เด็กหลอดแก้ว ดีมานด์พุ่ง ญี่ปุ่น-จีนโดดชิงเค้กเครื่องมือแพทย์

ขณะนี้การตรวจรักษาภาวะมีบุตรยากในหลายประเทศของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก กำลังเป็นที่จับตามองจากวงการธุรกิจการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็น “โอลิมปัส” ผู้ผลิตกล้องและอุปกรณ์การแพทย์สัญชาติญี่ปุ่น หรือ “เหว่ย เซียง หยู” เซเลบและเจ้าของธุรกิจด้านการแพทย์ชาวสิงคโปร์ และอีกหลาย ๆ บริษัท หลังจากพบว่าดีมานด์อุปกรณ์ กระบวนการ และบริการวินิจฉัย-รักษา สำหรับเพศชายเพิ่มสูงขึ้น ตามทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไป โดยผู้ชายในหลายประเทศเริ่มยอมรับว่า ตนอาจเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา จากเดิมที่มักมองว่าเป็นเรื่องของฝ่ายหญิงเพียงฝ่ายเดียว

สอดคล้องกับสถิติขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO ที่เปิดเผยเมื่อปี 2560 ว่า ในเคสมีบุตรยากที่เกิดขึ้นทั่วโลกนั้นมีสาเหตุจากฝ่ายชาย 24% และมีสาเหตุจากทั้ง 2 ฝ่าย 24%

สำนักข่าว “นิกเคอิ เอเชียน รีวิว” รายงานว่า ขณะนี้ กลุ่มธุรกิจทั้งของญี่ปุ่นและต่างชาติหลายรายเริ่มหันมาลงทุนค้นคว้าวิจัยการวินิจฉัย-รักษาภาวะมีบุตรยากในผู้ชายกันมากขึ้น เพื่อชิง

โอกาส ขณะที่ดีมานด์สูงขึ้นและผู้บริโภคพร้อมจะทุ่มเงินกับเรื่องนี้ไม่อั้น โดยเพียงแค่ในญี่ปุ่นประเทศเดียวเมื่อปี 2559 มีการรักษาภาวะมีบุตรยากถึง 4.5 แสนเคส หรือเพิ่มขึ้น 3 เท่าจากทศวรรษก่อนและสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก แม้ค่าใช้จ่ายจะสูงถึงเฉลี่ย 3-4 แสนเยน (8.6 หมื่น-1.1 แสนบาท) ต่อครั้ง และหลายเคสต้องดำเนินการต่อเนื่องหลายครั้ง จนทำให้ค่าใช้จ่ายพุ่งไปถึง 2 ล้านเยน หรือราว ๆ 5.7 แสนบาท

เมื่อเดือน มี.คที่ผ่านมา “โอลิมปัส” ประกาศแผนพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ มาช่วยวิเคราะห์ความผิดปกติของตัวอสุจิ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความเร็วในการวินิจฉัย-รักษาให้กับโรงพยาบาลหรือคลินิก เช่นเดียวกับ “รีครูท ไลฟ์สไตล์” (Recruit Lifestyle) ผู้ประกอบธุรกิจด้านเฮลท์แคร์สัญชาติญี่ปุ่นอีกรายที่พัฒนาชุดอุปกรณ์และแอปพลิเคชั่นที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบลักษณะของอสุจิได้ด้วยกล้องของสมาร์ทโฟน เพื่อใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการตัดสินใจว่าจะต้องปรึกษาแพทย์ต่อไปหรือไม่

ไปในทิศทางเดียวกับตลาดสิงคโปร์และจีน “เหว่ย เซียง หยู” เปิด Babysmart.life แพลตฟอร์มให้คำปรึกษาปัญหาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ผ่านอินเทอร์เน็ตสำหรับผู้ชายโดยเฉพาะ

ชูจุดขายเรื่องการเก็บข้อมูลตัวตนของผู้ใช้บริการเป็นความลับ ขณะเดียวกันพยายามขยายฐานในตลาดจีนด้วยการจัดรายการวิทยุให้คำแนะนำด้านการเจริญพันธุ์เมื่อปีที่แล้ว

“สังคมจีนในปัจจุบันเต็มไปด้วยความเครียดจากการแข่งขัน ขณะที่ผู้ชายจำนวนมากมีพฤติกรรมดื่มหนักและโภชนาการไม่ดีนัก ทำให้หลายคนก็เริ่มมีปัญหาเสื่อมสมรรถภาพทางเพศตั้งแต่อายุ 40 ปี จึงมีความต้องการบริการทางการแพทย์ด้านการเจริญพันธุ์ที่เป็นมิตรกับผู้ชายมากกว่าแต่ก่อน”

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญในหลายประเทศมีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า เซ็กเมนต์นี้จะยังมีดีมานด์ต่อเนื่อง โดย “มาร์ค โบว์แมน” แพทย์และผู้อำนวยการของ “จีเนีย” (Genea) เชนคลินิกด้านการเจริญพันธุ์ในออสเตรเลียให้ความเห็นว่า จำนวนผู้ชายที่มีภาวะมีบุตรยากในเอเชียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยอาจเป็นผลจากหลายปัจจัย ทั้งพันธุกรรม ไลฟ์สไตล์ และมลภาวะต่าง ๆ

สอดคล้องกับ “ยูสึชิ ยูมูระ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยโยโกฮามาซิตี้ และผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะมีบุตรยากในผู้ชาย เปิดเผยว่า จำนวนผู้ป่วยชายที่เข้ามารับคำปรึกษาจากศูนย์การแพทย์ของมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น 3 เท่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ส่วนผู้ป่วยหญิงมีจำนวนเท่าเดิม

เทรนด์ที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงโอกาสใหม่ในธุรกิจการแพทย์ และหลังจากนี้ไปต้องรอดูว่าจะมีผู้เล่นรายอื่น ๆ โดดเข้าร่วมวงเพิ่มอีกหรือไม่ และจะทำให้ตลาดเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด