ไวรัสทำ “ทิสชู” ขาดตลาด โอกาสทองธุรกิจสุขภัณฑ์

แม้ปรากฏการณ์ที่ผู้คนแห่กักตุนกระดาษชำระจนขาดตลาดไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา รวมถึงอีกหลายประเทศ จากความตื่นตระหนกต่อข่าวแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเป็นเรื่องตลกไร้สาระ จนถูกชาวเน็ตทั่วโลกนำไปสร้างมีล้อเลียนกันอย่างสนุกสนาน

แต่ขณะเดียวกันสำนักข่าว “นิกเคอิ เอเชียน รีวิว” รายงานว่า ปรากฏการณ์ที่ผู้คนในประเทศตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐไม่มีกระดาษชำระใช้เวลาเข้าห้องน้ำเช่นนี้กลับเป็นโอกาสทองอย่างไม่น่าเชื่อสำหรับผู้ผลิตสุขภัณฑ์สัญชาติญี่ปุ่นรายใหญ่อย่าง “โตโต้” (Toto) ซึ่งพยายามทำตลาด “บิเดต์” (bidet) หรือฝารองนั่งสุขภัณฑ์แบบมีระบบฉีดน้ำชำระล้างอัตโนมัติ ในแบรนด์ “วอชเลต” (Washlet) ในตลาดสหรัฐมาอย่างยาวนาน แต่ไม่ประสบความสำเร็จนัก เนื่องจากความแตกต่างด้านวัฒนธรรมที่ชาวอเมริกันนิยมใช้กระดาษชำระมากกว่าล้างด้วยน้ำ

สอดคล้องกับข้อมูลจากบริษัทวิจัยสเตทิสตาที่ระบุว่า ชาวอเมริกันใช้กระดาษชำระมากที่สุดในโลก ด้วยจำนวนเฉลี่ยถึง 141 ม้วนต่อคนต่อปี รองลงมาเป็นชาวเยอรมันที่ 134 ม้วน และชาวอังกฤษใช้ 127 ม้วน ส่วนชาวญี่ปุ่นมาเป็นอันดับ 4 ด้วยยอด 91 ม้วน

“ซาจิโกะ โอคาดะ” นักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซกส์ สาขาญี่ปุ่น อธิบายว่า ชาวอเมริกันค่อนข้างมีแนวคิดอนุรักษนิยมในเรื่องการทำความสะอาด รวมถึงมีความยุ่งยากในการติดตั้งปลั๊กไฟในห้องน้ำเพื่อต่อกับวอชเลตด้วย ทำให้การทำตลาดของโตโต้ไม่ประสบความสำเร็จ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่กระดาษชำระขาดตลาดนี้น่าจะทำให้ชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อย หันมาพึ่งการใช้น้ำทำความสะอาดหลังปลดทุกข์กันมากขึ้น

Advertisment

จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นโอกาสของโตโต้ที่จะปลุกดีมานด์ในสหรัฐ คล้ายกับที่เคยเกิดขึ้นในตลาดจีน ซึ่งโรงแรมหรูหลายแห่งนำสินค้าของบริษัทไปใช้ ทำให้บรรดานักธุรกิจได้ทดลองใช้งาน และจำนวนไม่น้อยติดใจจนหาซื้อมาติดตั้งที่บ้านของตน

“โซอิจิ อาเบะ” กรรมการบริษัทโตโต้ ผู้ดูแลตลาดประเทศจีน กล่าวว่า การเติบโตของยอดขายในจีนช่วงก่อนหน้านี้ ช่วยสร้างการรับรู้และยอดขายในตลาดต่างประเทศหลายแห่ง เนื่องจากบรรดานักธุรกิจที่เดินทางมาจีน ได้สัมผัสสินค้าซึ่งติดตั้งในโรงแรมหรูหลายแห่ง จนติดใจและกลับไปซื้อหามาติดตั้งที่บ้านตนเองกัน

สอดคล้องกับความเห็นของ “พอล ฟราวเวอร์” หัวหน้าฝ่ายออกแบบของ “ลิกซิล” (Lixil) ผู้นำเข้า-จัดจำหน่ายอุปกรณ์แต่งบ้าน อาทิ แบรนด์อเมริกันสแตนดาร์ด ที่กล่าวว่า หลังได้ลองใช้ห้องน้ำในญี่ปุ่นหรือโรงแรมหรูในจีน ชาวตะวันตกหลายคนได้ค้นพบว่า การใช้กระดาษชำระทำความสะอาดหลังปลดทุกข์นั้น เป็นประสบการณ์ที่ไม่ดีนัก
เมื่อเทียบกับการใช้น้ำล้าง

ทั้งนี้แม้ “โตโต้” จะครองบัลลังก์ผู้นำตลาดสุขภัณฑ์เซรามิกในญี่ปุ่นอยู่ แต่ยังมุ่งเพิ่มน้ำหนักการทำตลาดต่างประเทศมากขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย เพื่อชดเชยการหดตัวในญี่ปุ่นหลังปี 2561 ยอดขายในประเทศทรงตัวที่ 4.25 แสนล้านเยน หรือ 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ และกำไรลดลงไป 4.2 พันล้านเยนเมื่อเทียบกับปี 2560 นอกจากนี้ จีนซึ่งเป็นตลาดหลักนอกญี่ปุ่นยังชะลอตัวลงตามการชะงักงันของภาคอสังหาฯระดับไฮเอนด์

Advertisment

โดยนอกจากสหรัฐอเมริกาแล้ว ยังเร่งรุกตลาดเวียดนามกับอินเดียเช่นกัน โดยได้ขยายเครือข่ายซัพพลายเชนในเวียดนามเพื่อเสริมศักยภาพทั้งด้านเป็นแหล่งผลิตส่งออกไปยังสหรัฐและญี่ปุ่น รวมถึงการขายในประเทศ ส่วนอินเดียมีการเติบโตต่อเนื่อง และอาจกลายเป็นตลาดสำคัญในอีก 10-20 ปีข้างหน้า พร้อมกับเริ่มมองหาโอกาสในเซ็กเมนต์รีโนเวตบ้าน ที่คาดว่าจะมีดีมานด์สูงในยุคสังคมสูงวัย เช่นเดียวกับในญี่ปุ่นที่เซ็กเมนต์นี้บูมมากจนสร้างยอดขายถึง 68% ของยอดขายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ตลาดต่างประเทศนั้นยังมีความท้าทายสูง นอกจากความแตกต่างด้านวัฒนธรรมแล้วยังมีคู่แข่งจากจีนที่ราคาถูกกว่าอีกด้วย หลังทำตลาดวอชเลตนอกประเทศญี่ปุ่นมาหลายสิบปี

จนปี 2561 รายได้จากต่างประเทศมีสัดส่วนประมาณ 22% ของรายได้รวม เพิ่มขึ้น 8% จากปี 2544 ทำให้บริษัทเดินหน้าเสริมจุดขายเพื่อเพิ่มมูลค่า ไม่ว่าจะเป็นการประหยัดน้ำและขนาดที่เล็กลง

ต้องรอดูกันว่า การขาดแคลนกระดาษชำระนี้จะช่วยปลุกตลาด “บิเดต์” ในสหรัฐและประเทศตะวันตกได้มากแค่ไหน