“บีอีซี-เทโร” ฝ่าวิกฤต ต่อยอดโอกาส-ลุยไลฟ์สตรีมมิ่ง

เนล ทอมป์สัน
สัมภาษณ์

เป็นอีกครั้งที่วงการเอ็นเตอร์เทนเมนต์ต้องพบกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก งานต่าง ๆ ถูกยกเลิก หรือถูกเลื่อนไปจนหมด เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และมาตรการจากภาครัฐที่ออกมาเพื่อป้องกัน และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

แม้วันนี้สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายขึ้นบ้างแล้ว และมาตรการคลายล็อกที่รัฐบาลเริ่มผ่อนปรนให้เป็นระยะ ๆ ได้ค่อย ๆ ปลดล็อกการทำธุรกิจประเภทต่าง ๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป จนล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้อนุญาตให้การจัดกิจกรรม อีเวนต์ การแสดงดนตรี คอนเสิร์ต ฯลฯ กลับมาจัดได้อีกครั้ง แต่มีเงื่อนไขก็คือต้องรักษาระยะห่างตามที่กำหนด

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “เนล ทอมป์สัน” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ผู้คร่ำหวอดในอุตสาหกรรมเพลง การจัดคอนเสิร์ตระดับโลกในเมืองไทยมานานเกือบ 30 ปี ถึงมุมต่าง ๆ ทั้งภาพรวมอุตสาหกรรม การปรับตัว และการพัฒนาโมเดลใหม่ ๆ เพื่อที่จะรองรับกับเงื่อนไขของสังคม และคนดูที่เปลี่ยนไปในขณะนี้

“เนล” ฉายภาพว่า วิกฤตครั้งนี้เป็นการเดินทางที่น่าสนใจเลยทีเดียว และเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการปรับตัวให้ได้ เขาเองเห็นเค้าลางของการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา แต่ก็หวังว่าจะเอฟเฟ็กต์หลังจากเดือนเมษายนเป็นต้นไป ไม่คิดว่าอิมแพ็กต์ของเหตุการณ์นี้จะลุกลามไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ทุกอย่างต้องหยุดชะงักเร็วกว่าที่คาดคิดเอาไว้

เพราะโดยปกติแล้ว การจัดคอนเสิร์ตต่าง ๆ มักจะมีช่วงพีกอยู่ตอนปลายปี ถึงต้นปีไปจนถึงราว ๆ เดือนเมษายน แต่สถานการณ์ในขณะนั้นคือคอนเสิร์ต หรืออีเวนต์ทุกงาน โดนยกเลิกตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา

แม้ว่าจะไม่สามารถจัดคอนเสิร์ต หรืออีเวนต์ใด ๆ ได้ แต่บีอีซี-เทโร ก็ยังมีธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์อื่น ๆ ที่ยังสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นรายการโทรทัศน์และวิทยุ ค่ายเพลงไทยและสากล แพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ รวมถึงการหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่นำจุดแข็งของบีอีซี-เทโร มาเวิร์กร่วมกับพาร์ตเนอร์

อาทิ การจับมือกับฟิตเนส เฟิรส์ท จัดทำคลาสออกกำลังกายออนไลน์ ผ่านช่องทางเฟซบุ๊กไลฟ์ของ bectero.TV ไปจนถึงการจับมือกับบริษัทบริหารอาคารครบวงจรอย่างพีซีเอส ในการสื่อสารผ่านช่องทางต่าง ๆ ของบริษัท ขยายฐานธุรกิจการให้บริการฆ่าเชื้อ ให้สามารถเข้าถึงฐานลูกค้าที่กว้างขึ้นได้

และเขายังอยู่ระหว่างการพัฒนาแพลตฟอร์ม “live streaming” สำหรับคอนเสิร์ต ตลอดจน “hybrid” แพลตฟอร์ม เพื่อเตรียมที่จะเปิดตัวในเดือนกรกฎาคมนี้อีกด้วย

