ตราด-จันทบุรี ดัน ไฮสปีด เฟส 2 หนุนรัฐมองข้ามจุดคุ้มทุน-เชื่อม CVTEC

รถไฟความเร็วสูง

เมื่อวันที่ 4-6 สิงหาคม 2563 การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้นโครงการวิเคราะห์และศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ สังคม การเงิน และแนวทางการลงทุนที่เหมาะสม ตลอดจนงานออกแบบเบื้องต้นโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะที่ 2 ส่วนต่อขยายระยอง-จันทบุรี-ตราด ในเวที 3 จังหวัด ก่อนนำข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนประกอบผลการศึกษาเสนอ ร.ฟ.ท.เพื่อขออนุมัติโครงการตามขั้นตอนต่อไป หาก ครม.อนุมัติภายในปี 2564 คาดว่าจะศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และรูปแบบการร่วมลงทุนเอกชน (PPP) ภายในปี 2565 จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนการหาเอกชนร่วมลงทุน คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปี 2567 และ 4 ปี แล้วเสร็จปี 2571

ตราดชี้มองข้ามจุดคุ้มทุนดันเศรษฐกิจ

นายวศิน พงษ์ศิริ ที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแก้ปัญหา การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า จังหวัดตราดแม้จะมีประชากร 200,000 คนเศษ แต่เป็นจังหวัดท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวปีละ 2 ล้านคน และติดชายแดนเชื่อม 3 จังหวัดของกัมพูชา เกาะกง โพธิสัตว์ พระตะบอง มีประชากรมากกว่า 2 ล้านคน การทำโครงการรถไฟความเร็วสูงเป็นโอกาสการค้า การลงทุนและสร้างคุณภาพชีวิต

นายสุรศักดิ์ ภูติภัทร์ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดตราด กล่าวกับ”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การสร้างโครงการมาถึงจังหวัดตราดนั้นอยากให้มองข้ามจุดคุ้มทุนที่คิดจากจำนวนผู้โดยสารของแต่ละจังหวัด อู่ตะเภา-ตราดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 5.39% ต่ำกว่าค่ามาตรฐาน 12% เทียบไม่ได้กับอู่ตะเภา-ระยอง อัตรา 9.38% แต่ควรออกแบบเพื่อเตรียมรองรับไว้ก่อน

โดยเฉพาะที่ดินที่ต้องเวนคืนเส้นทางทั้งหมดคราวเดียวกัน คือ รถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่หรือถนนมอเตอร์เวย์เป็นการแชร์ต้นทุนการขนส่งไม่ใช่การแข่งขัน และภาครัฐควรเปลี่ยนความคิดมองจังหวัดตราดเป็นประตูที่เปิดรับต่างประเทศไม่ใช่จังหวัดปิดสุดท้าย โดยการสนับสนุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อำนวยความสะดวกกับนักท่องเที่ยวในภูมิภาคเพื่อนบ้านเพื่อสร้างเศรษฐกิจแนวชายแดนปีละประมาณ 30,000 ล้านบาท แต่นำเข้าเพียง 5,000 ล้านบาท และส่งเสริมฮับด้านสุขภาพให้ลูกค้ากัมพูชาและจีนมาใช้บริการ เพราะตราดติดกับกัมพูชา 3 จังหวัด คือ เกาะกง พระตะบอง โพธิสัตว์ มีประชากรรวมกันกว่า 2 ล้านคน และมีคนจีนเข้ามาลงทุน 30,000-40,000 คน การสร้างระบบการขนส่งที่สะดวกจะเชื่อมโยงท่องเที่ยวทางน้ำจากเวียดนาม กัมพูชา ช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจการค้าชายแดนเกษตรกรรม

