โรดแมป “ซีพีแรม” ชู Plant Based ปลุกตลาด

สัมภาษณ์

ถูกดิสรัปต์มาอย่างต่อเนื่อง จากการเข้ามาของเทคโนโลยี รวมถึงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ธุรกิจรายใหญ่และรายเล็กได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้าตั้งแต่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ค้าปลีก แม้กระทั่งธุรกิจอาหาร ซึ่งเป็นสินค้าจำเป็นต่อการบริโภคในชีวิตประจำวัน ไม่เว้นแม้แต่ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตอาหารพร้อมทานและเบเกอรี่ “ซีพีแรม” ในเครือซีพี ออลล์ ที่ต้องปรับตัวรับมือเช่นกัน

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสร่วมสัมภาษณ์ “วิเศษ วิศิษฏ์วิญญู” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด ในเครือบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในงานแถลงข่าวประจำปี 2564 ถึงยุทธศาสตร์การดำเนินงานจากนี้ไป

แม่ทัพใหญ่ซีพีแรมเริ่มต้นสนทนาว่า จากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น แน่นอนว่ากระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ หากสังเกตจะเห็นว่าหลาย ๆ ธุรกิจมีอัตราการชะลอตัว และในบางกลุ่มธุรกิจปรับตัวรับมือได้ช้า ได้ปิดตัวลงไปจำนวนมาก แม้ว่าภาครัฐจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายครั้ง แต่ปัจจัยเรื่องกำลังซื้อยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากผู้คนเริ่มระมัดระวังการจับจ่าย

เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอาหารพร้อมทานที่มีมูลค่าราว ๆ 20,000 ล้านบาท มีอัตราการชะลอตัวลงกว่า 20% จากก่อนหน้านี้อาหารพร้อมทานประเภทต่าง ๆ นั้นได้รับความนิยมจากไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่มีเวลาจำกัด ต้องการสินค้าที่สะดวก และรวดเร็ว ทำให้ 2-3 ปีที่ผ่านมาภาพรวมตลาดอาหารพร้อมรับประทานเติบโตขึ้นเฉลี่ย 10% ต่อปี

จนกระทั่งวันนี้วิกฤตโควิดได้เข้ามาดัสรัปต์พฤติกรรมของผู้บริโภค โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่อาศัยอยู่บ้านมากขึ้น และมีการประกอบอาหารรับประทานเอง รวมถึงความหลากหลายของเมนูอาหารในแพลตฟอร์มดีลิเวอรี่ หลาย ๆ ค่ายได้เข้ามาเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการในตลาดต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างหนัก และจำเป็นต้องนำเสนอสินค้าที่แปลกใหม่ในราคาที่เข้าถึงง่าย สะอาดและสะดวก เพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายในตลาดแมสซึ่งเป็นฐานลูกค้าใหญ่

เช่นเดียวกับซีพีแรม ในแง่ของผลประกอบการปี 2563 มีรายได้ 19,373 ล้านบาท ลดลง 3% แม้ว่าไม่สามารถทำยอดขายได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่ถือว่าใกล้เคียงกับปี 2562 ที่มีรายได้ 19,922 ล้านบาท ซึ่งกระทบน้อยสุด หากเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น โดยการปรับตัวหลัก ๆ มาจากการพัฒนาสินค้าใหม่ประมาณ 338 รายการ ทำให้ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เบเกอรี่และอาหารพร้อมทานมากกว่า 1,500 เอสเคยู

“วิเศษ” กล่าวต่อถึงกลยุทธ์และทิศทางของซีพีแรมในปี 2564 จากนี้หัวใจหลักของการบริหารงาน นอกจากเรื่องกำไรแล้วยังต้องขับเคลื่อนสังคม โดยเฉพาะความต้องการของผู้บริโภคควบคู่กันไป เริ่มจากการให้ความสำคัญในการพัฒนาโปรดักต์ เน้นนวัตกรรมใหม่ ทั้งเซ็กเมนต์อาหารแช่เย็นพร้อมทาน และเบเกอรี่ ภายใต้แบรนด์เลอแปง ชูจุดแข็งด้านคุณภาพ ความอร่อย ราคาเข้าถึงง่าย ตลอดจนการจัดรายการส่งเสริมร่วมกับร้านค้าเพื่อกระตุ้นการจับจ่าย ทั้งในช่องทางร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น และร้านสะดวกซื้ออื่น ๆ ทั่วไปให้เข้าถึงผู้บริโภคทั่วประเทศ