“เนล” ชี้ว่า เรื่องสำคัญที่จะต้องโฟกัสในการสตรีมมิ่งก็คือ “คุณภาพ” ของโปรดักต์ ไม่ว่าจะเป็นในด้านของภาพหรือเสียงก็ตาม ซึ่งมาตรฐานของการทำคอนเสิร์ตในรูปแบบปกติที่ผ่านมา ค่อนข้างกดดันในการทำบนแพลตฟอร์มออนไลน์อยู่ไม่น้อย ในเบื้องต้นมาตรฐานต่าง ๆ จะต้องคมชัดในระดับ HD และอาจจะมี two-way communication ที่ศิลปินและแฟนเพลงสามารถโต้ตอบระหว่างกันได้

เขาเชื่อว่าในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน (transition period) ระหว่างการจัดแบบเดิม และการขยับเข้ามาในแพลตฟอร์มออนไลน์ จะทำให้เกิดโมเดลที่เรียกว่า “hybrid” ขึ้น ซึ่งก็คือด้วยข้อจำกัดของมาตรการรักษาระยะห่าง ทำให้จำนวนของผู้ที่จะสามารถซื้อบัตรเพื่อเข้าชมคอนเสิร์ตที่จัดในรูปแบบปกติถูกจำกัดจำนวนลง แต่ผู้จัดก็ยังสามารถรองรับผู้ชมที่เหลือ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ live streaming ได้พร้อม ๆ กัน และแฟนเพลงที่ชมผ่านออนไลน์สามารถโต้ตอบกับศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบได้ด้วย

นอกจากนี้ ข้อได้เปรียบที่สำคัญของแพลตฟอร์มออนไลน์ก็คือ จำนวนคนดูที่ไม่จำกัด และไม่มีขอบเขตของความเป็นประเทศ หรือภูมิภาคมาเป็นตัวกั้น คนดูสามารถเข้าถึงการไลฟ์สตรีมได้จากทั่วโลก นั่นหมายถึงผู้ชมทั้งไทย อาเซียน ฟิลิปปินส์ จีน อเมริกา ฯลฯ สามารถเข้าชมได้พร้อมกัน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาการจัดคอนเสิร์ตของเหล่าศิลปินเค-พ็อปก็เป็นข้อพิสูจน์เรื่องนี้ได้อย่างดี

แน่นอนว่าการรับชมคอนเสิร์ตเหล่านี้ย่อมมีค่าใช้จ่าย เพราะในมุมของแฟน ๆ ที่ซื้อตั๋วเพื่อรับชมนั้นก็ต้องการสนับสนุนศิลปินที่เขาชื่นชอบไปด้วย ส่วนการตั้งราคานั้น เนื่องจากการรับชมผ่านออนไลน์ไม่ได้มีระยะห่างจากเวทีแบบการชมคอนเสิร์ตปกติ ดังนั้นก็ต้องหาจุดที่แตกต่างมาสร้างมูลค่าให้กับโปรดักต์เพิ่มเติม เช่น Meet&Greet กับศิลปินหลังคอนเสิร์ตจบ เป็นต้น

“มันเป็นเรื่องที่น่าสนุก และน่าตื่นเต้น เพราะการทำไลฟ์สตรีมมิ่งวันนี้ยังอยู่ในสเตจที่สามารถพัฒนาต่อไปได้อีกเรื่อย ๆ และมันจะมีการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ แง่มุมเพิ่มเติมแน่นอน แต่อย่างไรก็ตาม มันคงเป็นเรื่องยากที่จะเอาเทคโนโลยีเหล่านี้ไปใช้กับการแสดงอย่าง Disney On Ice หรือ Walking with Dinosaurs”

ส่วนการเตรียมตัวเพื่อกลับมาจัดคอนเสิร์ตในรูปแบบปกติอีกครั้งนั้น “เนล” ชี้ว่า เขาพร้อมที่จะปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยและสุขอนามัยของรัฐบาล และกำลังติดตามข้อมูลรายละเอียดอย่างใกล้ชิด เพื่อลดความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด แม้จะมีขั้นตอนที่เพิ่มขึ้น เช่น เช็กอินด้วยคิวอาร์โค้ด ใส่หน้ากากอนามัย วัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้าชม ไปจนถึงการทำความสะอาดในบริเวณพื้นที่การแสดงก็ตาม

โดยที่เขากำลังวางแผนที่จะจัด live show ของศิลปินในประเทศ ในช่วงไตรมาสที่ 4 และเป็นของศิลปินต่างประเทศในปีหน้า ซึ่งก็จะมีทั้ง live streaming และ hybrid ระหว่างโชว์รูปแบบปกติและสตรีมมิ่งคู่กันด้วย

