มหาวิทยาลัยนเรศวรผนึก 4 จังหวัดบูมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

ทางเลือก - อ.ยิ่งศักดิ์ จงเลิศกฤษฎาวงศ์ กูรูด้านอาหารกำลังสอนผู้ประกอบการ 4จังหวัดภาคเหนือทำอาหารสุขภาพ เพื่อสร้างรายได้ใหม่ ๆ

มหาวิทยาลัยนเรศวรเตรียมเปิดทริปท่องเที่ยวเส้นทางสุขภาพ ดึงผู้ประกอบการ 4 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง “พิษณุโลก-เพชรบูรณ์-สุโขทัย-ตาก” นำร่องจัดแผนพัฒนาคลัสเตอร์ ทั้งแหล่งท่องเที่ยวด้านสุขภาพ-อาหาร-ออกกำลังกาย

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร จัดกิจกรรมพัฒนาเครือข่ายธุรกิจสุขภาพ ภายใต้โครงการสนับสนุนเครือข่าย SMEs ปี 2563 โดยมีผู้ประกอบการในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ประกอบด้วย จ.พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย และ จ.ตาก มาเข้าร่วม เพื่อวางแผนยุทธศาสตร์สนับสนุนคลัสเตอร์ SMEs และพัฒนาศักยภาพผู้ให้บริการ ผู้นำ และผู้ประสานเครือข่าย (CDA)

ดร.มาร์ฎา ชยทัตโต อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า พื้นที่ภาคเหนือตอนล่างเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ มหาวิทยาลัยนเรศวรจึงทำโครงการนี้ขึ้นมา เพื่อรวบรวมผู้ประกอบการที่อยู่ในเครือข่าย ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว โรงแรม สปา ฟิตเนส เป็นหนึ่งเดียวกัน

โดยมีเป้าหมายจะเปิดทริปท่องเที่ยวเส้นทางสุขภาพ ตามเส้นทางที่มหาวิทยาลัยนเรศวรจัดเตรียมไว้ และการจัดกิจกรรมครั้งนี้ได้เชิญเอเยนซี่ท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ เข้ามาทดลองสัมผัสการท่องเที่ยวในพื้นที่จริง เพื่อให้ผู้ประกอบการในพื้นที่มีโอกาสเสนอสินค้า

“กิจกรรมนี้ได้ทดลองเริ่มเดินทางจาก จ.เพชรบูรณ์ และทำกิจกรรมโยคะตอนเช้า ทำอาหารคลีน กินอาหารออร์แกนิก โดยเสนอสินค้าและสาธิตการทำอาหารสุขภาพ ก๋วยเตี๋ยวน้ำพริกลงเรือ แยมมะม่วงส้มซ่า โดย อ.ยิ่งศักดิ์ ที่ปรึกษามหาวิทยาลัยนเรศวร จากนั้นจะออกกำลังกายฟิตเนสที่ จ.พิษณุโลก ก่อนเดินทางไป จ.สุโขทัย และ อ.แม่สอด จ.ตาก”

ด้าน อาจารย์ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ ที่ปรึกษามหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า อาหารธรรมชาติทางภาคเหนือมีดีอยู่แล้ว แต่ควรปรับเปลี่ยน อยากให้ประชาชนภาคเหนือทำอาหารแบบ new normal ต้องจัดการสังคายนา เพราะการทำอาหารไทยเชิงสุขภาพ ใคร ๆ ก็ทำขายได้

ทั้งนี้ อยากเสนอให้มหาวิทยาลัยนเรศวรทำภัตตาคารอาหารต้นแบบของไทย มหาวิทยาลัยนเรศวรควรสร้างเป็นแหล่งความรู้กับประชาชน เป็นการยกระดับการพัฒนาท้องถิ่น ยกตัวอย่าง การนำพืชผักมาใช้เช่น มะระขี้นก นำมาฟื้นฟูส่งเสริมการปลูกเพื่อเป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำอาหาร หรืออย่างมะม่วง ถือเป็นผลไม้ของ จ.พิษณุโลก สามารถนำมาทำแยมมะม่วง โดยนำส้มซ่ามาใส่ในแยม เพื่อให้รสและกลิ่นคล้ายส้มยูสุ ของญี่ปุ่น ที่ราคาแสนแพง ต่อไปคนชุมชน จ.พิษณุโลก จะได้ปลูกส้มซ่า 1,000-10,000 ไร่ เพื่อนำส้มซ่ามาทำผลผลิตอุตสาหกรรมอาหารในอนาคตได้ด้วย