สอดคล้องกับ นายสมชาย กลิ่นอยู่ รองประธานหอการค้าจังหวัดตราด ด้านการค้าชายแดนเห็นว่า จังหวัดตราดสามารถทำเส้นทางการท่องเที่ยวเชื่อมโยงได้ทั้งทางบก ทางน้ำ กับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งรัฐบาลมีโครงการเพื่อความร่วมมือระเบียงเศรษฐกิจกัมพูชา เวียดนาม ไทย(CVTEC) อยู่แล้ว จุดคุ้มทุนน่าจะเกิดขึ้น และลักษณะการลงทุนภาคเอกชนร่วมลงทุนจะลดภาระกับรัฐบาล

ทางด้าน นายจตุพัฒน์ ฤกษ์สหกุล ประธาน YEC จ.ตราด และ นายสุทธิลักษณ์ คุ้มครองรักษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ตราด เห็นตรงกันว่า ตำแหน่งสถานีรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่ควรอยู่ร่วมกันเช่นเดียวกับระยองและแกลง สถานีรถไฟความเร็วสูงห่างจากตัวเมือง 2 กิโลเมตร และติดป่าชายเลน โอกาสจะขยายต่อเชื่อมกับรถไฟทางคู่ยาก

ซึ่งเส้นทางรถไฟทางคู่ที่ได้สำรวจไปแล้วห่างจากตัวเมือง 5-6 กิโลเมตร ซึ่งเส้นทางเชื่อมไปถึงคลองใหญ่ที่มีท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ที่โครงการ CVTEC จะใช้ท่าเรือนี้เป็นเส้นทางเชื่อมโยงการท่องเที่ยวทางน้ำ การใช้สถานีร่วมกันสามารถฟรีดเดอร์ผู้โดยสารส่งต่อกันได้ ซึ่งราคาค่าเวนคืนนอกเมืองจะถูกกว่าในเมือง และยังรองรับการเปิดด่านถาวรบ้านท่าเส้น-บ้านทมอดาที่อยู่ห่างไม่ถึง 30 กิโลเมตรอีกด้วย

จันท์หนุนเชื่อมเส้นทางสายไหม

นายสมบัติ สุขคีรี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ต.มาบไพ อ.ขลุง จ.จันทบุรี ระบุว่า ผลการศึกษาแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจะพาดผ่าน อ.ขลุง มีผลกระทบกับชาวบ้านต.มาบไพ จำนวน 4 หมู่บ้าน จากทั้งหมด 5 หมู่บ้าน และ ต.วังสรรพรส 2 หมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านไม่เห็นด้วยกับโครงการ คือ 1) การเวนคืนที่ดิน ชาวบ้าน 100% มีอาชีพทำสวนทุเรียน มังคุด ทำกินมานานไม่ต้องการโยกย้ายไปทำมาหากินแหล่งอื่น และใกล้แหล่งน้ำที่ใช้ในการเกษตร

หรือบางรายที่มีพื้นที่ทำสวนขนาดใหญ่การตัดพาดผ่านผ่ากลางที่ดินสวนทำให้การเดินทางไม่สะดวก เจ้าของที่ดินยังไม่รู้พื้นที่ที่ปลูกทุเรียนที่มีมูลค่าสูงจะได้รับเงินชดเชยอย่างไร ควรแจ้งเจ้าของที่ดินมารับรู้ก่อน หากอยู่ในขั้นตอน EIA อาจจะแก้ไขไม่ได้ และ 3) ชาวบ้านไม่ได้ประโยชน์จากการให้บริการรถไฟความเร็วสูง อัตราค่าโดยสารจากดอนเมือง-จันทบุรี คนละ 825 บาท จากสุวรรณภูมิ 720 บาท ไม่ตอบโจทย์การเดินทางเพราะการเดินทางด้วยรถยนต์ถูกกว่า

ด้าน นายจอมศักดิ์ ภูติรัตน์ กรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และอดีตประธานกรรมการหอการค้า จ.จันทบุรี เห็นด้วยกับโครงการรถไฟความเร็วสูง จะช่วยให้การเดินทางและการเชื่อมโยงเครือข่ายในประเทศและต่างประเทศสะดวกขึ้น

