“รัฐฉาน” บูมท่องเที่ยว อ้าแขนรับนักลงทุนไทย !

ผู้ช่วยรัฐมนตรีพาณิชย์ควงนักธุรกิจเหนือร่วมมหกรรมค้าชายแดนแม่สาย เผยมูลค่านำเข้า-ส่งออก ไทย-เมียนมา 1.2 หมื่นล้านบาท พร้อมประชุมร่วมรัฐฉานหาช่องทางลงทุน ชี้ศักยภาพด้านเกษตรสูง ด้านรัฐมนตรีคลังรัฐฉานเผยต้องการนักลงทุนด้านไฟฟ้าอันดับหนึ่ง พร้อมหนุนลงทุนท่องเที่ยว เปิดโอกาสต่างชาติเช่าที่ดิน 30 ปี สร้างรีสอร์ต

เมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงพาณิชย์ นำโดยนายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เดินทางไปร่วมงานมหกรรมการค้าชายแดน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-29 สิงหาคมที่ผ่านมา ถือเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้น ในงานมีการประชุมจับคู่ธุรกิจ ประกอบไปด้วย ประธานหอการค้าจังหวัดภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน แพร่ และ 4 จังหวัดของรัฐฉาน ได้แก่ เมืองตองยี เชียงตุง ท่าขี้เหล็ก และมูเซ-น้ำคำ นักธุรกิจจากฝั่งไทยกับรัฐฉานเข้าร่วมประชุมประมาณ 60 ราย ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติให้ตั้งศูนย์ความร่วมมือทางการค้าไทย-เมียนมา ที่หอการค้าแม่สาย เพื่อร่วมประชุมกันทุก 3 เดือน เพื่อแก้ไขปัญหาในด้านการค้าการลงทุน ซึ่งปัจจุบันรัฐฉานต้องการลงทุนเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่าง ๆ ที่ยังล้าหลังอยู่

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศเล็งเห็นศักยภาพของรัฐฉานหลายด้าน โดยเป็นพื้นที่ใหญ่ 1 ใน 4 ของประเทศเมียนมา มีประชากร 6 ล้านคน จากทั้งประเทศ 14 ล้านคน แม้ไม่ใช่เมืองเศรษฐกิจ แต่มีพื้นที่เกษตรดีที่สุด มีศักยภาพสูง สิ่งสำคัญเป็นพื้นที่ใหม่สำหรับอุตสาหกรรม โดยการลงทุนในรัฐฉานปัจจุบันยังไม่สามารถคาดการณ์เรื่องมูลค่าการลงทุนได้ แต่ประเทศไทยวางแผนการลงทุนไว้ คือ ไฟฟ้า ธนาคาร ธุรกิจโรงแรม การแปรรูปเกษตร และปศุสัตว์ โดยจะเน้นไปที่กลุ่มนักลงทุนท้องถิ่น และนักลงทุนรายย่อยของสองฝั่งไทยกับรัฐฉานเป็นหลัก

ที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการเข้าไปลงทุนด้านปศุสัตว์ ด้วยการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ในรัฐฉาน อาทิ ส่งเสริมการเลี้ยงไก่ โคนม ซึ่งรัฐฉานมีโคนมอยู่เพียง 3,200 ตัว ต้องนำเข้านมและผลิตภัณฑ์นมจากต่างประเทศปีละประมาณ 100 ล้านเหรียญ นอกจากนั้นยังมีธุรกิจที่น่าสนใจมากมาย เช่น โรงแรม รีสอร์ต เพราะรัฐฉานมีแหล่งท่องเที่ยวค่อนข้างหลากหลาย แต่โรงแรมที่พักของคนท้องถิ่นยังไม่มีมาตรฐานเท่าที่ควร

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจอีกอย่าง เช่น การแปรรูปเกษตร เพราะพื้นที่การเกษตรของรัฐฉานนั้นมีคุณภาพ และมีผลผลิตมาก ไม่ว่าจะเป็น ข้าว มันฝรั่ง กะหล่ำปลี ผักผลไม้ โดยเฉพาะพืชเมืองหนาว ทั้งยังมีธนาคารพาณิชย์ที่ได้เข้าไปเทรนเอสเอ็มอีของรัฐฉาน รวมไปถึงธนาคารอื่น ๆ ที่จะได้เริ่มเข้าไปลงทุนในรัฐฉานภายในปีนี้ เพราะที่ผ่านมาประเทศเมียนมามีธนาคารจากประเทศไทยเพียงธนาคารเดียว คือ ธนาคารกรุงเทพ

