สำรวจแนวรบศึก “ฟู้ดดีลิเวอรี่” โควิด-นิวนอร์มอล ดันโตข้ามปี

แกร็บ
Mohd RASFAN / AFP

ธุรกิจฟู้ดดีลิเวอรี่ฮอตข้ามปี เปิดแผนปี”64 ขาใหญ่เปิดศึกขยายพื้นที่บริการรับตลาดโตทะลุ 3.5 หมื่นล้านบาท “แกร็บ” เร่งเกมเปิด “คลาวด์คิทเช่น”ต่อจิ๊กซอว์เสริมอีโคซิสเต็ม น้องใหม่ “โรบินฮู้ด” ย้ำจุดยืนเพิ่มทางเลือก “ร้านค้า-ไรเดอร์-ผู้บริโภค” ฟาก “ฟู้ดแพนด้า”ปูพรมเพิ่มพื้นที่บริการเจาะระดับอำเภอทั่ว ปท. ขณะที่ “ไลน์แมนวงใน” ขยายเครือข่ายร้านค้าเป็น 4-5 แสนราย

ครีเอตเมนูพิเศษสร้างความแตกต่าง

ฟู้ดดีลิเวอรี่เป็นธุรกิจที่เติบโตมากในช่วงโควิด-19 และมีแนวโน้มโตต่อเนื่องในปี 2564 จากการแข่งขันของผู้ให้บริการรายเดิมและการเข้ามาของผู้เล่นหน้าใหม่ ๆ ไม่นับตัวแปรใหม่จากประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่องแนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มรับและส่งอาหาร กับผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งจะบังคับใช้ในปีหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรชี้แข่งขันสูง

“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ระบุว่า การแข่งขันในธุรกิจฟู้ดดีลิเวอรี่ปี 2563 ต่อเนื่องถึงปี 2564 มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยจำนวนครั้งของการจัดส่งอาหารไปยังที่พักในปี 2563 สูงกว่า 66-68 ล้านครั้งหรือโตจากปีก่อนหน้า 78-84% ถือเป็นการเติบโตที่รวดเร็วมาก

ทั้งยังประเมินว่า รูปแบบการทำธุรกิจจะยังไม่สามารถสร้างกำไรได้ ส่งผลให้ผู้เล่นบางรายที่ปรับตัวไม่ได้อาจต้องออกจากตลาด หรือเกิดการควบรวมกิจการ รวมถึงประกาศใหม่จากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2564 ที่จะเข้ามาควบคุมอัตราค่าบริการอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้เล่นในตลาดและการเข้ามาของรายใหม่ทำให้รายเดิมต้องจัดโปรโมชั่นราคาต่อเนื่องและเข้มข้นขึ้น โดยโปรโมชั่น “ส่วนลด” จะเป็นเครื่องมือหลักในปี 2564 เพื่อช่วงชิงฐานลูกค้าใหม่และรักษาฐานลูกค้าเดิม

การเข้ามาของรายใหม่ที่ไม่เก็บค่าธรรมเนียมสร้างความท้าทายให้ผู้เล่นรายเดิม แต่เชื่อว่าความแข็งแกร่งของรายเดิมทั้งเครือข่ายร้านอาหาร ผู้ให้บริการขนส่ง (riders) ฐานลูกค้าและโปรโมชั่น ทำให้รายใหม่ต้องหากลยุทธ์การตลาดใหม่ ๆ มาเล่น แต่ท้ายที่สุดแล้วส่วนแบ่งตลาดระหว่างรายเดิมและรายใหม่อาจไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ

“โรบินฮู้ด” ย้ำจุดยืนเพิ่มทางเลือก

นายธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ผู้ให้บริการฟู้ดดีลิเวอรี่ “โรบินฮู้ด” กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โรบินฮู้ดเกิดขึ้นภายใต้จุดยืนในการเป็นตัวช่วยผู้ประกอบการร้านอาหารรายเล็กจึงไม่เก็บค่าธรรมเนียมการใช้แพลตฟอร์ม หลังเปิดบริการปลาย ต.ค.ที่ผ่านมาได้รับการตอบรับดีมากจากทุกภาคส่วน ทั้งร้านอาหาร, ไรเดอร์ และผู้บริโภค มีร้านค้าเข้าร่วมกว่า 45,000 ร้าน มีจำนวนลูกค้าลงทะเบียนกว่า 440,000 คน มียอดออร์เดอร์ต่อวันเกือบ 10,000 ออร์เดอร์ คาดว่ามูลค่าการสั่งจะถึง 100 ล้านบาทในสิ้นปีนี้ และเพิ่มเป็น 3,000 ล้านบาท ในปี 2564

“ตลาดฟู้ดดีลิเวอรี่ปีหน้าโตกว่าปีนี้แน่ ๆ จากหลายปัจจัย ทั้งความเคยชินของผู้บริโภค สถานการณ์โควิดที่ยังคงอยู่ การแข่งขันของผู้ให้บริการแต่ละรายในตลาด รวมเข้ากับการปรับตัวของร้านค้าที่เข้ามาร่วมมากขึ้น สำหรับโรบินฮู้ดเองก็คงจะโตขึ้นเช่นกัน เราต้องการเป็นหนึ่งในผู้เล่นหลักที่เป็นทางเลือก ทำให้ร้านและผู้บริโภคได้ประโยชน์ ไรเดอร์มีงานทำ”

