ราชบุรีดึงอีสานสกัด ASF ห่างไทย 8 กม. ลงขันซื้อหมูชายแดนมุกดาหาร-ขอรัฐ 500 ล.ไร้ผล

ผนึกกำลังต้าน - สถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในประเทศเพื่อนบ้านสัปดาห์นี้มีความรุนแรงหนักขึ้น โดยเฉพาะชายแดนภาคอีสานที่ติดกับ สปป.ลาว และชายแดนภาคตะวันออกที่ติดกับกัมพูชา ดังนั้นวงการผู้เลี้ยงหมูจึงผนึกกำลังกันอย่างเต็มที่ในการป้องกันโรค เพื่อสกัดโรคไม่ให้เข้าประเทศไทย

ราชบุรีผนึก 16 จังหวัดอีสานสกัดโรค AFS พร้อมนำเงินกองทุนชดเชยฯจากราชบุรีหนุนทัพหน้า ให้ยืมซื้อหมูจากผู้เลี้ยงรายย่อยติดชายแดนในมุกดาหาร หลังโรคระบาดหนักแขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว อยู่ห่างไทยแค่ 8 กม. หวังสร้าง buffer zone ก่อนโรคแพร่ระบาดเสียหายยับทั้งระบบ 2 แสนล้าน เผยวิ่งพบ รมช.ประภัตร ลุ้นของบฯรัฐ 500 ล้านบาท ซื้อหมูจากผู้เลี้ยงรายย่อยริมโขง 1 ล้านตัว แต่คงอีกยาวไกล เหตุวาระแห่งชาติ 1 ปียังไร้ผลทางปฏิบัติที่ควรจะเป็น

ท่ามกลางความเคลื่อนไหวที่ร้อนแรงในวงการผู้เลี้ยงสุกร 6 ภาค เนื่องจาก “โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร” (African Swine Fever หรือ ASF) ได้แพร่ระบาดมาประชิดติดชายแดนไทยเพียงไม่กี่กิโลเมตร โดยเฉพาะ 3 จังหวัด สปป.ลาว ที่ติดกับชายแดนภาคอีสานของไทย คือ สะหวันะเขต สาละวัน เวียงจันทร์ และ 5 จังหวัดในกัมพูชาที่ติดกับชายแดนภาคตะวันออกของไทย ได้แก่ รัตนคีรี ตโบงฆมุม สวายเรียง ตาแก้ว กันดาล ทำให้มีความเสี่ยงสูงที่โรคจะระบาดเข้าสู่ประเทศไทย

ส่งผลให้ผู้เลี้ยงในจังหวัดราชบุรี ที่เปรียบเสมือน “เมืองหลวง” ของคนเลี้ยงสุกร ลงขันเพื่อจัดตั้ง “กองทุนชดเชยและป้องกัน ASF” ขึ้นมา ขณะที่ “วาระแห่งชาติ” ที่ผ่านมติคณะรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2561 ไม่ได้รับการตอบสนองในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง

นายสัตวแพทย์วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และประธานสหกรณ์การเกษตรปศุสัตว์ราชบุรี จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อสัปดาห์ก่อนได้ไปพบนายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้นำเงินงบประมาณ 300-500 ล้านบาทไปใช้ซื้อลูกหมูจากผู้เลี้ยงรายย่อยใน 16 จังหวัด บริเวณริมแม่น้ำโขงที่มีชายแดนติดกับประเทศกัมพูชา และ สปป.ลาว ประมาณ 1 ล้านตัว เพื่อสร้างเขตกันชน (buffer zone) ที่ชายแดน เนื่องจากกำลังเกิดการระบาดหนักใน 2 ประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้โรค ASF เกิดการระเบิด เนื่องจากผู้เลี้ยงรายย่อยส่วนใหญ่ไม่มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (biosecurity) ซึ่งนายประภัตรตระหนักถึงปัญหา และให้กรมปศุสัตว์รวบรวมข้อมูลอยู่ ระหว่างนี้ผู้เลี้ยงต้องร่วมมือร่วมใจลงขันช่วยเหลือกันเองไปก่อน

วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย

“บทเรียนการระบาดของโรค ASF ไล่ตั้งแต่ยุโรป รัสเซีย จีน มาถึง สปป.ลาว และกัมพูชา จุดอ่อนของการแพร่ระบาด คือ ความไม่ร่วมมือกัน เกิดความเห็นแก่ตัว มีการลักลอบเชือดหมูไปขายทำให้เกิดการกระจายของโรคอย่างรวดเร็ว การแพร่ระบาดในจีน ‘ล้มเหลว’ เพราะคิดว่ารัฐบาลปกครองโดยระบบคอมมิวนิสต์จะควบคุมป้องกันโรคได้ แต่ใช้เวลาเพียง 4 เดือนระบาดไปทั่วประเทศ หรือในเวียดนามแพร่ระบาดจากฮานอยไปโฮจิมินห์เพียงคืนเดียว”

นายแพทย์วิวัฒน์กล่าวว่า นี่เป็นเหตุให้ผู้เลี้ยงสุกรในราชบุรีระดมทุนกันอย่างรุนแรง เพราะราชบุรีจะเกิดการระบาดของโรคไม่ได้ ถ้าราชบุรีเกิดโรคระบาดเท่ากับเสียเมืองหลวง เท่ากับอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรทั้งห่วงโซ่มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาทจะได้รับผลกระทบ ดังนั้น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาทางสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี และสหกรณ์การเกษตรปศุสัตว์ราชบุรี จำกัด จึงมีมติเอกฉันท์ร่วมมือร่วมใจกันหาแนวทางป้องกันเป็น “ราชบุรีโมเดล” และพร้อมใจจัดตั้งกองทุน โดยเก็บเงินจากผู้เลี้ยงที่มีแม่พันธุ์ 30 บาท/แม่ และหมูขุน 5 บาท/ตัว คาดว่าจะได้เงินประมาณ 15 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ทางสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้ทำหนังสือถึงผู้เลี้ยงทั่วประเทศ เพื่อขอความร่วมมือในการส่งเงินสมทบเข้ากองทุน โดยข้อมูลจากกรมปศุสัตว์รายงานว่า ปัจจุบันมีแม่หมูทั่วประเทศ 1.4 ล้านตัว หมูขุน 24 ล้านตัว มีเกษตรกร 196,000 ราย คาดว่าน่าจะเก็บเงินได้ประมาณ 100 ล้านบาท แต่คงไม่เพียงพอไปซื้อหมูชายแดนทั้งหมด แต่ซื้อได้เพียงบางส่วน ปัจจุบันราคาหมูขุนตัวละ 5,000 บาท ก็จ่ายให้ผู้เลี้ยงรายย่อยตัวละ 5,500 บาท เพื่อจูงใจก่อน และหากโรคเข้ามาเกิดการระบาดต้องฝังทำลาย สามารถนำเงินจากกองทุนนี้ไปจ่ายชดเชยให้ผู้เลี้ยงรายย่อยก่อน เพราะเงินชดเชยจากภาครัฐยังไม่มีการหารือกัน

“อย่างตอนนี้การระบาดของโรคใกล้สุดอยู่ที่แขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว อยู่ห่างจากจังหวัดมุกดาหารเพียง 8 กม. มีแม่น้ำโขงกั้น ดังนั้น จึงได้หารือกับนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดินแผน 2 ถึงความเป็นไปได้ในการซื้อหมูจากผู้เลี้ยงรายย่อยในรัศมี 1 กม. บริเวณด่านประเพณี (ช่องทางธรรมชาติตามแนวชายแดน) 3 แห่งในมุกดาหารที่เป็นจุดเสี่ยงมาบริหารจัดการ โดยทางราชบุรีอาจจะให้ยืมเงินไปก่อน เพราะสมาคมภาคอีสานจะนัดคุยเรื่องการจัดตั้งกองทุนในวันที่ 25 ก.ค.นี้ และหากรอเงินงบประมาณจากภาครัฐคงไม่ทัน”