นายไซ แสง ทิบ หลวง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแห่งรัฐฉาน เปิดเผยว่า งบฯการลงทุนที่รัฐฉานอนุมัติร่วมทุนกับต่างประเทศ ปัจจุบันสามารถอนุมัติให้รวมแล้วไม่เกิน 50 ล้านดอลลาร์ โดยสิ่งที่รัฐฉานต้องการที่สุด คือ การลงทุนทางด้านไฟฟ้า ตอนนี้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)ได้มีการลงทุนร่วมกับบริษัทท้องถิ่นในนามบริษัท ไตรสยาม จำกัด เพื่อให้ดำเนินการนำไฟฟ้าเข้ามาในรัฐฉาน มีการอนุมัติให้นำไฟฟ้าเข้ามาได้เพียง 30 เมกะวัตต์ แต่หากเกินกว่านั้นต้องผ่านการอนุมัติจากรัฐบาลกลาง ขณะนี้กำลังทำการสำรวจพื้นที่อยู่

“การลงทุนที่ทำได้ทันทีภายในรัฐฉาน คือ การท่องเที่ยว รัฐฉานกำลังทำการประชาสัมพันธ์และสำรวจพื้นที่ เพราะยังมีพื้นที่หลายแห่งยังไม่ได้เปิดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ปัจจุบันรีสอร์ตในรัฐฉานส่วนใหญ่ยังคงเป็นของคนในท้องถิ่น ส่วนนักลงทุนที่เข้าไปทำรีสอร์ต นั้นยังไม่สามารถเป็นเจ้าของที่ดินได้ตามกฎหมาย เป็นเพียงการเปิดให้เช่าเท่านั้น ระยะเวลาอย่างน้อย 30 ปี หากทางฝั่งไทยสนใจเข้าไปลงทุน ทางรัฐฉานก็ยินดี” นายไซ แสง ทิบ หลวง กล่าว

มหกรรมค้าชายแดนแม่สาย – นายไซ แสง ทิบ หลวง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแห่งรัฐฉาน และนายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เดินชมสินค้าที่นำมาจัดแสดงในงานมหกรรมการค้าชายแดนแม่สาย จังหวัดเชียงรายที่โรงแรมแม่โขงเดลต้าบูติก เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2560

การลงทุนในรัฐฉาน นอกจากประเทศไทยแล้ว ประเทศจีนเริ่มเข้ามาคุยการลงทุนในเรื่องการสร้างถนน รถไฟ สนามบิน เน้นไปทางคมนาคม เป็นโครงการใหญ่ที่ยังไม่ลงตัว ส่วนญี่ปุ่น การลงทุนจะเน้นในเรื่องการให้ความรู้ด้านการผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ญี่ปุ่นสนใจการสานผ้าจากใยบัวในหนองอินเลของรัฐฉาน รวมไปถึงเรื่องโรงงาน การเกษตร การส่งออกไปยังยุโรป คาดว่าการลงทุนและการส่งออกของรัฐฉานจะมีการเติบโตขึ้นอย่างแน่นอน

ด้านนายนิติ แสงสุขแสง ผู้อำนวยการกองความร่วมมือการค้าการลงทุน กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการไปจัดแสดงสินค้าที่เมืองตองยี เมื่อปีที่แล้ว มีผู้ประกอบการเข้าร่วม 118 ราย คาดว่ามียอดเงินสะพัดรวม 50 ล้านบาท และจะมียอดการสั่งซื้อสินค้ารวมระยะเวลาอีก 1 ปี มูลค่าประมาณ 170 ล้านบาท ทั้งมีการจับคู่ธุรกิจรวมมูลค่าประมาณ 20 ล้านบาท โดยนักธุรกิจคนไทย 18 ราย กับหอการค้า 4 จังหวัดของรัฐฉาน ได้แก่ เมืองตองยี เชียงตุง ท่าขี้เหล็ก และมูเซ-น้ำคำ ส่วนงานมหกรรมการค้าที่อำเภอแม่สาย คาดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีเช่นกัน

นางพิมล ปงกองแก้ว พาณิชย์จังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า ในปี 2559 มูลค่าการค้าชายแดนไทย ทั้งนำเข้าและส่งออกประมาณ 4.4 หมื่นล้านบาท แยกเป็นระหว่างไทย-ลาว 18,198.15 ล้านบาท ไทย-เมียนมา 12,379.24 ล้านบาท และไทย-จีน 14,236.82 ล้านบาท ด่านหลักที่มีการค้าส่งออกคือ ด่านเชียงของ ด่านแม่สาย และด่านเชียงแสน คาดว่าปีนี้น่าจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา แต่ยังคงมีปัจจัยภายนอกทั้งเรื่องกฎระเบียบของประเทศต่าง ๆ ทำให้มูลค่าการค้าไทยยังประเมินไม่ได้ ซึ่งการจัดมหกรรมการค้าชายแดนถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นการค้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านได้ ส่วนการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างไทยกับรัฐฉาน ถือเป็นโอกาสที่ดีของการลงทุนในด้านต่าง ๆ แม้จะยังไม่มีนักลงทุนจากรัฐฉานเข้ามาทางฝั่งไทย แต่รัฐฉานอยากให้นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนด้วย