เชียงใหม่เชื่อมสัมพันธ์ญี่ปุ่น-จีน-อินเดีย

“เชียงใหม่” เร่งเดินหน้าขยายโครงการบ้านพี่เมืองน้องครอบที่คลุมประเทศกลุ่มเอเชีย วาดแผนปี 2563 เชื่อมสัมพันธ์ 3 ประเทศยักษ์ใหญ่ ญี่ปุ่น-จีน-อินเดีย ผลักดันการค้า-ลงทุน-ท่องเที่ยว

นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายสำคัญในการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน และต่างประเทศในลักษณะบ้านพี่เมืองน้อง ทั้งนี้เพื่อเชื่อมโยงด้านการค้า การลงทุน วัฒนธรรม และการศึกษา โดยจะมีกิจกรรมด้านแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวและวัฒนธรรม ส่งเสริมการท่องเที่ยว แลกเปลี่ยนการไปมาหาสู่กันมากขึ้น รวมทั้งช่วยเหลือกันและกัน ร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจสังคม และพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ถือว่าเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูงที่มีหลายจังหวัดได้มาสร้างความสัมพันธ์เป็นเมืองพี่เมืองน้องกับจังหวัด/นครของประเทศต่าง ๆ ใน 3 ระดับ ได้แก่ ระดับจังหวัด ประกอบด้วย มหานครเซี่ยงไฮ้, นครชิงเต่า, มหานครฉงชิ่ง, นครเฉิงตู (สาธารณรัฐประชาชนจีน), จังหวัดยอกยาการ์ตา (สาธารณรัฐอินโดนีเซีย) เมืองบูร์ซา (สาธารณรัฐตุรกี), จังหวัดฮอกไกโด (ประเทศญี่ปุ่น) และเมืองเชียงตุง (สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา)

ขณะที่ในระดับเทศบาล ประกอบด้วย เมืองอูโอสึ จังหวัดโทยามะ และจังหวัดไซตามะ (ประเทศญี่ปุ่น), นครคุนหมิง (สาธารณรัฐประชาชนจีน), นครฮาร์บิ้น (สาธารณรัฐประชาชนจีน) ระดับหอการค้า ได้แก่ เมืองลียง (ฝรั่งเศส), จิตตะกอง (บังกลาเทศ), เขตปกครองสิบสองปันนา, มณฑลยูนนาน, มณฑลเสฉวน, เมืองหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซี, ชิงเต่า มณฑลซานตง (สาธารณรัฐประชาชนจีน), มณฑลซีอาน, มณฑลหนิงเซียะ สป.จีน, สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ได้แก่ เชียงตุง ตองยี มัณฑะเลย์ และท่าขี้เหล็ก, ประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ โอซากา เป็นต้น

นายศุภชัยกล่าวต่อว่า แผนงานในปี 2563 จังหวัดเชียงใหม่จะขยายความร่วมมือกับหลายประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มเอเชีย ที่มีอีกหลายเมืองแสดงความสนใจร่วมโครงการ ซึ่งเป้าหมายในปีหน้า (2563) จะทำความร่วมมือกับ 3 ประเทศ คือ เมืองมิเอะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีความโดดเด่นในอุตสาหกรรมประมงและอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนอีก 2 ประเทศที่จะขยายความร่วมมือ ได้แก่ จีน-เมืองชิงเต่า-สิบสองปันนา และอินเดีย-รัฐอัสสัม

สำหรับกิจกรรมสำคัญจะมีการจัด roadshow การลงนาม MOU พร้อมการจับคู่ธุรกิจเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงการค้า การลงทุน ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ รวมถึงการจัดงานแสดงสินค้า ทั้งนี้ กรอบความร่วมมือของโครงการระหว่างจังหวัดเชียงใหม่กับประเทศต่าง ๆ อาทิ ความร่วมมือกับมหานครเซี่ยงไฮ้ ได้วางกรอบความตกลงร่วมกัน (MOU : Memorandum of understanding) มีความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วัฒนธรรม การศึกษา การกีฬา สาธารณสุข และการแลกเปลี่ยนและพัฒนาบุคลากรในด้านต่าง ๆ เพื่อความเจริญก้าวหน้าร่วมกัน เช่น

มหานครฉงชิ่ง (สาธารณรัฐประชาชนจีน) กรอบความตกลงร่วมกัน เพื่อส่งเสริมความมั่งคั่งของทั้ง 2 ฝ่ายและพัฒนาบนพื้นฐานของความเสมอภาค และจะต้องสนับสนุนการประสานงานและการเยือนของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของทั้ง 2 ฝ่ายอย่างต่อเนื่องและจริงจัง โดยจะต้องมีการจัดทำแผนความร่วมมือระหว่างกันให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลทั้ง 2 ฝ่าย

นครชิงเต่า (สาธารณรัฐประชาชนจีน) กรอบความตกลงร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมความมั่นคงของทั้ง 2 ฝ่าย และพัฒนาบนพื้นฐานของความเสมอภาค โดยจะสนับสนุนการประสานงานและการเยือนของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของทั้ง 2 ฝ่าย และจัดทำแผนความร่วมมือระหว่างกัน โดยสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลทั้ง 2 ฝ่าย

นครเฉิงตู สาธารณรัฐประชาชนจีนร่วมกันเพื่อส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองและการพัฒนาบนพื้นฐานความเท่าเทียมและผลประโยชน์ร่วมกัน จังหวัดยอกยาการ์ตา (สาธารณรัฐอินโดนีเซีย) กรอบความตกลงร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมความมั่นคงของทั้ง 2 ฝ่าย และพัฒนาบนพื้นฐานของความเสมอภาคจะสนับสนุนการประสานงานและการเยือนของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของทั้ง 2 ฝ่าย โดยการจัดทำแผนความร่วมมือระหว่างกันโดยสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลทั้ง 2 ฝ่าย

เมืองบูร์ซา (สาธารณรัฐตุรกี) จังหวัดเชียงใหม่ได้ลงนามการสถาปนาเมืองพี่เมืองน้องกับเมืองบูร์ซา สาธารณรัฐตุรกี โดยมีแนวทางความร่วมมือในมิติการศึกษา การท่องเที่ยว การค้าและการลงทุน ขณะที่เมืองเชียงตุง (สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา) ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อการสถาปนาเมืองพี่เมืองน้องกับเมืองเชียงตุง เพื่อส่งเสริมความมั่นคงและการพัฒนาร่วมกันบนพื้นฐานความเท่าเทียมและผลประโยชน์ร่วมกัน