พร้อมทั้งยังสานต่อโครงการ “อิ่มคุ้ม” จากปีที่ผ่านมาได้ทดลองไปแล้ว ในรูปแบบการร่วมมือกับร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น นำเมนูอาหารพร้อมรับประทานมาจำหน่ายในราคาย่อมเยา และมีปริมาณคุ้มค่า ถือเป็นกลยุทธ์หลักของซีพีแรมที่จะเข้ามากระตุ้นการขาย และช่วยลดค่าครองชีพผู้บริโภค

รวมถึงยังให้ความสำคัญในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีให้ทันต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยที่ผ่านมาซีพีแรมจะเน้นกลยุทธ์เพอร์ซันนอลไลซ์ ผลิตสินค้าเฉพาะเจาะจง เช่น อาหารสำหรับบุคคลเฉพาะกลุ่มสำหรับผู้สูงอายุและเด็ก ที่ได้รับการตอบรับมาต่อเนื่อง และปัจจุบันได้ขยับขยายมาให้ความสำคัญกับสินค้าโปรตีนจากพืชที่กำลังเป็นกระแสที่เติบโตอย่างมาก

โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่เป็นตัวแปรให้ผู้บริโภคหลากหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นวัยทำงาน กลุ่มที่บริโภคมังสวิรัติ ผู้สูงอายุ วัยรุ่น ให้ความสนใจและเลือกรับประทานอาหารประเภทนี้กันเป็นจำนวนมาก

ล่าสุดได้เปิดตัวแพลนต์เบสในรูปแบบพร้อมรับประทาน หรือ ready to eat ภายใต้ตราสินค้า “วีจีฟอร์เลิฟ” (VG for Love) อาหารกลุ่มใหม่ “plant based diet” ที่ต้องการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้บริโภคได้มีทางเลือกในการรับประทานโปรตีนจากพืชทั้งในด้านรสชาติ คุณประโยชน์ มี 5 ประเภท ได้แก่ อาหารเจ, อาหารวีแกน, อาหารมังสวิรัติกับนม, อาหารมังสวิรัติกับไข่ และอาหารมังสวิรัติกับนมและไข่ กว่า 10 รายการ อาทิ ข้าวกะเพราหมูพีบี, ข้าวคะน้าหมูกรอบพีบี, ข้าวผัดเห็ดออรินจิพีบี เป็นต้น ราคาเริ่มต้น 39-49 บาท

เริ่มทดลองตลาดผ่านช่องทางร้านสะดวกซื้อในกรุงเทพฯและปริมณฑล และพร้อมขยายจุดจำหน่ายครอบคลุมทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าสร้างยอดขายสินค้ากลุ่มใหม่ในปีนี้ไว้ 120 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังได้ทุ่มงบประมาณ 2,660 ล้านบาท สร้างโรงงานเบเกอรี่แห่งใหม่ในอุตสาหกรรมปิ่นทอง จังหวัดชลบุรี โดยโรงงานดังกล่าวสามารถเพิ่มกำลังการผลิต 1.2 ล้านชิ้นต่อวัน มีกำหนดการสร้างเสร็จและเปิดดำเนินงานในช่วงกลางปี 2565 ถือว่าเป็นโรงงานเบเกอรี่แห่งที่ 6 นอกเหนือจากโรงงานผลิตอาหารพร้อมทานอีก 10 แห่ง เพื่อรองรับความต้องการผู้บริโภค

สำหรับปีนี้ บริษัทตั้งเป้าการเติบโตของยอดขายไว้ประมาณ 10% หรือมียอดขายประมาณ 21,310 ล้านบาท โดยหลัก ๆ จะมาจากกลุ่มอาหารแช่แข็งและอาหารแช่เย็นพร้อมรับประทาน ประมาณ 70% และอีก 30% มาจากเบเกอรี่