เจาะพฤติกรรมนักช้อปออนไลน์วันละ 9 ชม.ทำอะไรกัน

มาดู…คนไทยใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตเป็นอันดับที่5ของโลก โดยใช้เวลามากถึง 9 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งกิจกรรมช้อปปิ้งออนไลน์ถือเป็น 1 ใน 5 ที่คนไทยทำ ฟากผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซไทยต้องเร่งขยับ ทั้งหาจุดต่าง สร้างจุดขาย พร้อมเสริมบริการหลังการขาย เพื่อให้สามารถเติบโตไปพร้อมๆกับตลาดอีคอมเมิร์ซไทย

ปฎิเสธไมได้ว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 กลายเป็นตัวเร่งสำคัญที่กระตุ้นให้การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมาตรการล็อกดาว์น ขณะเดียวกันหลังสถานการณ์คลี่คลาย พบว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซกลับได้ฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ เพิ่มขึ้น

นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา นายกสมาคมผู้ประกอบการอิเล็คทรอนิคส์ไทย (Thai e-Commerce) กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจอีคอมเมิร์ซไม่ใช่ทางเลือกสำหรับธุรกิจอีกแล้ว แต่เป็นส่วนเสริมสำคัญที่จะเพิ่มการเติบโตให้แก่ธุรกิจ ทำให้ขณะนี้ช่องทางการซื้อขายสินค้าผ่านออนไลน์กลายเป็นเส้นเลือดหลักในการสร้างรายได้ให้แก่หลายๆธุรกิจไปแล้ว แต่สัดส่วนยอดขายจากช่องทางนี้อาจจะคิดเป็น 2% ของค้าปลีกโดยรวมในไทย ซึ่งถือว่าน้อยมาเมื่อเทียบกับจีน ที่กินสัดส่วน 24% ของค้าปลีก จึงมีโอกาสขยายตัวอีกมาก

อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นอีกตัวเร่งสำคัญที่ทำให้คนกลุ่มใหม่ได้ทดลองซื้อสินค้าออนไลน์ และเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย พบว่า ตลาดนี้ก็ได้ฐานนักช้อปใหม่ๆ เนื่องจากติดใจในความสะดวกไปแล้ว ประกอบการพฤติกรรมการใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตของคนไทยก็พุ่งสูงขึ้น โดยข้อมูลจาก We Are Social เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ระบุ คนไทยใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตสูงเป็นอันดับที่5 ของโลก หรือ เฉลี่ย 9.01 ชม.ต่อวัน และใช้เวลาผ่านโมบายอินเทอร์เน็ตมากเป็นอันดับที่2 รองจากฟิลิปินส์ หรือ เฉลี่ย 4.57 ชม.ต่อวัน

นอกจากนี้แอปพลิเคชั่น 5 อันดับแรกที่ คนไทยใช้เวลามากที่สุด คือ โซเซียลมีเดีย แชท ดูวีดีโอเพื่อความบันเทิง ฟังเพลงและซื้อสินค้าผ่านออนไลน์

ในส่วนเส้นทางการตัดสินใจก่อนซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ ก็มีความซับซ้อนขึ้น โดยพบว่า ผู้บริโภครับฟัง และหาข้อมูลจากหลากหลายช่องทาง ทั้งจากสื่อออนไลน์และออฟไลน์มาประกอบการตัดสินใจ อีกทั้งมีการเปรียบเทียบราคาจากหลายแหล่ง ก่อนตัดสินใจซื้อ

ทั้งหมดถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้ภาพรวมตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้น ต่อเนื่อง โดยปีนี้คาดว่าจะมีมูลค่าเป็น 220,000 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2561 ที่มีมูลค่า 163,300 ล้านบาท

ขณะที่สเต็ปต่อไป คือ ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซไทย ต้องพิจารณาต่อ ว่าจะช่วงชิงโอกาสจากการเติบโตของจำนวนชั่วโมงการใช้อินเทอร์เน็ตและการเกิดขึ้นของผู้ซื้อหน้าใหม่บนช่องทางออนไลน์ได้อย่างไร

นายธนาวัฒน์ ให้มุมมองว่า การแข่งขันของแพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลส ทั้ง ลาซาด้า ชอปปี้ เจดีเซ็นทรัล ไม่เพียงเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคแล้ว ยังถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยและแบรนด์ที่จะเจาะตลาดออนไลน์ด้วย เพราะสามารถเลือกช่องทางการขายให้เหมาะสม และเร่งสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งขัน เพราะปัจจุบันคู่แข่งขันไม่ได้อยู่ในประเทศ แต่มาจากทั่วทุกมุมโลก ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจึงต้องสร้างแบรนด์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการ เช่น มีบริการหลังการขาย ขายสินค้าในหลากหลายช่องทางเพื่อบาลานซ์ลดการพึ่งพาช่องทางใดช่องทางหนึ่ง เป็นต้น เพื่อให้สามารถเติบโตไปพร้อมกับอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซไทยที่กำลังเติบโตได้