“ดร.อัจฉรีย์ งามพร้อมสกุล” สะท้อนโจทย์ใหญ่แรงงานต่างด้าว

Dr. Atcharee
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

สมุทรสาครหนึ่งในจังหวัดที่มีโครงสร้างหลักของรายได้มาจากภาคการผลิต โดยมีโรงงานอุตสาหกรรมรวมกว่า 6,000 แห่ง ส่งผลให้มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (GPP) เฉลี่ยกว่า 4 แสนล้านบาทต่อปี

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “ดร.อัจฉรีย์ งามพร้อมสกุล” ประธานกรรมการ บริษัท โอ.เอ็ม.แคนแอนด์พริ้นติ้ง จำกัด ในฐานะประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาครคนใหม่ ซึ่งเป็นผู้หญิงคนแรก ถึงนโยบาย และปัญหาอุปสรรคของภาคอุตสาหกรรม และทิศทางที่จะก้าวไป

Q : นโยบายของ ปธ.คนใหม่

นโยบายหลักในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมมี 5 ด้านหลัก ประกอบด้วย 1.ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงยั่งยืน สนับสนุนการใช้วัสดุและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และส่งเสริมการลดมลพิษของเสียจากภาคอุตสาหกรรม 2.สนับสนุนการฝึกอบรมพัฒนาทักษะแรงงาน ส่งเสริมการศึกษา และวิจัยด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรม รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคอุตสาหกรรมและสถาบันการศึกษา

3.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง พลังงาน และโทรคมนาคม 4.สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ 5.สนับสนุนการปรับปรุงกฎหมายและระเบียบ เพื่อลดอุปสรรคทางธุรกิจ และสนับสนุนธุรกิจยึดตามหลักธรรมาภิบาล

นอกจากนี้ อยากส่งเสริมการแปรรูปอาหารทะเล เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกษตรกร รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และการพัฒนาอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจ

Advertisment

Q : ปัญหาอุปสรรคของโรงงาน

มีหลายด้าน ได้แก่ 1.ปัญหาขาดแคลนแรงงานทั้งแรงงานไร้ฝีมือและแรงงานมีฝีมือ เนื่องจากแรงงานที่มีทักษะจะย้ายไปทำงานในเมืองใหญ่ ๆ และไปต่างประเทศ และระบบการศึกษาสร้างบุคลากรไม่ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม 2.ปัญหาต้นทุนการผลิตสูง ทั้งค่าจ้างแรงงาน ราคาพลังงาน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้น ค่าเงินบาทที่อ่อนลง ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ

3.ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เนื่องจากเกณฑ์การขอสินเชื่อของธนาคารเข้มงวด อัตราดอกเบี้ยที่สูง ทำให้สมาชิกส่วนใหญ่ที่เป็นผู้ประกอบการ SMEs ไม่สามารถขอกู้ได้ ปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อการขยายธุรกิจและการลงทุน

4.สมาชิกหลายรายประสบปัญหาการแข่งขันจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน และเวียดนาม ซึ่งมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าไทย ขณะที่หลายประเทศมีมาตรการกีดกันทางการค้า รวมถึงการขาดแคลนนวัตกรรมและเทคโนโลยี 5.ปัญหาระเบียบราชการ และกฎหมายที่ยุ่งยากซับซ้อน ล้าหลัง กระบวนการใบอนุญาตยุ่งยาก ขณะที่การบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มงวด

6.ระบบคมนาคมขนส่งทางบกยังไม่เชื่อมโยงอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลต่อต้นทุนการขนส่งสินค้าที่สูง ทำให้เกิดความล่าช้าและขาดการบูรณาการในระบบขนส่งสินค้าทางทะเล รวมถึงการขาดแคลนคลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้าที่มีมาตรฐาน

Advertisment

นอกจากนี้ การแข่งขันทางการค้าที่รุนแรงขึ้น ทั้งจากผู้ผลิตในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่ผู้ประกอบการขาดการสนับสนุนด้านนโยบายและมาตรการจากภาครัฐอย่างเพียงพอ ที่สำคัญ วันนี้มีผลกระทบจากปัจจัยภายนอก เช่น สงครามการค้า ความผันผวนของราคาสินค้า

