ผลิตภัณฑ์ “ผักตบ” อยุธยาโกอินเตอร์ ผนึกคิง เพาเวอร์ขายบนเครื่องบิน

ปัญหาสำคัญที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมสำหรับแม่น้ำลำคลองไทย โดยเฉพาะเรื่องพืชต่างถิ่นนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าผักตบชวาเป็นภาพอย่างเป็นรูปธรรมแรก ๆ ที่คนนึกถึงเนื่องจากการกีดขวางทางสัญจรทางน้ำและการระบายน้ำ ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้เกิดการระบายไม่ทันและน้ำท่วม ทั้งยังแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วทำให้ไม่สามารถจัดการได้โดยง่าย แม้จะมีกระบวนการจัดการที่รวดเร็วเพียงใด แต่ท้ายที่สุดผักตบชวาก็จะเร่งขยายพันธุ์จนเต็มแม่น้ำดังเดิม จึงนำไปสู่แนวคิดการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ประโยชน์ สร้างรายได้ และรักษาสภาพแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านหนองเครือบุญ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา นับได้ว่าเป็นหนึ่งในการรวมตัวของภาคประชาชนที่มีแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผักตบชวาอย่างชัดเจน โดยอาศัยความรู้ด้านการทอผ้าดั้งเดิมมาต่อยอด โดย “ดาริณี ตามเพิ่ม” ที่ปรึกษากลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านหนองเครือบุญ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2561 ผลิตภัณฑ์ผ้าจากเส้นใยผักตบชวามียอดขายเฉลี่ย 200,000 บาท/เดือน โดยผ้าจากเส้นใยผักตบชวาจะขายในราคา 500 บาท/เมตร ซึ่งการตัดเสื้อ 1 ตัวจะใช้ผ้า 3 เมตร ตีเป็นผักตบชวาจำนวน 1 ตัน รวมค่าตัดอยู่ที่ 2,500-5,000 บาท/ตัว

เกาะอีเวนต์-ร่วมคิง เพาเวอร์

ส่วนการขายเสื้อผ้าจากเส้นใยผักตบชวานั้น จะแบ่งเป็นการออกงานอีเวนต์ต่าง ๆ เช่น งาน OTOP ที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี จะมียอดขายอยู่ 16,000-20,000 บาท/วัน เป็นต้น นอกจากนี้มียอดขายจากช่องทางออนไลน์ ได้แก่ เฟซบุ๊ก ไลน์ ช้อปปี้ ซึ่งโดยมากลูกค้าเป็นกลุ่มข้าราชการในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมถึงชาวต่างชาติที่มักสนใจในผลิตภัณฑ์แปรรูปขนาดเล็ก ได้แก่ key cover หรือกระเป๋าใส่กุญแจที่มีราคาเพียง 50-100 บาท ยิ่งไปกว่านั้นล่าสุดยังได้ผลิตบางส่วนเข้าโครงการร่วมกับคิง เพาเวอร์ในการขายบนเครื่องบินอีกด้วย

“เสื้อ 1 ตัวต้องใช้ผักตบชวาถึง 1 ตัน ทำให้การนำผักตบชวามาเป็นวัตถุดิบถือเป็นการอนุรักษ์ธรรมชาติ และเส้นใยของผักตบชวายังมีน้ำหนักเบา ซึมซับเหงื่อได้ดี โดยลักษณะของเส้นใยที่อยู่ในเนื้อผ้าจะเป็นลายที่กลุ่มวิสาหกิจคิดค้นขึ้นมา ได้แก่ ลายหินอ่อน ซึ่งมีสีเข้มของเส้นใย โดยเส้นใยที่ใช้ทำมาจากใบผักตบชวาที่รอบ ๆ มีความแก่ ส่วนอีกลายคือลายงาช้าง ใช้ต้นผักตบชวาที่มีอายุประมาณ 6 เดือน ทำให้เมื่อตีออกมาเป็นเส้นใยจะมีสีเขียวอ่อน พอแห้งสีจะออกขาวนวลเหมือนงาช้าง โดยทั้งหมดจะใช้กระบวนการธรรมชาติในการจัดทำ ไม่ได้ผ่านกระบวนการความร้อน เมื่อหลังจากขึ้นเส้นด้ายก็จะส่งต่อให้กลุ่มทอผ้าบ้านหนองเครือบุญทอเป็นผืนผ้า จากนั้นแปรรูปตัดเย็บเองเบ็ดเสร็จในกลุ่ม” ดาริณีกล่าว

แปรรูปขายทุกส่วน

นอกจากผ้าจากเส้นใยผักจบชวานั้น การแปรรูปผักตบชวายังสามารถสร้างผลิตภัณฑ์อีกมากที่เพิ่มรายได้ให้แก่วิสาหกิจชุมชน เช่น เส้นใยแห้งจำหน่ายอยู่ที่ กก.ละ 1,000 บาท เส้นใยอ่อนผสมเปลือกตากแห้ง ซึ่งสามารถขายให้บริษัทเอกชนที่ประกอบการด้านการก่อสร้างในราคา กก.ละ 1,000 บาท เพราะมีคุณสมบัติในการกันไฟลาม

ในขณะที่เปลือกและฟองน้ำสามารถเอาไปทำกระดาษ ขายได้แผ่นละ 15 บาท ซึ่งยังสามารถเอากระดาษดังกล่าวไปแปรรูปเป็นจานได้อีกด้วย ส่วนใจกลางของผักตบชวาสามารถนำไปทำอาหารได้ ทั้งส่วนไหลผักตบชวาและยอดอ่อน ขายได้ราคา 350 บาท/กก. โดยรสชาติจะต่างจากไหลบัวตรงที่กรอบกว่า เพราะไหลผักตบชวาไม่มีรูอากาศเหมือนไหลบัว ให้รสสัมผัสที่แน่นและกรอบ

วิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านหนองเครือบุญ อ.ภาชี ทำการแปรรูปเส้นใยผักตบชวามาแล้วทั้งสิ้น 2 ปี โดยก่อตั้งในปี 2538 ในฐานะกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าขาวม้า ทำให้มีภูมิปัญญาด้านการทอผ้า ต่อมา ดร.สุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีนโยบายให้คิดนวัตกรรมใช้ประโยชน์จากผักตบชวา เพื่อไม่ให้งบประมาณในการกำจัดสูญเปล่า และนำไปสู่การนำมาแปรรูปเป็นเส้นใยเพื่อทอผ้า โดยช่วงแรกเป็นการขายเป็นผืน แต่ต่อมาลูกค้าที่ซื้อยกเครือต้องการความสะดวกสบายส่งกลับมาจ้างตัดเสื้อ ทำให้เริ่มมีการสั่งซื้อเฉพาะผ้าเมตรน้อยลง แต่มียอดสั่งซื้อผ้าสำเร็จมากขึ้น

การแก้ปัญหาผักตบชวาด้วยแนวทางการสร้างรายได้ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจในการจูงใจภาคประชาชนให้ช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศ ทั้งยังมีแนวโน้มสามารถพัฒนาไปสู่การสร้างเศรษฐกิจฐานรากในภาคประชาชนให้เกิดความเข้มแข็งอีกด้วย