โดยเฉพาะการเชื่อมต่อกับเส้นทาง One Belt One Road ของจีนในอนาคต แม้อัตราค่าโดยสารสูงแต่อีก 8 ปีข้างหน้า เมื่อสนามบินอู่ตะเภาแห่งที่ 3 อยู่ใกล้จันทบุรีเสร็จ นักท่องเที่ยว 200 กว่าล้านคน มีกำลังซื้อสูงเดินทางเข้ามาในประเทศไทย หาก 5-10% เดินทางไปภาคตะวันออกคนในพื้นที่ได้ประโยชน์ การค้าชายแดนมูลค่าจะเพิ่มขึ้น ต่อไปภาคตะวันออกจะเป็นเมืองท่าที่ 2 เป็นการต่อท่อ EEC ให้ถึงจันทบุรีและตราด

ระยองหวั่นปัญหาเวนคืนที่ดิน

นายนพดล ตั้งทรงเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดระยอง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากรับฟังข้อมูลแล้วคาดว่ารูปธรรมในการเกิดโครงการไฮสปีดเทรน ระยะที่ 2 ยังมีความเป็นไปได้ยาก เนื่องจาก 1.ผลการศึกษาแนวเส้นทางโครงการกว้างและไม่มีความชัดเจนทั้งที่ควรศึกษาให้ละเอียดชัดเจน เนื่องจากรัฐบาลอนุมัติงบประมาณให้ ร.ฟ.ท.ศึกษาจำกัดเพียง 37 ล้านบาท ในพื้นที่ 3 จังหวัด จากที่หอการค้าระยองได้เคยเสนอของบประมาณศึกษาโครงการดังกล่าวไว้ในการประชุม ครม.สัญจรจันทบุรีเมื่อปี 2561 จำนวน 200 ล้านบาท

โดยเฉพาะจุดที่จะก่อตั้งสถานีระยอง และทำศูนย์ซ่อมรถไฟจะใช้พื้นที่ 100 ไร่ บอกแต่เพียงว่าอยู่บริเวณบ้านหนองสะพาน หรือเดิมเรียกว่า บ้านน้ำคอก เลยโครงการศุภาลัย การ์เด้นวิลล์ออกไป 1-2 กม. ไปทางบ้านค่าย ไม่ได้ลงตรงบริเวณห้างเซ็นทรัลเดิมแล้ว 2.เรื่องการเวนคืนที่ดิน เส้นทางจากสถานีอู่ตะเภามาถึงสถานีระยองต้องเวนคืนที่ดินเกือบทั้งหมด เพราะไม่มีแนวเส้นทางรถไฟเก่า จึงเป็นห่วงว่าโอกาสที่จะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2571 จะเป็นไปได้ยาก ยังไม่นับรวมเส้นทางที่จะยาวไปถึงจังหวัดตราด แม้จะมีการเสนอว่าจะใช้แนวเส้นทางเดียวกับรถไฟทางคู่ แต่ต้องเวนคืนเช่นกัน และ 3.ความคุ้มค่าในการลงทุนของเอกชน ถ้าก่อสร้างเฉพาะในจังหวัดระยองมีความเป็นไปได้ แต่ถ้าไปไกลกว่านั้นยังไม่คุ้มค่าในการลงทุน

“ทีม” เกรงคนปั่นราคาที่ดินพุ่ง

นายสาธิต มาลัยธรรม ผู้จัดการโครงการบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) ชี้แจงว่า จุดคุ้มทุนของโครงการการก่อสร้างการซื้อรถ การซ่อมบำรุง รวมมูลค่า 160,000 ล้านบาท หากพิจารณา EIRR 5.39% น้อยกว่าค่ามาตรฐาน 12% เส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากอู่ตะเภาฉีกออกจากนิคมอุตสาหกรรม ทำให้พื้นที่แนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงทั้งหมด 90 กม.ต้องเวนคืนเขตทาง 60 เมตร และในเส้นทางที่คู่กับรถไฟทางคู่ต้องเวนคืนเขตทาง 75 เมตรซึ่งตาม พ.ร.บ.เวนคืนที่ดิน พ.ศ. 2562 อยู่ในขั้นตอนจัดทำเอกสาร PPP และ EIA หลัง ครม.อนุมัติให้ก่อสร้างแล้วปี 2564-65 จะเวนคืนปี 2567 เมื่อได้ผู้ลงทุนวิธีการเวนคืนมีรายละเอียด การตกลงราคาโดยมีคณะกรรมการพิจารณาโดยเจ้าของที่ดินมีส่วนร่วมด้วย ซึ่งต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนดำเนินการก่อสร้าง

