“น้ำ” ปัญหาใหญ่ที่แก้ไม่ตก

“เกาะเสม็ด” ถือเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดระยอง “สริญทิพญ ทัพมงคลทรัพย์” นายกสมาคมผู้ประกอบการท่องเที่ยวเกาะเสม็ด และผู้ประกอบการ Seahorse Greenplace Resort เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เกาะเสม็ด คือ เพชรเม็ดงามของเมืองระยอง ที่สร้างเงินให้แก่ภาคการท่องเที่ยวของจังหวัดมากกว่า 70% โดยมีเนื้อที่กว่า 4,200 ไร่ ผู้อยู่อาศัย 800 กว่าครัวเรือน แบ่งเป็น ชาวบ้านที่ทำอาชีพประมงประมาณ 20% และผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว 80%

มีแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม เช่น หาดทรายแก้ว อ่าววงเดือน และหาดแสงเทียน รวมถึงอ่าวที่ยังคงความเป็นธรรมชาติอีกมากมาย แต่ปัจจุบันชาวบ้านและผู้ประกอบการบนเกาะที่มีรกรากอยู่ก่อนแล้ว กลับกลายเป็นเพียงผู้อาศัย ไม่มีสิทธิ์ครอบครองเป็นเจ้าของที่ดิน พื้นที่บนเกาะกลายเป็นเขตอุทยาน และเป็นพื้นที่ทับซ้อนกับกรมธนารักษ์ไปแล้ว

ทั้งนี้ ทำให้เกาะเสม็ดมีปัญหาในด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น น้ำจืด ที่ไม่สามารถต่อท่อนำขึ้นมาใช้บนเกาะได้ด้วยเพราะติดข้อกฎหมาย ทำให้ชาวบ้านและผู้ประกอบการต้องใช้เรือลำเลียงน้ำจืดเข้ามา ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ประมาณ 3,700 บาท/เที่ยวเรือ หรือเฉลี่ยยูนิตละ 205 บาท เพื่อนำมาใช้ในการอุปโภค-บริโภค และประกอบกิจการที่พักกว่า 4,000 ห้อง ส่งผลให้ราคาห้องพักค่อนข้างสูง นอกจากนี้ ปัญหาขยะเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่แก้ไม่ตกเช่นกัน ซึ่งการพัฒนาวางแผนโครงการต่าง ๆ ทำได้ยาก เพราะหากกรมธนารักษ์อนุญาต แต่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ไม่อนุญาต จะไม่สามารถพัฒนาได้

ขณะเดียวกัน กรมอุทยานฯมีรายได้จากการเก็บค่าขึ้นเกาะจากนักท่องเที่ยว ราคานักท่องเที่ยวชาวไทย 40 บาท/คน ต่างชาติ 200 บาท/คน คิดเป็นสัดส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 1,350-1,500 คน/วัน คนไทย 4,500-5,000 คน/วัน แต่วันนี้ผู้ประกอบการภาคเอกชนไม่สามารถประชาสัมพันธ์เกาะเสม็ดได้อย่างเต็มที่และทั่วถึง เพราะต้องเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์ และไม่มีใบอนุญาตประกอบการธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ

“กรมอุทยานฯต้องมองให้เห็นว่าการพัฒนาควรจะควบคู่ไปกับอะไร จะใช้แต่หลักรัฐศาสตร์หรือนิติศาสตร์อย่างเดียวไม่ได้ ต้องถอยให้ชาวบ้านด้วย ให้มีสิทธิ์ในระบบสาธารณูปโภค แต่วันนี้กรมอุทยานฯ กลับคิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของพื้นที่ ทั้งนี้ มองว่าหากทุกฝ่ายจะไปได้นั้น ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวจะต้องรู้ว่าควรอนุรักษ์อะไร ต้องคุมให้ทุกอย่างอยู่ในพื้นที่ และทำแหล่งท่องเที่ยวให้ดี หากนักท่องเที่ยวไม่มา กรมอุทยานฯเองจะไม่มีรายได้ มันจะล้มทั้งระบบ หากผู้ประกอบการภาคเอกชนพยายามที่จะพัฒนา แต่ทางหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ช่วยในการพัฒนา ก็จะไม่มีทางเป็นไปได้”