ที่ผ่านมา บีอีซี-เทโรได้ยกเลิกการจัดคอนเสิร์ตไปทั้งหมด 3 งาน ได้แก่ Ruel, Baby Metal และ Khalid ส่วนงานอื่น ๆ นั้นถูกเลื่อนออกไป บางงานจัดปลายปีนี้ ส่วนศิลปินต่างประเทศเลื่อนไปจัดปีหน้า

และเร็ว ๆ นี้เขายังเตรียมจะเปิดตัวพอดแคสต์ “HUDI Podcast” ที่มาจากคำว่า “หูววว ดี !” โมเดลธุรกิจอีกรูปแบบหนึ่ง ที่จะนำคอนเทนต์เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ การใช้ชีวิตของมนุษย์ชาวออฟฟิศ เช่น เรื่องราวของการทำงาน การศึกษา การพัฒนาตัวเอง การออกกำลังกาย ฟิตเนส กีฬา การจัดการความเครียด ฯลฯ หรือแม้กระทั่งเรื่องการเงิน มาเล่าสู่กันฟังโดยทีมงานคนรุ่นใหม่

ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤตครั้งนี้ได้สร้างผลกระทบให้กับธุรกิจของบีอีซี-เทโร ไม่ต่างไปจากคนอื่น ๆ ในอุตสาหกรรม แต่การเรียนรู้ที่จะปรับตัวอย่างรวดเร็ว การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในการต่อยอดเพื่อหาโอกาสใหม่ ๆ และการพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ขึ้นมาในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งการปรับตัวต่าง ๆ จะเริ่มออกดอกออกผลให้รายได้ของบริษัทดีขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นไป

“เราอยู่ในธุรกิจที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นพื้นฐานในการทำธุรกิจอยู่แล้ว เมื่อคุณทำงานอยู่ในโลกของครีเอทีฟ มันไม่มีอะไรที่เหมือนเดิมเลยในการทำงานแต่ละครั้ง เราปรับตัวอยู่ตลอด นี่คือสิ่งสำคัญที่สุดของการทำงานในภาวะวิกฤต ความแตกต่างของวิกฤตครั้งนี้กับครั้งก่อน ๆ คือ มันเกิดขึ้นและส่งผลกระทบไปทั่วโลก กระทบกับทุกอย่างที่เราใช้ชีวิต กระทบกับทุกธุรกิจ ก่อนหน้าเราอาจจะหันไปทำธุรกิจอย่างอื่นได้ แต่วันนี้มันทำไม่ได้แล้ว ต้องยอมรับว่ามันเกิดขึ้น หาหนทางที่จะปรับตัวเพื่อผ่านมันไปให้ได้”

“เนล” บอกว่าเขาไม่ชอบเลยกับคำว่า “new normal” เพราะเขามองว่าความปกติใหม่ เป็นแค่การเปลี่ยนแปลงในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น พฤติกรรมของคน และความเป็นมุษย์ที่ต้องการเข้าสังคม สังสรรค์กับเพื่อน ฯลฯ ไม่มีทางหายไป เพียงแต่คนจะต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัว และเรียนรู้ที่จะป้องกันตัวเอง เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น

และจะไม่มีอะไรมาแทน live experience ได้ การดิสรัปต์โดยโควิดครั้งนี้จะเป็นแค่สถานการณ์ชั่วคราว เขาจึงเชื่อว่าเมื่อเหตุการณ์เริ่มดีขึ้น หรือมีการคิดค้นวัคซีนสำเร็จ อุตสาหกรรมเอ็นเตอร์เทนเมนต์ก็จะกลับมาฟื้นตัวได้อย่างแน่นอน

ผู้บริหารบีอีซี-เทโรทิ้งท้ายเอาไว้ว่า อุตสาหกรรมนี้ประกอบไปด้วยคนจำนวนมาก ผลกระทบที่เกิดขึ้นสำหรับรายใหญ่เชื่อว่าจะประคับประคองต่อไปได้จากการมีสายป่านที่ยาว แต่สำหรับรายเล็ก นักร้อง นักดนตรี ผับ บาร์ ที่มีรายได้เป็นศูนย์ตลอดช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่น่ากังวล