“ตอนนี้สามารถดูเส้นทางได้ในแผนที่กูเกิลแมป ยอมรับว่ามีจุดอ่อนในการสื่อสารให้เข้าถึงเจ้าของที่ดิน ที่ผ่านมาได้เชิญผู้นำชุมชนผ่านอำเภอมาประชุมชี้แจงไม่ได้แจ้งเจ้าของที่ดินทุกคน เพราะยังไม่ถึงขั้นตอนที่เสนอ ครม.จะอนุมัติให้สร้าง เกรงจะมีเรื่องการปั่นราคาที่ดินได้ ส่วนที่จันทบุรีใช้เส้นทางบางช่วงมากับรถไฟทางคู่ ส่วนจุดตัดถนนหลักจะทำรางลอยข้าม ส่วนถนนเล็ก ๆ ถ้ามีจุดตัดถี่มาก ๆ รวมให้กลับรถใต้ทางรถไฟ แต่มีเขตรั้วบอกทางป้องกันการเข้าถึงโครงการ ส่วนจุดคุ้มทุนผลตอบแทนไม่คุ้มค่านั้น เอกชนผู้ร่วมลงทุนจะพิจารณาจากผลการศึกษา รูปแบบการลงทุนดูผลตอบแทนที่สูงขึ้น ค่าลงทุนที่ต่ำลง เช่น เส้นทางจากอู่ตะเภา-ระยอง จุดคุ้มทุน 9.36% อย่างไรก็ตาม ประชาชนมีสิทธิที่จะแสดงความเห็นเพิ่มเติมในแบบฟอร์มได้ว่าไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการโครงการนี้เพื่อนำไปประมวลผลในรายงานฉบับสมบูรณ์” นายสาธิตกล่าว

รายงานจากผลการศึกษาและวิเคราะห์ของโครงการระบุว่า ระยะเวลา 30 ปีตลอดแนวเส้นทางจังหวัดระยอง-ตราด หากรัฐเป็นผู้ลงทุนทั้งหมดจะไม่คุ้ม ซึ่งถ้าเป็นรูปแบบเอกชนร่วมลงทุน (PPP) ทางเอกชนอาจมีวิธีที่ดีกว่า เพื่อให้การลงทุนเกิดความคุ้มค่า ค่าลงทุนทางโครงการประมาณ 160,000 ล้านบาท EIRR 5.39% ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) -44,956 ล้านบาท อัตราส่วนผลตอบแทนต่อต้นทุน (B/C ratio) 0.45

ทั้งนี้ พื้นที่เส้นทางรถไฟความเร็วสูงพาดผ่านที่ต้องเวนคืนจำนวน 8,018 ไร่ คือ ระยอง พาดผ่านพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.บ้านฉาง อ.เมืองระยองอ.บ้านค่าย และ อ.แกลง พื้นที่เวนคืนโดยประมาณ 4,032 ไร่ จันทบุรีพาดผ่านพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.นายายอาม อ.ท่าใหม่ อ.เมืองจันทบุรี อ.มะขาม และ อ.ขลุง พื้นที่เวนคืนประมาณ 2,496 ไร่ และจังหวัดตราดพาดผ่านพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เขาสมิง และ อ.เมืองตราด พื้นที่เวนคืนประมาณ 1,490 ไร่ และบ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบตลอดแนวเส้นทางโครงการประมาณ 914 หลังคาเรือน ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ ก่อนที่จะทำการก่อสร้างจริงต้องสำรวจรายละเอียดอีกครั้ง