หอการค้าภาคเหนือชู NorthernPremium ปลุกค้าชายแดนสู่จีน-อินเดีย

แฟ้มภาพ

หอการค้าภาคเหนือ เร่งยกระดับสินค้าและบริการภาคเหนือสู่ northern premium ผ่านแผนพื้นที่เศรษฐกิจภาคเหนือ NEC ลดผลกระทบด้านการค้า-ลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว

เสนอปรับโครงสร้างนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือให้เข้าสู่นวัตกรรม ดิจิทัล เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปลุกการค้าชายแดนสู่ตลาดกำลังซื้อสูงจีน-อินเดีย

นายวโรดม ปิฎกานนท์ ประธานคณะทำงานด้านการค้าการลงทุนและการค้าชายแดนภาคเหนือ คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ หอการค้าไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า

ได้เสนอแผนการพัฒนาด้านการค้าการลงทุนและการค้าชายแดนของภาคเหนือต่อการประชุมผังเมืองภาคเหนือ ครั้งที่ 1 ของกรมโยธาธิการและผังเมือง โดยให้ความสำคัญกับการปรับผังการพัฒนาเศรษฐกิจระดับภาค

Advertisment

ที่สำคัญคือการยกระดับสินค้าและบริการของภาคเหนือให้เป็น northern premium ผ่านพื้นที่เศรษฐกิจภาคเหนือหรือ northern economic corridor (NEC) เพื่อเพิ่มมูลค่าในการทดแทนผลกระทบด้านการค้าการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว

พร้อมกับการเสนอปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมภายใต้นิคมอุตสาหกรรมให้เข้าสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่เน้นนวัตกรรม ดิจิทัล และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะที่จังหวัดลำพูน

นอกจากนี้ เป็นเรื่องการให้ความสำคัญกับการเชื่อมการค้าชายแดนกับประเทศที่มีกำลังซื้อสูง ได้แก่ จีนและอินเดีย โดยเฉพาะหอการค้าภาคเหนือ ได้ประสานงานกับกงสุลใหญ่อินเดียในการวางแผนเชื่อมโยงไปประเทศอินเดีย รัฐมณีปุระ

ผ่านการเป็นเมืองพี่เมืองน้อง รวมถึงการเชื่อมด้านโลจิสติกส์ผ่านไปทาง R3A ดังนั้น การวางผังเมืองในระดับภาค ควรจะมีแนวทางที่ชัดเจน เพื่อภาคเหนือไทยจะสามารถเชื่อมรถไฟจีน-ลาว

Advertisment

ที่มีแผนจะเริ่มเปิดการเดินทางขนส่งสินค้ารวมทั้งนักท่องเที่ยวเพื่อให้ภาคเหนือสามารถขนส่งสินค้าไปจีน ตลอดจนถึงเชื่อมไปยุโรปในอนาคตได้

“ภาคเหนือมีแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอนาคตที่จะครบภายใต้การพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือที่ควรจะนำเอานวัตกรรม เติมกับทุกภาคเศรษฐกิจ ส่วนด้านโลจิสติกส์เริ่มมีการลงทุนหลายโครงการที่จะเกิดขึ้น

ได้แก่ โครงการรถไฟรางคู่ แพร่ (เด่นชัย)-เชียงราย จะสามารถต่อเชื่อมถนนเส้น R3A เข้าสู่ตลาดจีนได้ มีแผนการก่อสร้างรถไฟเชื่อมนครสวรรค์-กำแพงเพชร-แม่สอด (จังหวัดตาก)

จะทำให้เปิดตลาดอินเดียได้ในอนาคต จึงต้องคิดถึงการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ new S-curve ที่จังหวัดนครสวรรค์ รวมถึงการลงทุนด้าน MICE ที่จะตามมาในอนาคตในพื้นที่เชียงใหม่ พิษณุโลกด้วย”

นายวโรดมกล่าวว่า การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของภาคเหนือจะเชื่อมไปกับประเทศที่มีตลาดรองรับสินค้าที่โดดเด่นของภาคเหนือ

ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เช่น การส่งออกไปประเทศอินเดียผ่านประเทศเมียนมาก็สามารถใช้โอกาสจากเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่จังหวัดตากและจังหวัดเชียงราย

โดยสามารถส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัยเชื่อมโยงสู่อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง เกษตรอินทรีย์ในภาคเหนือตอนบน และเกษตรปลอดภัยสำหรับภาคเหนือตอนล่าง

รวมทั้งผลไม้และหัตถอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ ใช้เทคโนโลยี ศิลปวัฒนธรรม การออกแบบร่วมสมัย เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด เช่น ของตกแต่งบ้าน, ของที่ระลึก, งานหัตถศิลป์ โดยเฉพาะในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน เป็นต้น