ชาวสวนยางตรังกระอักราคาดิ่งเหว เหลือ 3 โลร้อย วอนรบ.ประกันราคา 50 บาทต่อกิโล

เกษตรกรชาวสวนยางพาราตรังกระอัก หลังราคายางพาราทั้งน้ำยางสด และยางแผ่น ดิ่งเหว เหลือ 3 กิโลร้อย เผยทนแบกภาระหนี้ไม่ไหว วอนรัฐบาลเข้าช่วยประกันราคา 50 บาทต่อ 1 กก.

วันที่ 31 ตุลาคม ที่จังหวัดตรัง ขณะนี้เกษตรกรชาวสวนยางพารากำลังประสบปัญหาได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก สาเหตุมาจากราคายางพารา ทั้งน้ำยางสด และยางแผ่น มีราคาตกต่ำอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งถึงจุดดิ่งเหว ขายได้ในราคาประมาณ 3 กิโลกรัมต่อ 100 บาทเท่านั้น แม้ว่าจะมีการเรียกร้องให้รัฐบาลเข้าช่วยเหลือ แต่เกษตรกรชาวสวนยางพาราก็ยังคงได้รับความเดือดร้อน

โดยเฉพาะบริเวณรับซื้อน้ำยางสด ริมถนนสายตรัง-กันตัง บ้านบางหมากน้อย หมู่ที่ 6 ต.ควนธานี อ.กันตัง จ.ตรัง ชาวสวนยางเริ่มกรีดยางน้อยลง ทั้งจากสาเหตุราคาตกต่ำ และฝนตกบ่อยครั้ง โดยขณะนี้น้ำยางสดเหลือราคากิโลกรัมละ 33-35 บาท ต่างก็บ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า ทุกรายเดือดร้อนอย่างหนักจากราคาที่ตกต่ำมายาวนานมากที่สุดในรอบนับปี และมีแนวโน้มราคาจะลดต่ำลงเรื่อยๆ ทำให้มีรายได้ไม่เพียงพอรายจ่าย โดยรายได้หดหายไปประมาณ 70-80% ของแต่ละวัน ส่วนใหญ่เป็นหนี้สินทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ ทำให้เดือดร้อนเป็นอย่างมาก

นายประสิทธิ์ อะโข อายุ 46 ปี ชาวสวนยาง ต.บางหมาก กล่าวว่า อยากเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือให้ได้ที่ราคากิโลกรัมละ 50 – 60 บาท ชาวสวนก็สามารถอยู่ได้ แต่ขณะนี้ทุกคนเดือดร้อนหมด ขณะที่นายธรรมดีศักดิ์ อั้นเต้ง อายุ 39 ปี พ่อค้ารับซื้อน้ำยางสด กล่าวว่า ในช่วงตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กุมภาพันธ์ของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงฤดูกรีดยางพารา วอนขอให้รัฐบาลช่วยเหลือในการประกันราคาน้ำยางสดให้ได้ที่กิโลกรัมละ 50 บาท จะไม่เรียกร้องราคา 60-70 บาท แต่ขอให้ช่วยประกันราคาที่กิโลกรัมละ 50 บาท ชาวสวนยางก็สามารถอยู่รอดได้

ด้านนางนงเยาว์ ด้วงแก้ว อายุ 60 ปี ชาวสวนยาง ต.ละมอ อ.นาโยง กล่าวว่า ขณะนี้ตนเองและชาวบ้านทุกคนเดือดร้อนหนักจากฝนตกกรีดยางพาราไม่ได้ และราคายางตกต่ำ แต่ละคนมีรายได้ไม่พอรายจ่ายในครัวเรือน ลูกหลานไม่มีเงินไปเรียนหนังสือ แต่ละคนต้องกู้หนี้ยืมสินมาใช้จ่าย รวมทั้งหนี้ ธ.ก.ส.ก็ไม่มีปัญญาจ่าย ขณะที่สินค้าค่าครองชีพแพงทุกประเภท ต่างได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก โดยที่รัฐบาลหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องยางพารา ไม่เคยเหลียวแลแก้ปัญหาความเดือดร้อนช่วยเหลือชาวสวน เพราะปัญหาราคายางตกต่ำมีมาโดยตลอด และไม่เคยมีใครออกมาพูดถึง วอนให้หน่วยงานที่รับผิดชอบและรัฐบาลช่วยเหลือให้ได้ในราคาที่ยืนอยู่ที่กิโลกรัมละ 50-60 บาท ก็จะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรให้พออยู่รอดได้

 

 

ที่มา : มติชนออนไลน์