ชงแสนล้าน ครม.เลย-เพชรบูรณ์ ดึงไฮสปีดลาวมาหนองคาย-ผุดสนามบินบึงกาฬ

การประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรในวันที่ 17-18 ก.ย.นี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะลงพื้นที่จังหวัดเลยและเพชรบูรณ์ ทำให้ภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ 10 จังหวัด แบ่งเป็นกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ประกอบด้วย 5 จังหวัด คือ อุดรธานี เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และบึงกาฬ และกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 ประกอบด้วย 5 จังหวัด คือ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ตาก สุโขทัย และอุตรดิตถ์ ได้ประชุมร่วมกันเพื่อเตรียมเสนอแผนพัฒนาต่าง ๆ ต่อ ครม.รวมงบประมาณกว่าแสนล้านบาท

ชงที่ 5 พันไร่ผุดสนามบินบึงกาฬ

โดยกลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนบน 1 มีทำเลที่ตั้งที่เชื่อมโยงศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะ สปป.ลาว และสามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศเวียดนามและจีนตอนใต้ ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ และตะวันออก-ตะวันตก เสนอขอรับการสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ ด้วยการพัฒนาศักยภาพท่าอากาศยานเลย ทั้งจัดหาพร้อมติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยพื้นที่การบินและเครือข่ายดาวเทียม จัดหาพร้อมติดตั้งเครื่องตรวจอาวุธและวัตถุระเบิดแบบ EDS พร้อมสายพานลำเลียงสัมภาระ ก่อสร้างขยายลานจอดเครื่องบิน ปรับปรุงเสริมความแข็งแรงของทางวิ่ง ทางขับ การก่อสร้างรั้งปิดเขตการบิน และเพิ่มลวดหนามของรั้ว จัดหายานพาหนะสำหรับการดับเพลิงและกู้ภัยทางอากาศยาน ก่อสร้างจุดตรวจค้นบุคคลและยานพาหนะและปรับปรุงกายภาพ รวมถึงเสนอก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ และจ้างที่ปรึกษาคุมงานก่อสร้างอาคารดังกล่าว

พร้อมเสนอพัฒนาศักยภาพท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี โดยก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่ 3 พร้อมปรับปรุงอาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่ 1 และ 2 ในปี 2565-2567 เพื่อให้รองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นจาก 1,200 คน/ชม.หรือ 3.5 ล้านคน/ปี เป็น 2,500 คน/ชม. หรือ 7.5 ล้านคน/ปี นอกจากนี้ ขอให้ศึกษาความเหมาะสมระบบการจัดการจราจรทางหลวงหมายเลข 216 (หนองบัวลำภู) เพื่อเข้าสู่ท่าอากาศยานอุดรธานี ที่สำคัญได้เสนอให้ศึกษาความเหมาะสมการก่อสร้างสนามบินบึงกาฬ โดยเสนอที่ดิน 2 แปลง บริเวณบ้านดอนปอ ต.โนนสว่าง อ.เมือง จ.บึงกาฬ รวม 4,714 ไร่

ขยายถนน 4 เลน 14 โครงการ

ในด้านการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมได้เสนอขยายช่องจราจรทางหลวง และยกระดับมาตรฐานทั้งหมด 14 โครงการ เช่น ทำ 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 21 ตอนหล่มเก่า-ต.ร่องจิก-ต.สานตม-จ.เลย, ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 201 ตอนผานกเค้า-วังสะพุง, ทางหลวงหมายเลข 2376 ตอนสังคม-โสกกล้า, ทางหลวงหมายเลข 211 ตอนศรีเชียงใหม่-ห้วยเชียงดา, ทางหลวงหมายเลข 2 (อุดรธานี-น้ำสวย-สะพานมิตรภาพหนองคาย), ทางหลวงสาย 228 หนองบัวลำภู-ศรีบุญเรือง-ชุมแพ-ชัยภูมิ, ทางหลวงสาย 2146 หนองบัวลำภู-โนนสัง-อุบลรัตน์-ขอนแก่น และการก่อสร้างทางเลี่ยงเมือง จ.บึงกาฬ เสนอพัฒนาโครงข่ายทางหลวงสายหลักเชื่อมโยงการค้าชายแดน เช่น ทางหลวงหมายเลข 2115 ตอนปากภู-โคกใหญ่-ปากห้วย, ก่อสร้างทางหลวงตัดใหม่จากแยกทางหลวงหมายเลข 2115-สะพานมิตรภาพน้ำเหืองไทย-ลาว เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ได้มีการเสนอพัฒนาโครงการทางหลวงสายหลักเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยว เช่น ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 211 ห้วยเชียงดา-ปากชม-เชียงคาน (เลียบโขง) ระยะทาง 49.090 กม. รวมถึงการยกระดับทางหลวงหมายเลข 209 และการปรับปรุงทางหลวงผ่านย่านชุมชน เช่น ทางหลวงหมายเลข 2096 ตอนควบคุม 0102, การปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 2026 ตอนควบคุม 0100 ตอนหนองหิ้ง-เหล่าหลวง ต.เซกา, ต.หนองหิ้ง อ.เซกา จ.บึงกาฬ จาก 2 เป็น 4 ช่องจราจร และการปรับปรุงทางหลวงชนบท สาย บก.3009-บ้านโนนจำปา ระยะทาง 4.150 กม. ระยะทางตลอดสาย 46.275 กม.

