2 นครา “การตลาด”

คอลัมน์ Market-think

โดย สรกล อดุลยานนท์

แม้จะเป็นเรื่องราวในแวดวงบันเทิง

แต่ถือเป็นปรากฏการณ์ทางด้านการตลาดที่น่าสนใจ

นั่นคือ เรื่องราวของ “เลือดข้นคนจาง” และ “นาคี 2”

สำหรับ “เลือดข้นคนจาง” นั้น คนอ่าน  “ประชาชาติธุรกิจ” น่าจะรับรู้อยู่แล้ว

เพราะกระแสของละครเรื่องนี้ดังมากโดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย คำว่า “ใครฆ่าประเสริฐ” กลายเป็นคำฮิตที่โด่งดังทั่วบ้านทั่วเมือง

เรตติ้งทางโทรทัศน์ตอนแรกไม่แรงนัก

จนช่วงท้าย ๆ ค่อยขยับมาที่ 3 กว่า

แต่ยอดดูทางไลน์ทีวีและย้อนหลังทางยูทูบสูงมาก

นั่นเป็น ความแรงที่เกิดขึ้นใน “สื่อใหม่”

แต่อีกมุมหนึ่งของวงการบันเทิง ภาพยนตร์เรื่อง “นาคี 2” ทำรายได้ 4 วัน

แรงสูงถึง 200 กว่าล้านบาททั่วประเทศ

และคาดว่าอาจจะถึง 400-500 ล้านบาท

แต่เชื่อไหมว่า “นาคี 2” เป็นหนังที่คนในโซเชียลมีเดียไม่ค่อยรู้จัก

จนเข้าโรงแล้วทำรายได้มโหฬาร

คนกลุ่มนี้จึงเริ่มรู้จัก “นาคี 2”

แต่สำหรับคนดูทีวี กระแส “นาคี 2” แรงมาก

ช่อง 3 โปรโมตแบบจัดเต็ม

เขาอาศัยฐานลูกค้าเก่าจากคนที่เคยดู “นาคี” ภาคแรกที่เรตติ้งสูงมากเมื่อ 2 ปีก่อน

คนกลุ่มนี้รู้จัก “นาคี”

ผูกพันกับตัวละครในเรื่อง

เขาย่อมอยากรู้ว่า เรื่องราวต่อจาก “นาคี” ภาคแรก เป็นอย่างไร

ละครช่อง 3 เรื่องนี้เจาะกลุ่มเป้าหมายระดับชาวบ้านทั่วไป

เป็นสินค้า “แมส”

พอโปรโมตแรง ๆ กับกลุ่ม “แมส” ที่รักสินค้านี้จริง ๆ

ถล่มทลายเลยครับ

ฐานมวลชน “รากหญ้า” เป็นกลุ่มที่ประมาทไม่ได้จริง ๆ

เป็นกลุ่มเดียวกับแฟนเพลงลูกทุ่ง รักใครรักจริง

ในยุคก่อนตอนที่ “เทป-ซีดี” กำลังอ่อนแรง

“เทป” หรือ “ซีดี” ที่ขายดีที่สุด คือ เพลงลูกทุ่ง

ชาวบ้านอยากอุดหนุนศิลปินในดวงใจของเขา

“นาคี 2” ก็คือ ปรากฏการณ์แบบเดียวกัน

กลยุทธ์ของเขาเหนือชั้นมาก

ดึงคนที่รักและภักดีต่อสินค้าที่เคยดูฟรีทางจอทีวีให้ยอมมาเสียเงินซื้อตั๋วหนังสำเร็จ

และยังมี “ลูกเล่น” ที่เหมาะกับตลาดนี้ด้วย

นั่นคือ แจก “เหรียญ” ที่ผ่านการปลุกเสกมาแล้วให้กับคนที่จองตั๋วล่วงหน้า

มีคูปองรับเหรียญพร้อมตั๋วเป็นเรื่องเป็นราว

วางจังหวะหนังฉายก่อนเทศกาลบั้งไฟพญานาค

และช่อง 3 ก็ถ่ายทอดสดเทศกาล “บั้งไฟพญานาค”

คนที่รำหน้าขบวนคือ “ญาญ่า” นักแสดงนำในหนัง “นาคี 2”

เป็นไงครับ

ช่อง 3 โชว์ให้เห็นว่า พลังของ “สื่อทีวี” ยังแรงอยู่

ชาวบ้านยังดูทีวี

เรื่องนี้น่าสนใจนะครับ

ถ้า “อาร์เอส” ใช้กลยุทธ์ทำจอโทรทัศน์เป็นห้างสรรพสินค้า

ทำรายการเรตติ้งดี ๆ ดึงคนมาดูช่อง 8

และทำรายได้จากการขายเครื่องสำอางที่เขาผลิตเอง

สร้างโมเดลธุรกิจใหม่

“ช่อง 3” ก็ปรับกลยุทธ์เช่นกัน

เขาไม่ได้ขายเครื่องสำอาง

แต่ต่อยอด “ละคร” ไปสู่ “หนัง”

กำหนด “กลุ่มเป้าหมาย” คือ คนดู

ละครที่รักและภักดีกับตัวละครและเรื่องราว

จากเดิมที่ “ดูฟรี”

เขากระตุ้นให้คนดูละครไปจ่ายตังค์ดูหนังแทน

ช่อง 8 และช่อง 3 เหมือนกันตรงที่เขาเปลี่ยนรูปแบบการหารายได้ใหม่

จากเดิมคือทำเรตติ้งละคร หรือรายการให้สูง ๆ

เอา “เรตติ้ง” ไปขายโฆษณาจากเอเยนซี่

แต่วันนี้ “ช่อง 8” ทำสินค้าเอง

แล้วขายสินค้ากับ “คนดู”

ส่วน “ช่อง 3” สร้างสินค้าใหม่ คือ “หนัง” ต่อยอดจากละคร

แล้ว “ขายตรง” กับ “คนดูละคร” กลุ่มเดิม

เอาเงินจากกระเป๋า “คนดู” โดยตรง

ไม่ใช่ “เอเยนซี่โฆษณา”

ช่อง 3 และช่อง 8 คิดเหมือนกัน

แต่ใช้กลยุทธ์คนละแบบ

ผมลองคิดเล่น ๆ ว่า ถ้า “ช่องวัน” ของ “แกรมมี่” เอาบ้าง

ทำหนัง “เลือดข้นคนจาง” ภาค 2 ฉายในโรงขึ้นมา

ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร

น่าสนใจนะครับ