BGC ขยายพอร์ตโตนอกขวดแก้ว บุกลงทุน “โซลาร์ฟาร์ม” เวียดนาม

“บีจีซี” เครือบางกอกกล๊าส ปรับกลยุทธ์รายได้โตก้าวกระโดดจาก 1.2 หมื่นล้าน เป็น 3 หมื่นล้านใน 5 ปี เร่งลงทุน “พลังงานสะอาด-บรรจุภัณฑ์กระดาษ” รับดีมานด์เทรนด์อีคอมเมิร์ซ เดินหน้า “ช็อปปิ้งกิจการ” ใน-ต่างประเทศ ชูนวัตกรรมอัพเกรด 5 โรงงานแก้วสู่ 4.0 รับมือปัญหาแรงงานขาด

ขยายฐานตลาดส่งออก

นายศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) ในเครือบางกอกกล๊าส เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงเทรนด์ธุรกิจบรรจุภัณฑ์และทิศทางของบริษัทว่า ธุรกิจหลักของบริษัทคือการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ขวดแก้ว โดยมีกำลังผลิตรวม 5 โรงงาน ประมาณ 1 ล้านตัน/ปี ครองส่วนแบ่งประมาณ 40% ของอุตสาหกรรมขวดแก้ว ถือเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ซึ่งฐานลูกค้าหลักเป็นเครือบุญรอดประมาณ 50% (4-5 แสนตัน) อีก 25% มาจากกลุ่มผู้ถือหุ้น อาทิ กรีนสปอร์ต กระทิงแดง ไทยน้ำทิพย์ เป็นต้น อีก 10% เป็นลูกค้าทั่วไปในประเทศ และอีก 15-16% เป็นการส่งออกไปต่างประเทศทั้งเวียดนาม ออสเตรเลีย อินเดีย ยุโรป รวมถึงสหรัฐอเมริกา

โดยหลังจากที่เกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ทำให้ช่วงปีนี้บริษัทก็ได้รับออร์เดอร์ขวดแก้วจากลูกค้าสหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน พร้อมมีแผนขยายตลาดขวดแก้วบรรจุอาหาร และการส่งออกให้มากขึ้น เนื่องจากมีสัดส่วนกำไรสูง โดยวางเป้ารายได้ส่งออกไว้ที่ 20% เพื่อบาลานซ์กับตลาดในประเทศ ซึ่งปีหน้าจะเริ่มส่งออกบรรจุภัณฑ์แก้วสำหรับอาหารเด็กให้กับเนสท์เล่

ต่อยอดซื้อบริษัทรีไซเคิลขวด

อย่างไรก็ตาม โรงงานขวดแก้วถือเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของยักษ์ผู้ผลิตเครื่องดื่มต่าง ๆ เพราะถ้าไม่มีขวดแก้วก็จะไม่สามารถขยายตลาดเครื่องดื่มได้ ซึ่งในส่วนกลุ่มบุญรอดก็ใช้ขวดจาก BGC 100% ดังนั้นเพื่อสร้างความมั่นคงของธุรกิจกลุ่มยักษ์ผู้ผลิตเครื่องดื่มทั้งหลายจึงต้องลงทุนตั้งโรงงานผลิตขวดแก้วเอง

นายศิลปรัตน์กล่าวว่า ปัจจุบันความต้องการบรรจุภัณฑ์แก้วทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากเทรนด์ลดการใช้พลาสติกกำลังมาแรง จนดีมานด์ลดลงอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม ในการลงทุนผลิตแก้วใหม่นั้นมีต้นทุนสูงกว่าการใช้ขวดแก้วเดิมมารีไซเคิล

ล่าสุดจึงได้เข้าไปซื้อหุ้น 26% ในบริษัท บี เอส กล๊าสรีไซคลิ่ง จำกัด (BSR) ซึ่งเป็นผู้รับซื้อขวดแก้วใช้แล้วรายใหญ่ของประเทศ เพื่อให้เป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกันมากขึ้น เป้าหมายเพื่อเพิ่มและพัฒนาศักยภาพด้านการบริหารจัดการวัตถุดิบให้แก่บริษัท รองรับการเติบโตในอนาคต

ลงทุนพลังงานโซลาร์เวียดนาม

นายศิลปรัตน์กล่าวว่า แม้ว่าธุรกิจขวดแก้วแม้จะมีการเติบโตต่อเนื่อง 3-4% แต่เนื่องจากกำไรของธุรกิจค่อนข้างต่ำ บริษัทไม่ได้โฟกัสแค่ธุรกิจแก้ว แต่ขยายลงทุนต่อยอดธุรกิจบรรจุภัณฑ์อื่น ๆ ทั้งกล่องกระดาษ ฟิล์มและถุงเพาช์ รวมทั้งธุรกิจพลังงานทดแทน โดยเน้นเติบโตแบบน็อนออร์แกนิก ด้วยการเข้าไปซื้อกิจการ หรือควบรวมกิจการ ปัจจุบันพอร์ตรายได้ของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท บริษัทตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปีจากนี้จะมียอดขายเพิ่มเป็น 3 หมื่นล้านบาท