ดึงไฮสปีดจีน-ลาวมาหนองคาย

ในด้านโครงข่ายทางราง ได้ปรับแผนเพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวกับ สปป.ลาวและจีน รวมถึงส่งเสริมการลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.หนองคายและนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี คณะกรรมการ กรอ.จังหวัดหนองคายได้เสนอผ่านทางกระทรวงมหาดไทยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประสานไปยังจีนและ สปป.ลาว ได้พิจารณาขยายการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายคุนหมิง-เวียงจันทน์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในโครงการ One Belt One Road มีเป้าหมายนำนักท่องเที่ยวชาวจีนมาเที่ยว สปป.ลาว และเพื่อให้ จ.หนองคายได้รับประโยชน์ดังกล่าว จึงเสนอให้ย้ายสถานีสุดท้ายจากที่สิ้นสุดที่เวียงจันทน์มาสิ้นสุดที่จังหวัดหนองคาย เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการเชื่อมต่อไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ของไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์

พร้อมเสนอให้ปรับวิธีการก่อสร้างระบบรถไฟความเร็วสูงช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ให้เริ่มก่อสร้างจากหนองคาย-นครราชสีมาแทน เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่รวดเร็วมากขึ้น เพื่อเชื่อมโยงกับรถไฟความเร็วสูงจากคุนหมิง-เวียงจันทน์ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกิน 2 ปีนี้

นอกจากนี้ ได้ขอให้ศึกษาความเหมาะสมโครงการท่าเรือบก (Inland Container Depot) จังหวัดอุดรธานี เพื่อรองรับระบบโลจิสติกส์ที่รัฐบาลวางไว้ รวมถึงการเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงของจีน และสนามบินนานาชาติวัดไตของ สปป.ลาว อย่างไรก็ตาม ได้เสนอให้มีการศึกษาเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อจังหวัดเลย หนองบัวลำภู และบึงกาฬ

ตั้งศูนย์ Excellent Center

ขณะเดียวกันด้านแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรได้เสนอก่อสร้างระบบระบายน้ำในเมือง จ.บึงกาฬ ป้องกันปัญหาอุทกภัย, การก่อสร้างประตูระบายน้ำห้วยกำแพง อ.เมือง จ.บึงกาฬ, การศึกษาการพัฒนาลำน้ำสวย จ.หนองคาย และ จ.อุดรธานี เป็นต้น

ด้านยกระดับการผลิตได้เสนอขุดเจาะบ่อบาดาลในพื้นที่การเกษตร พร้อมติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ และเสนอก่อสร้างศูนย์ Excellent Center เพื่อวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้สำหรับ SMEs โดยใช้ชื่อว่า “Sabai Dee Ex-cellent Center for Local Development” เพื่อเป็นศูนย์ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมทางการเกษตร และขับเคลื่อนการสร้างองค์ความรู้ด้านการแปรรูป การตลาด และสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตทางการเกษตร โดยใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี 2.9 ไร่ (4,685 ตร.ม.) รวมถึงเสนอตั้งเมืองยางพารา (rubber economic corridor) เพื่อยกระดับการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเฉพาะบึงกาฬมีพื้นที่ปลูกยางถึง 847,095 ไร่

หนุนแผนแม่บทเที่ยวริมโขง

ในการประชุมได้มีการเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณากำหนด จ.อุดรธานีให้เป็นเมืองสมุนไพร (herbal city) ส่วนด้านการท่องเที่ยวเสนอให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จัดทำแผนแม่บทเส้นทางท่องเที่ยวริมแม่น้ำโขง จาก จ.เลยเชื่อมต่อไปถึง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี โดยข้อเสนอเชิงนโยบายขอให้ดำเนินการศึกษาและจัดให้มี tax refund ทางบก โดยนำร่องที่ด่านหนองคาย เพื่อเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติจาก สปป.ลาว พร้อมทั้งจัดให้มี visa on arrival โดยนำร่องที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองหนองคาย และท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี

สำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้เสนอจัดหาเครื่องมือแพทย์และก่อสร้างอาคาร เพื่อพัฒนาคุณภาพและศักยภาพการบริหารสุขภาพโรงพยาบาล 2 แห่งใน จ.เลย คือ โรงพยาบาลเลยและโรงพยาบาลวังสะพุง

อย่างไรก็ตาม แผนงานทั้งหมดที่ 10 จังหวัดเสนอจะเป็นไปตามที่ต้องการทั้งหมดหรือไม่ คงต้องลุ้นกันต่อไป