สำหรับข้อมูลด่านชายแดนทั้งหมด มีด่านหลักที่อยู่ติดกับกัมพูชา 8 ด่าน ขณะที่มีด่านย่อยอีก 168 ด่าน ปัจจุบันกรมปศุสัตว์ได้ย้ายเจ้าหน้าที่จากกองสารวัตรและด่านกักกันจากทั่วประเทศไปเฝ้าตามด่านทั้งหมดแล้ว

 

“ผู้เลี้ยงอีสาน” รุกประชุมใหญ่รับมือ

นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ เจ้าของบริษัท สิทธิภัณฑ์ฟาร์ม จำกัด และบริษัท สุขพรหมมาศ จำกัด จ.ชัยภูมิ ในฐานะนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ตอนนี้บริเวณชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านในภาคอีสานถือว่าเป็นเมืองหน้าด่านที่มีความเสี่ยงที่สุด ดังนั้น ในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้ได้นัดประชุมสมาชิก 20 จังหวัด เพื่อเตรียมหารือถึงการจัดตั้งกองทุนเพื่อนำเงินไปชดเชยรายย่อย ซึ่งตั้งเป้าว่าอาจจะเก็บแม่พันธุ์ 20 บาท/ตัว หมูขุน 5 บาท/ตัว โดยปัจจุบันแม่หมูในภาคอีสานรวมทั้งหมดประมาณ 186,000 ตัว ในสัดส่วนนี้แบ่งเป็นของเครือ ซี.พี. และเครือเบทาโกร รวมกันประมาณ 50% หมูขุน 1.2 ล้านตัว จึงคาดว่าจะเก็บเงินได้ประมาณ 10 ล้านบาท

“เวลาเกิดโรคระบาดรัฐบาลจะมีเงินช่วยเหลือ 75% ของมูลค่า ทางสมาคมจะนำเงินของภาคเอกชนไปสมทบให้ผู้เลี้ยงรายย่อยได้ครบ 100% เพื่อมีแรงจูงใจรีบแจ้งเวลาเกิดโรคระบาดเข้าไปในฟาร์ม จะได้ไม่เกิดการลักลอบเคลื่อนย้าย ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงที่สุดเลย เพราะหากมีการลักลอบจะเป็นตัวกระจายโรคให้ลุกลามไปมากที่สุดเลย”

โดยจังหวัดที่มีแม่พันธุ์มากที่สุด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ ขอนแก่น โดยจังหวัดที่มีผู้เลี้ยงรายย่อยมากสุด เช่น ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ สุรินทร์

นายสิทธิพันธ์กล่าวต่อไปว่า ตั้งแต่ข่าวการแพร่ระบาดออกไป เริ่มเห็นภาพการลดลงของการเลี้ยงในเดือนมิถุนายน และกรกฎาคม 2562 มีการเทขายออกมากขึ้น เนื่องจากไม่อยากจะเสี่ยง พอขายได้ก็รีบขาย ส่งผลกระทบให้ราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มลดลงอย่างรวดเร็วมากถึง 10 บาท จาก 75 บาทต่อกิโลกรัม ตอนนี้เหลือ 64-65 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ต้นทุน 62-64 บาทต่อกิโลกรัม

แหล่งข่าวจากวงการสุกรเปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้เลี้ยงสุกร 3 รายใหญ่ของประเทศ ได้แก่ เครือ ซี.พี. น่าจะมีแม่หมูรวมกันประมาณ 3 แสนแม่ หรือคิดเป็นสัดส่วน 30% ของปริมาณการเลี้ยงทั้งประเทศ ส่วนเครือเบทาโกร และไทยฟู้ดส์ฯ น่าจะใกล้เคียงกันรายละประมาณ 1 แสนแม่