“แกร็บ” เดินหน้าอีโคซิสเต็ม

นางสาวจันต์สุดา ธนานิตยะอุดม ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด แกร็บ ประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า ตลาดฟู้ดดีลิเวอรี่จะยังโตต่อเนื่องในปีหน้า จากดีมานด์ผู้บริโภคที่สูงขึ้นและจำนวนร้านอาหารที่เข้าร่วมกับแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้น เพราะเป็นช่องทางในการเพิ่มยอดขาย ขณะที่การแข่งขันสูงขึ้น มี

ผู้ให้บริการจำนวนมาก รวมถึงรายใหม่ที่เข้ามาในตลาดต่อเนื่องถือเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภค, ร้านอาหาร รวมถึงคนขับรถ โดยมองว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่ช่วยกระตุ้นและขยายตลาด ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดรูปแบบการแข่งขันอย่างเสรีโดยมีผู้บริโภคเป็นผู้ตัดสิน

ปัจจุบันแกร็บมียอดดาวน์โหลดรวมกว่า 15 ล้านครั้ง สำหรับแผนธุรกิจในปี 2564 ยังคงเดินหน้าสร้างการเติบโตให้ธุรกิจผ่านการสร้างอีโคซิสเต็มที่แข็งแรง ทั้งร้านอาหาร พาร์ตเนอร์คนขับ และผู้บริโภค ด้วยการรักษา 4 จุดแข็ง คือ

  1. การเชื่อมต่ออย่างสมบูรณ์ของอีโคซิสเต็มของแกร็บ ไม่ว่าจะเป็นบริการการเดินทาง สั่งอาหาร การส่งพัสดุ และ e-Wallet เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภค
  2. ออกแบบแคมเปญที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคตลอดปี
  3. สร้างความเชื่อมั่นในบริการที่รวดเร็ว ด้วยจำนวนคนขับมากถึง 1 แสนคนทั่วประเทศ
  4. การรักษาคุณภาพของสินค้าและบริการ

ปัจจุบันให้บริการ 47 จังหวัด และในปี 2564 จะขยายคลาวด์คิทเช่น “GrabKitchen” ต่อ เน้นย่านเศรษฐกิจสำคัญของกรุงเทพฯและพื้นที่รอบนอก จากปัจจุบันมีแล้ว 6 แห่ง

“ฟู้ดแพนด้า” ปูพรม 77 จังหวัด

นายอเล็กซานเดอร์ เฟลเดอร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟู้ดแพนด้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ความได้เปรียบเหนือคู่แข่งของฟู้ดแพนด้าคือเป็นฟู้ดดีลิเวอรี่ที่ให้บริการ 77 จังหวัดทั่วไทย หลังเปิดมา 2 เดือน พบว่าผลตอบรับดี ทั้งจากคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว สำหรับทิศทางปี 2564 จะขยายพื้นที่บริการไปยังเมืองชั้นนอกของแต่ละจังหวัด และสร้างบริการครบวงจร ด้วยการขยายไปยังการจัดส่งสินค้าหมวดอื่น ๆ เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์, ดอกไม้ และยา และมีแผนระยะยาวเข้าไปสนับสนุนร้านค้ารายเล็กในชุมชนต่างจังหวัดมากขึ้น เพื่อให้ร้านค้ากลุ่มนี้มีรายได้เพิ่ม

“การเก็บค่า GP 35% ผลักดันให้ยอดขายของร้านอาหารสูงขึ้นด้วย อยากให้มองว่าการใช้แพลตฟอร์มฟู้ดดีลิเวอรี่เป็นตัวกระตุ้นให้ร้านค้าเกิดทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัล เพิ่มช่องทางการหารายได้ใหม่ เรานำค่า GP ไปช่วยร้านค้าทำการตลาดออนไลน์ และต่อยอดพัฒนาแพลตฟอร์มให้ผู้บริโภคได้รับประสบการณ์ที่ดีกว่าเดิม”

ด้านนายยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไลน์แมนวงใน กล่าวว่า ตลาดฟู้ดดีลิเวอรี่มีโอกาสเติบโตมากขึ้นในปีหน้า โดยเฉพาะตลาดต่างจังหวัด ซึ่งไลน์แมนกำลังขยายพื้นที่บริการจากปีนี้ให้บริการแล้ว 36 จังหวัด และทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์กลุ่มร้านอาหารมากขึ้น ทั้งจัดโปรโมชั่นและสร้างเมนูพิเศษ โดยจะขยายพาร์ตเนอร์ให้ครอบคลุม 4-5 แสนร้านค้าทั่วประเทศ

“เราไม่ต้องการเอาเปรียบร้านค้า โดยร้านค้าเลือกได้อย่างอิสระว่าจะเข้าร่วมโครงการ GP หรือไม่ ซึ่งในระบบมีร้านจำนวนมากเข้าร่วมดีลิเวอรี่แบบไม่หัก GP เราไม่บังคับให้ร้านต้องเซ็นสัญญา GP อยู่แล้ว ทั้งเงื่อนไขของ LINE MAN ยังให้อิสระ ไม่มีเรื่องการห้ามเซ็นสัญญากับฟู้ดดีลิเวอรี่รายอื่น กรณีข้อกำหนดของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เราจึงจะไม่ได้รับผลกระทบ”