต้องวางแผนแก้ปัญหาล่วงหน้าและช่วยให้ตลอดจนจบฤดูกาล ไม่ใช่เกิดปัญหาแล้วแก้ไขช่วงสั้น ๆ 2-3 วัน การพยุงราคาทำได้เพราะผู้ประกอบการรู้ราคาปลายทาง และช่วงที่ราคาผันผวน ตกต่ำจะรวดเร็วมาก

โดยปลายเดือนสิงหาคมนี้ มังคุดภาคใต้จะมีปริมาณมากเฉพาะนครศรีธรรมราช 30,000 ตัน ชุมพร 10,000 ตัน และมีมังคุดที่คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ จ.นราธิวาส-นครศรีธรรมราช จะสุกกลางเดือนกันยายน ออกมาด้วยปริมาณมาก จากสภาพอากาศร้อนจัด ล้งทางภาคใต้ตอนล่างมี 1-2 แห่งจะส่งมาแพ็กที่นครศรีธรรมราชและชุมพร

ทั้งนี้ หน่วยงานเกี่ยวข้องกับการส่งออก การปิด-เปิดตู้ การปล่อยตู้ ได้เตรียมอำนวยความสะดวกการส่งออกเพื่อระบายผลผลิตให้ได้มากที่สุด

“อย่างไรก็ตาม ตลาดจีนยังไปได้ดี ราคาประมูลเป็นราคาที่ค่อนข้างสูงแม้ในช่วงวิกฤตเพราะเป็นราคาของผู้ส่งออก ทางออกแก้ปัญหาราคาตกต่ำ เกษตรกรต้องรวมตัวกันขายแบบประมูล” ร.ต.อรุณกล่าว

เกษตรกรพรหมคีรีหยุดเก็บ-ราคาดีขึ้น

ทางด้านนายคมสันต์ คีรีเพชร ผู้รับเหมาสวนมังคุด และเกษตรกรเจ้าของสวนมังคุด ต.พรหมโลก อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช กล่าวกับ “ประชาชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้ราคามังคุดแผงรับซื้อรายย่อยดีดขึ้นมา 27-30 บาท จาก 13-15 บาท เพราะมีแรงกดดันจากเกษตรกร อ.พรหมคีรี อ.ท่าศาลา อ.ลานสกา ที่จะออกมาชุมนุม เกษตรกรหยุดเก็บมังคุด 2-3 วัน ประกอบกับ นางอวยพรศรี เชาวลิต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช เข้ามาช่วยเจรจากับผู้ประกอบการ

และมีมาตรการช่วยเหลือของกรมการค้าภายใน สำนักงานพาณิชย์จังหวัดที่ช่วยระบายผลผลิต และล้งเริ่มเข้ามาประมูลและเปิดซื้อมากขึ้น ทำให้ราคามังคุดเริ่มดีขึ้นตั้งแต่ 21 สิงหาคม 2566

แต่ตอนนี้ปริมาณมังคุดเริ่มน้อยลงมาก เพราะใกล้หมดรุ่น แต่ราคาจะขึ้นกับล้งใหญ่ที่รับซื้อด้วย จึงทำให้มีความผันผวนของราคาง่าย ที่ผ่านมาภายในวันเดียวมีความเคลื่อนไหว 2-3 ราคา ผู้รับซื้อรายย่อยต้องคิดกำไรจากส่วนต่างที่รับซื้อจากชาวสวนไปส่งล้งจะมีการแข่งขันกันสูง จากแผงรับซื้อด้วยกัน ราคาจึงไม่มีมาตรฐานแน่นอนเหมือนการประมูล

ล้งแจง ราคารับซื้อช่วยค้ำยัน

นายมณฑล ปริวัฒน์ กรรมการ ผจก.บริษัท อรษาฟรุ๊ต จำกัด ผู้ส่งออแบรนด์มังคุดไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การประกาศราคารับซื้อล้งอรษา สาขาพรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช ราคา วันที่ 21-22 สิงหาคม 2566 มังคุดผิวมันหูเขียว 80 กรัมขึ้นไป ราคา 35 บาท ผิวลายหูเขียว 25 บาท ผิวมันจิ๋ว (ลูกเล็ก) หูเขียว 65 กรัมขึ้นไป ราคา 20 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาประมูลที่ราคา กก.ละ 50-55 บาท เป็นแนวทางให้ชาวสวน พ่อค้าแม่ค้ามืออาชีพรับซื้อมังคุดจากชาวสวน และช่วยค้ำยันราคา

ซึ่งราคาประมูล คือ ราคาซื้อขายจริงของผู้ประกอบการ จะเพิ่มจากราคาที่ประกาศ ตามราคาตลาดปลายทางและคัดตามเกรด มาตรฐานการส่งออกส่งออกไปจีน ส่วนใหญ่ล้งจะไม่แจ้งราคารับซื้อ แต่ล้งอรษาจะแจ้งสมาชิกในกลุ่มไลน์

นางประไพ เพชรพงศ์พันธุ์ พาณิชย์จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากมีปัญหาราคามังคุดตกต่ำ กลางเดือนสิงหาคม ได้ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการเข้ามารับซื้อผลผลิต โดยเฉพาะผลผลิต ผิวดำ/ตกไซซ์ จากราคาแผงรับซื้อจุดย่อย 13-15 บาท เป็นราคา 20 บาท ส่วนเกรดส่งออกผลผลิตเป็นที่ต้องการตลาด ราคาขยับขึ้นไปถึง กก. 72 บาท และลดลง 55-60 บาท แต่ตอนนี้เพิ่มสูงขึ้น

โดยกรมการค้าภายใน สำนักงานพาณิชย์จังหวัดจะจัดหาคู่ค้าทั้งค้าส่งและค้าปลีกมารับซื้อ และล่าสุดกรมการค้าภายในนำผู้ประกอบการเข้าประมูลในกลุ่มประมูลและซื้อโดยตรงจากเกษตรกรรายย่อย ปริมาณ 12,950 ตัน เพื่อพยุงราคาและดูดซับผลผลิต ช่วงปลายเดือนสิงหาคมปริมาณมังคุด จ.นครศรึธรรมราช จะออกมามากถึง 6,000 ตัน วางแผนจัดซื้อ คือ แบบประมูล มังคุดคุณภาพตกไซซ์จะพยุงราคาไม่ต่ำกว่า 20 บาท/กก. และการรับซื้อตามแผงจุดย่อย ไม่ต่ำกว่า กก. 12-15 บาท

แผนพัฒนามังคุดพรีเมี่ยม

นายชวิศร์ สวัสดิสาร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครศรีธรรมราช (ศวพ.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มังคุดภาคใต้เริ่มปรับตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยปัจจัย 2-3 ข้อ คือ 1) ตลาดจีนมีความต้องการสูง ล้งเปิดรับซื้อมากขึ้น 70-80% และการส่งและกระจายสินค้าไปตลาดจีนเพิ่มขึ้น 2) ใบ GAP ของ จ.นครศรีธรรมราชมี 100% เพียงพอกับการส่งออก 3) การรวมกลุ่มของเกษตรขายแบบประมูลได้ราคาสูง เป็นมังคุดคุณภาพ มีการคัดเกรด

“ช่วงเดียวกันนี้มีมังคุดอินโดนีเซียรุ่นแรกที่ลูกใหญ่ ผิวสวย เข้ามาแข่งขันในตลาดจีน ซึ่งมังคุดไทยปลายฤดูกาลจะลูกเล็กกว่า ขณะนี้ผลผลิตมังคุดออกไปแล้ว 70% จากนครศรีธรรมราช 13,000 ตัน ชุมพร 10,000 ตัน คาดว่าเหลืออีก 4,000-5,000 ตัน และมังคุดภาคใต้ตอนล่างใน 3 จังหวัด (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) สงขลา และจังหวัดอื่น ๆ เริ่มทยอยออก 10% ส่งมาปิดตู้ให้ล้งที่นครศรีธรรมราช ชุมพร เพราะภาคใต้ตอนล่างมีล้งเพียง 2 แห่ง ที่ยะลา นราธิวาส

ปี 2566-2567 ศวพ.วางแผนพัฒนามังคุดภาคใต้เป็นมังคุดคุณภาพ (พรีเมี่ยม) เพื่อการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ จากปี 2565 มีมังคุดพรีเมี่ยม 40% ตั้งเป้าปี 2566 เพิ่ม 60% และปี 2567 เพิ่ม 80% ส่วน 20% เป้าหมายตลาดผู้บริโภคภายในประเทศ และการแปรรูป โดย จ.นครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดนำร่อง” ผอ.ศวพ.กล่าว

ข้อมูลศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครศรีธรรมราช : สถานการณ์มังคุด ปี 2566 ภาคใต้ตอนบนผลผลิตมังคุดในฤดูและนอกฤดูกาลทั้งหมด 118,073 ตัน เพิ่มขึ้น 367.86% มากที่สุด จ.ชุมพร 53,670 ตัน จ.นครศรีธรรมราช 41,283 ตัน คาดการณ์ผลผลิตเดือนสิงหาคม ประมาณ 21,208 ตัน มากสุดที่ จ.นครศรีธรรมราช 13,412 ตัน เดือนกันยายน ประมาณ 21,818 ตัน มากสุดที่ จ.นครศรีธรรมราช 5,281 ตัน

เดือนตุลาคม ประมาณ 735 ตัน การส่งออก 1 ม.ค.-23 ส.ค. 66 มีการส่งออกมังคุด 2,573 ตู้/ชิปเมนต์ประมาณ 51,400 ตัน โดยส่งออกจากด่านเชียงของมากที่สุด จำนวน 1,792 ตู้/ชิปเมนต์ ประมาณ 35,800 ตัน รองลงมาด่านนครพนม จำนวน 381 ตู้/ชิปเมนต์ ประมาณ 7,610 ตัน