ล่าสุดบริษัทได้เข้าซื้อหุ้น 100% ของบริษัท โซล่าร์ พาวเวอร์ แมเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (SPM) ด้วยมูลค่า 1,259 ล้านบาท ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในเวียดนาม 2 โครงการ คือ โครงการ Xuan Tho1 และโครงการ Xuan Tho2 ซึ่งเป็นโครงการที่เริ่มมีการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้วทั้ง 2 โครงการตั้งแต่เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายรวม 99.219 เมกะวัตต์

นอกจากการลงทุนโรงไฟฟ้าในเวียดนาม ยังพิจารณาลงทุนอีกในหลายประเทศทั้งในและนอกอาเซียน เช่น ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเทรนด์พลังงานทดแทนมาแรง ทั้งนี้ บริษัทเลือกขยายเข้าลงทุนในธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ ส่วนหนึ่งเพราะในเครือบางกอกกล๊าสก็มีประสบการณ์ติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาเพื่อนำพลังงานมาใช้ในโรงงาน ซึ่งดำเนินงานภายใต้ บริษัท บีจี เอ็นเนอร์ยี่ โซลูชั่น จำกัด จึงมองถึงโอกาสขยายการลงทุนสร้างผลตอบแทนให้กับบริษัท

ชูกลยุทธ์ “ซื้อกิจการ”

สำหรับการขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์กระดาษ นายศิลปรัตน์ระบุว่า เพื่อรับดีมานด์เพิ่มขึ้นตามกระแสอีคอมเมิร์ซ และการใช้แพ็กสินค้าทดแทนพลาสติกและโฟม ทั้งตลาดนี้ยังมีเอสซีจีเป็นรายใหญ่เพียงรายเดียว จึงมองว่ายังมีโอกาสชิงดีมานด์ได้ โดยได้ทดลองรับหน้าที่ขายบรรจุภัณฑ์กระดาษ รวมถึงฟิล์มพลาสติกของบริษัท บีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด ในเครือบางกอกกล๊าส ให้กับลูกค้าภายนอก พร้อมศึกษาตลาดและเจรจากับธุรกิจต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อหาโอกาสซื้อกิจการหรือร่วมทุน

“เราไม่ได้ทิ้งธุรกิจแก้ว แต่ที่ผ่านมาบริษัทได้ควบคุมต้นทุนในการผลิตแก้วเพื่อเพิ่มมาร์จิ้นมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการหาเศษแก้วจากการไปซื้อบริษัทจัดเก็บเศษแก้วเข้ามา หรือในด้านพลังงาน ซึ่งถือเป็นต้นทุนหลักอีกตัวของโรงแก้ว ก็มีการติดตั้งโปรแกรมควบคุมอุณหภูมิอัตโนมัติ รวมไปถึงการจัดหาวัตถุดิบอื่น ๆ จนแทบไม่สามารถลดต้นทุนลงไปมากกว่านี้ได้แล้ว จึงหันไปสร้างการเติบโตรายได้และกำไรจากธุรกิจอื่น ๆ เข้ามาเสริม” นายศิลปรัตน์กล่าวและว่าการลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ นั้นจะเน้นการเข้าไปซื้อกิจการหรือร่วมทุน เพราะมองว่าจะคุ้มค่าและประหยัดกว่าไปเริ่มต้นลงทุนเองใหม่ทั้งหมด ขณะเดียวกันการร่วมทุนกันก็ทำให้สามารถแชร์ข้อมูลต่าง ๆ กันได้เต็มที่

สำหรับธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้วก็เดินหน้าอัพเกรดโรงงานทั้ง 5 แห่งที่ปทุมธานี, ขอนแก่น, ปราจีนบุรี, พระนครศรีอยุธยา และราชบุรี กำลังผลิตรวม 3,495 ตัน/วัน หรือประมาณ 1 ล้านตัน/ปี ให้เป็นโรงงาน 4.0 ด้วยนวัตกรรม เช่น หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อรับมือปัญหาขาดแคลนแรงงานและเพิ่มคุณภาพสินค้าไปพร้อมกัน โดยในระยะยาวตั้งเป้าลดการใช้แรงงานคนจาก 200 คนต่อเตา เหลือ 20-30 คน และจะพยายามให้เป็นโรงงานอัตโนมัติในอนาคต ส่วนคนงานจะยกระดับขึ้นเป็นผู้คุมเครื่องจักรแทน พร้อมขยายตลาดขวดแก้วบรรจุอาหารและการส่งออกให้มากขึ้น เนื่องจากมีสัดส่วนกำไรสูง โดยวางเป้ารายได้ส่งออกไว้ที่ 20% เพื่อบาลานซ์กับตลาดในประเทศ