เมียนมาคลายปม”กม.ค้าปลีก” ยักษ์”ไทย-เทศ”จับคู่ท้องถิ่นบุก

เมียนมาปลดล็อก กม.ค้าปลีก-ค้าส่ง ปล่อยต่างชาติถือหุ้น 100% ยักษ์ค้าปลีกไทย-ต่างชาติ แห่จับมือโลคอลปักธงรับดีมานด์ “เซ็นทรัล” ส่งทีมเซอร์เวย์ “แม็คโคร-อิออน” ร่วมทุน ด้านเจ้าถิ่น “ซิตี้มาร์ท” ดึงมือดีต่างชาติเสริมทีม

ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ของเมียนมา ประกาศเปลี่ยนกฎเกณฑ์การลงทุนของผู้ประกอบการต่างชาติในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง โดยอนุญาตให้ต่างชาติสามารถถือหุ้นได้ 100% รวมถึงสามารถนำเข้าสินค้าและขายได้โดยไม่ต้องผ่านคนกลางชาวเมียนมาเหมือนที่ผ่านมา โดยมีผลตั้งแต่วันพุธที่ 16 พ.ค. 2561 ทั้งนี้ เป็นการกระตุ้นและดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวของกลุ่มทุนทั้งไทยและต่างชาติที่ทยอยจัดทัพเข้าไปปูทางบุกตลาดเมียนมาที่มีอย่างต่อเนื่อง

ผนึกทุนท้องถิ่นบุกตลาด

แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ในประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันการแข่งขันทางธุรกิจในเมียนมามีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากมีผู้ประกอบการทั้งทุนไทยและต่างประเทศ ที่รอจังหวะจะรุกเข้าสู่ตลาดเมียนมาอีกหลายราย ส่วนใหญ่จะเป็นในลักษณะของการเข้าไปร่วมทุนกับพาร์ตเนอร์ในท้องถิ่น อาทิ อิออน ยักษ์ค้าปลีกจากญี่ปุ่นที่จับมือกับพันธมิตรท้องถิ่นและได้ทยอยเปิดสาขาแล้ว เช่นเดียวกับบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ที่ตั้งบริษัทลูกเพื่อร่วมทุนและบุกตลาดในเมียนมา

นอกจากนี้ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ก็ได้ยื่นขอสิทธิ์บริษัทแม่เพื่อบุกตลาดเมียนมา ลาว กัมพูชา และที่ผ่านมากลุ่มสหพัฒน์ก็ได้เข้าไปร่วมมือกับซิตี้มาร์ท ค้าปลีกรายใหญ่ของเมียนมา เพื่อขยายร้านสะดวกซื้อ “ซิตี้ เอ็กซ์เพรส” ร่วมกัน

“ปัจจุบันธุรกิจค้าปลีกในเมียนมายังไม่มีแบรนด์ต่างชาติมากนัก แต่หากเป็นร้านสะดวกซื้อจะมีหลายแบรนด์ อาทิ เอบีซี และแกร็บแอนด์โก ซึ่งแข่งขันรุนแรง เนื่องจากชาวเมียนมานิยมร้านค้าปลีกไซซ์เล็กมาก ขณะที่ซิตี้มาร์ทที่เป็นรายใหญ่ก็ได้มีการดึงทีมงานจากสิงคโปร์และไทยเข้าไปเสริม เพื่อรองรับการแข่งขันที่คาดว่าจะมีความรุนแรงมากขึ้น”

“เซ็นทรัล” ตั้งทีมศึกษาตลาด

แหล่งข่าวระดับสูง บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประกาศดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกอบการค้าปลีกไทยมีความสนใจไม่น้อย เนื่องจากเมียนมาเป็นตลาดใหญ่ สดใหม่ มีพื้นที่อยู่ติดกับไทย แต่ในแง่ของการลงทุนคงจะต้องใช้เวลาศึกษาและดูความพร้อมของตลาด ทั้งในแง่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ กำลังซื้อผู้บริโภค รวมทั้งไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้บริโภคชาวเมียนมาด้วย

“สำหรับซีพีเอ็นเองก็มีทีมที่คอยศึกษาโอกาสการลงทุนในต่างประเทศอยู่แล้ว ซึ่งจะดูในภาพรวมของภูมิภาคอาเซียนและความพร้อมจากหลาย ๆ ด้าน รวมถึงกฎระเบียบในการลงทุน”

“แม็คโคร” พร้อมลุยเต็มรูปแบบ

แหล่งข่าวจากบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทตั้งเป้าที่จะเป็นผู้นำธุรกิจค้าส่งอันดับ 1 ในอาเซียน โดยมีแผนจะเพิ่มน้ำหนักการลงทุนกลุ่มประเทศอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะในเมียนมานั้นกระบวนการทำงานค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว และในส่วนกัมพูชาและลาวนั้น ได้ส่งทีมเข้าไปศึกษาตลาดและสำรวจพื้นที่บ้างแล้ว และมีแผนจะขยายการลงทุนด้วยการซื้อบริษัทในกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อต่อยอดและขยายธุรกิจให้ครอบคลุมทั่วภูมิภาค

“ซิตี้มาร์ท” เจ้าถิ่นสู้ไม่ถอย

นายแพรททริก ไซมอนด์ ประธานฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ซิตี้มาร์ท โฮลดิ้ง จำกัด ผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ของเมียนมา เจ้าของร้านสะดวกซื้อ, ซูเปอร์มาร์เก็ต, ไฮเปอร์มาร์เก็ต, ร้านขายยา, เบเกอรี่ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” เมื่อก่อนหน้านี้ว่า ธุรกิจค้าปลีกในเมียนมายังอยู่ในระยะเริ่มต้น การแข่งขันยังมีไม่มากนัก และมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก อย่างไรก็ตาม จากการที่มีกลุ่มทุนจากต่างประเทศเริ่มทยอยเข้ามาลงทุนในเมียนมา จะเป็นปัจจัยที่ทำให้ตลาดมีการแข่งขันสูงขึ้นในอนาคต

เปิดทางทุกเมืองทุกทำเล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประกาศฉบับใหม่ จะเอื้อให้ผู้ประกอบการต่างชาติ บริษัทร่วมทุน รวมถึงบริษัทท้องถิ่น สามารถดำเนินธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งได้ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศหรือนำเข้า รวมถึงสามารถตั้งสาขาได้ในทุกเมือง ทุกรัฐ และทุกภูมิภาค

สำหรับธุรกิจค้าปลีก กำหนดให้ต่างชาติถือหุ้น 100% จะต้องลงทุนอย่างน้อย 3 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 5 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับธุรกิจค้าส่ง ส่วนบริษัทร่วมทุนที่มีต่างชาติถือหุ้นไม่เกิน 80% จะต้องลงทุนอย่างน้อย 7 แสนเหรียญสหรัฐ และ 2 ล้านเหรียญสหรัฐตามลำดับ แต่ทั้งนี้ ได้ห้ามการลงทุนร้านสะดวกซื้อที่มีขนาดเท่ากับหรือเล็กกว่า 929 ตร.ม.

การค้าไทย-เมียนมาโต

นายนิยม ไวรัชพานิช รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการกลุ่มค้าชายแดนและข้ามแดน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประกาศดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าไปลงทุนในเมียนมามากขึ้น จากเดิมที่อนุญาตให้ถือหุ้นได้สัดส่วน 35% และจะช่วยส่งเสริมให้การค้าชายแดนคึกคักขึ้น

รายงานจากกรมการค้าต่างประเทศ ระบุว่า การค้าชายแดนระหว่างไทย-เมียนมา ช่วงไตรมาส 1/2561 มีมูลค่า 46,408.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.87% โดยไทยส่งออก 26,940.6 ล้านบาท ลดลง 15.16% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และนำเข้า 19,468.13 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45.73% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ดุลการค้า 18,396.18 ล้านบาท