ธปท.หนุนเอสเอ็มอีเหนือปรับตัวยุคดิจิทัล เสริมเขี้ยวเทคโนโลยี-เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดเชียงใหม่ ว่า วันนี้ (4 มิ.ย.61) ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ ได้จัดสัมมนาวิชาการ เรื่อง “Digital Economy” Rethink Reshape Reform ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเอ็มเพรส โรงแรมดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีผู้ประกอบการธุรกิจและเอสเอ็มอีในภาคเหนือเข้าร่วมรับฟังราว 600 คน

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ศักยภาพและความท้าทายเศรษฐกิจไทย ในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยน โดยได้ฉายภาพเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ว่า เริ่มขยายตัวดีขึ้นอยู่ในระดับร้อยละ 3.9 โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาที่เริ่มขยายตัวได้ดี เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งอัตราการว่างงานของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันลดต่ำลงในรอบ 17 ปี อยู่ที่ราวร้อยละ 3.9ขณะที่เศรษฐกิจของโลกอีกกลุ่มหนึ่งที่ขยับตัวดีขึ้นมากเช่นกันก็คือ เศรษฐกิจกลุ่มยุโรป และญี่ปุ่น เป็นอีกปัจจัยหนุนให้เศรษฐกิจโลกเริ่มมีการฟื้นตัว

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ก็มีความเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษคือ นโยบายการกีดกันทางการค้าของประเทศสหรัฐอเมริกาที่เพิ่มมากขึ้น โดยมุ่งยึดผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก (America First) นอกจากนี้ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ของโลกก็เป็นความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการต้องระมัดระวัง ซึ่งแม้ปัญหาในคาบสมุทรเกาหลีจะผ่อนคลายลง ทว่าในภูมิภาคอื่นๆอาจมีปัญหาเกิดขึ้นได้ เช่น ภูมิภาคอิหร่าน รวมถึงในพื้นที่ตะวันออกกลางและรัสเซีย ก็อาจมีความเสี่ยงสูงในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ เนื่องจากเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก

ดร.วิรไท กล่าวต่อว่า สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คาดว่าจะมีการขยายตัวร้อยละ 4 ซึ่งในภาพรวมขณะนี้ถือว่าเศรษฐกิจเริ่มมีการฟื้นตัวดีขึ้น โดยปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวก็คือ การลงทุนของภาครัฐและการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเป็นภาพที่เห็นชัดเจนว่ามีการขยายตัว และมีการกระจายตัวในหมวดสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป โดยไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ มูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 10 ส่วนการนำเข้าก็กลับมาขยายตัวได้มากขึ้นถึงร้อยละ 16 โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าต้นทุน ประเภทเครื่องจักรอุตสาหกรรม มีการเติบโตขึ้นร้อยละ 7 สะท้อนให้เห็นว่าจะเกิดกิจกรรมการลงทุนภายในประเทศในระยะต่อไป ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรก็ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลต่อรายได้เกษตรกรดีขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดเข้าสู่ยุค Digital Economy จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้ประกอบการธุรกิจและเอสเอ็มอี จึงต้องปรับตัวและรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงให้เร็วใน 4 ด้านหลัก คือ การให้ความสำคัญต่อเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านการเงินในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาด ที่แข่งกันเรื่องความเร็วและความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภค การให้ความสำคัญเรื่อง Sharing Economy มุ่งสู่ธุรกิจบน Platform ออนไลน์มากขึ้น เพื่อการเข้าถึงฐานผู้บริโภค การให้ความสำคัญด้านข้อมูลทั้งการเก็บและประมวลข้อมูลด้วยระบบดิจิทัล และการพัฒนาพนักงานอย่างต่อเนื่อง ให้มีความรู้และเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งการปรับตัวสู่เทคโนโลยีดิจิทัล เป็นการปรับตัวของภาคธุรกิจที่สำคัญ ซึ่งจะมีส่วนช่วยเรื่องการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้น ส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในอนาคต

นอกจากนี้ ในงานสัมมนาวิชาการครั้งนี้ ยังเปิดเวทีเสวนาจากผู้เชี่ยวชาญ 4 ด้าน ที่มาร่วมให้ความรู้ อาทิ ธนา เธียรอัจฉริยะ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์, พละวัต ตันศิริ ประธานกิตติมศักดิ์ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย, พิภาวิน สดประเสริฐ ผู้จัดการใหญ่ ประจำประเทศไทย ANT Financial Services Group และ ทิวา ยอร์ค Head Coach Kaidee.com

Advertisment