Q : ผลกระทบราคาพลังงานสูง

ราคาพลังงานถือเป็นต้นทุนหลักของภาคอุตสาหกรรม การขนส่ง และกระทบต่อชาวประมงชายฝั่งและประมงพาณิชย์ ที่ผ่านมาภาครัฐตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ทำให้สามารถควบคุมต้นทุนการผลิตได้ แต่เมื่อปรับราคาน้ำมันดีเซลกึ่งลอยตัว ส่งผลต่อการวางแผนต้นทุนการขนส่ง จึงอยากให้ภาครัฐพิจารณาช่วยเหลือ หากปล่อยให้ต้นทุนขนส่งเพิ่มขึ้น ผลกระทบจะไปถึงประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และอาจส่งผลถึงราคาผลิตภัณฑ์ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

Q : ปัญหาการนำเข้าแรงงานต่างด้าว

ปัญหาแรงงานต่างด้าวในจังหวัดสมุทรสาครเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมอย่างมาก จึงควรมีการปรับปรุงกฎระเบียบและขั้นตอนการนำเข้าแรงงานต่างด้าวให้มีความคล่องตัวและชัดเจนมากขึ้น เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการดำเนินการ รวมถึงการควบคุมและเข้มงวดกับการจ้างแรงงานเถื่อนหรือแรงงานที่ผิดกฎหมาย โดยเพิ่มอัตราค่าปรับและบทลงโทษสำหรับนายจ้างที่จ้างแรงงานผิดกฎหมาย และมีการโยกย้ายนายจ้าง

นอกจากนี้ ควรมีการจัดตั้งศูนย์บริการจัดหางานแรงงานต่างด้าวในจังหวัด เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นายจ้างและแรงงาน รวมถึงควบคุมดูแลให้เป็นไปตามกฎหมาย รวมถึงส่งเสริมการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะแรงงานต่างด้าว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน สร้างความร่วมมือกับประเทศต้นทางแรงงาน เพื่อบริหารจัดการแรงงานอย่างเป็นระบบและถูกต้องตามกฎหมาย

สนับสนุนให้จ้างงานแรงงานไทยมากขึ้น โดยมีมาตรการจูงใจหรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ซึ่งการดำเนินมาตรการเหล่านี้จะช่วยบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวให้เป็นระบบ ลดผลกระทบต่ออุตสาหกรรม สร้างความยุติธรรม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม

Q : รัฐจ่อขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท

จะส่งผลกระทบให้ต้นทุนการผลิตของโรงงานเพิ่มขึ้น อาจทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs อาจนำไปสู่การปรับลดกำลังการผลิตหรือการเลิกกิจการได้ ที่สำคัญ เมื่อต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น เป็นแรงกดดันให้ผู้ประกอบการต้องปรับราคาสินค้าและบริการให้สูงขึ้น เพื่อรองรับต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น อาจจะมีความเสี่ยงที่โรงงานบางแห่งอาจย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนแรงงานถูกกว่า เพราะบางอุตสาหกรรมต้องใช้แรงงานมาก

ดังนั้น นโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำนี้จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคอุตสาหกรรม ปกติการปรับค่าจ้างขั้นต่ำมีกระบวนผ่านการตกลงร่วมกันของคณะกรรมการไตรภาคี ดังนั้น การปรับค่าจ้างขั้นต่ำควรพิจารณาถึงความแตกต่างในเรื่องพื้นที่และอุตสาหกรรม

Q : การแก้เกิดภาวะโลกร้อน

โรงงานอุตสาหกรรมในสมุทรสาครมีความตื่นตัวในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) ทั้งการติดตั้งระบบกักเก็บและดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิต หันมาใช้พลังงานทดแทนและพลังงานสะอาดมากขึ้น ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานและลดการสูญเสียพลังงานในกระบวนการผลิต

มีการลงทุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียและระบบกำจัดของเสียที่มีประสิทธิภาพ ตอบสนองต่อข้อกำหนดและมาตรการต่าง ๆ ของนานาประเทศ รวมถึงเป็นการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว

Q : ผลกระทบจราจรบนถนนพระราม 2

การแก้ปัญหาจราจรบนถนนพระราม 2 เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง เนื่องจากเป็นถนนสายหลักที่มีปริมาณการจราจรหนาแน่นมาก ทั้งจากยานพาหนะที่สัญจรผ่านไปมา และจากการก่อสร้างอาคารบริเวณริมถนนหลายโครงการ การแก้ปัญหาจราจรต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และประชาชน

พร้อมทั้งต้องพิจารณาแนวทางการแก้ไขแบบบูรณาการและยั่งยืนในระยะยาว