เอ็มไอ ชี้อุตฯโฆษณาปี 64 สัญญาณบวก เม็ดเงินพุ่ง 7.9 หมื่นล้าน โตแรง 10%

ภาพ Pixabay

เอ็มไอ เผยมูลค่าอุตสาหกรรมโฆษณาพุ่ง 7.9 หมื่นล้าน โตขึ้น 5-10% สัญญาณบวก ภาคธุรกิจเริ่มกล้าใช้งบโฆษณา ทีวี, ดิจิทัล, สื่อนอกบ้าน ทำเงินมากสุด ขณะที่อุตสาหกรรมรถยนต์-สุขภาพ-การสื่อสาร-อีมาร์เก็ตเพลส-เครื่องดื่ม กลุ่มหลักทำเม็ดเงิน

นายภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือเอ็มไอ มีเดียเอเยนซี่รายใหญ่ เปิดเผยว่า แม้ในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา จะมีข่าวคลัสเตอร์ใหม่ที่ตลาดบางแค แต่ท่าทีของประชาชนส่วนใหญ่จะไม่ตื่นตระหนกเหมือนครั้งก่อน ๆ

ซึ่งอาจมาจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่กินเวลามากว่า 1 ปี ทำให้เกิดความคุ้นชินกับสถานการณ์มากขึ้น และปัจจัยดังกล่าวทำให้ภาคธุรกิจเริ่มกลับมาใช้งบโฆษณา เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายปลายไตรมาส 1 ในกลับมาคึกคักอีกครั้ง

ภวัต เรืองเดชวรชัย

“แม้ปีนี้จะมีความท้าทายจากกำลังซื้อหดตัว อัตราการว่างงานสูง นักท่องเที่ยวยังไม่กลับมา ไปจนถึงปัญหาด้านการเมือง แต่คาดว่าเม็ดเงินโฆษณาเติบโตขึ้นอย่างน้อย 5-10% มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 79,619 ล้านบาท จากในปี 63 ที่มีมูลค่ารวมราว 73,720 ล้านบาท หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 8%”

โดยแบ่งเป็น สื่อทีวี 40,409 ล้านบาท เม็ดเงินส่วนใหญ่ยังอยู่ที่ละคร 40-50% รองลงมาเป็นรายการข่าว 20-30% ซึ่งหลัก ๆ มาจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่ยังคงเสพความบันเทิงและติดตามข่าวสารรอบตัวอย่างต่อเนื่อง

Advertisment

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสนใจว่า ช่องทีวีดิจิทัลที่แย่งชิงเม็ดเงินโฆษณา กลับไม่ใช่ช่องหลักด้วยกันเองอย่างช่อง 3, 5, 7, 9 แต่กลับเป็นช่อง One, Workpoint, MONO ซึ่งส่วนใหญ่เสิร์ฟคอนเทนต์ความบันเทิงหลากหลาย

ส่วนสื่อดิจิทัล ในปีนี้คาดว่าจะมีเม็ดเงิน 21,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะตกที่แพลตฟอร์มเจ้าดังอย่างเฟซบุ๊ก รองลงมาเป็นกูเกิล ส่วนที่มาแรงไม่แพ้กันคงเป็นตลาดอินฟลูเอนเซอร์ KOL แม้ยังไม่มีใครรู้มูลค่ารวมของตลาดดังกล่าว แต่ถูกคาดการณ์ไว้ว่าน่าจะมีเม็ดเงินโฆษณาในตลาดนี้พอสมควร

สังเกตได้จากในระยะหลังมานี้ แบรนด์ต่าง ๆ เริ่มหันมาใช้งบโฆษณากับกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ KOL เนื่องจากเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย และในอนาคตคาดว่าช่องทางนี้จะเป็นอีกช่องทางหลักที่สร้างเม็ดเงินให้แก่สื่อออนไลน์มากยิ่งขึ้น

สำหรับสื่อนอกบ้าน มีมูลค่า 9,883 ล้านบาท เริ่มมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เริ่มกลับมาเดินทางมากยิ่งขึ้น เป็นไปในทิศทางเดียวกับสื่อวิทยุ 2,900 ล้านบาท ที่มีปัจจัยเอื้อจากโควิด กลายเป็นสื่อที่มีคนฟังมากขึ้น และคาดว่าจะกลายเป็นอีกสื่อที่จะเจาะกลุ่มคนเฉพาะกลุ่มได้

Advertisment

ส่วนสื่อโรงภาพยนตร์ ปีนี้จะมีมูลค่าประมาณ 1,360 ล้านบาท แต่ยังคงน่าเป็นห่วง เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มเคยชินกับการดูสื่อในบ้าน ทั้งนี้ปัจจัยที่จะทำให้สื่อดังกล่าวกลับมาดีขึ้นคือ ภาพยนตร์ต้องมีเอฟเฟ็กต์กับกลุ่มคนมากพอ แบรนด์จึงกล้าลงเม็ดเงิน

ด้านสื่อหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ที่มีมูลค่า 2,700 และ 600 ล้าน ตามลำดับ ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง และยังไม่มีทีท่าจะกลับมาบวก

ทั้งนี้ นายภวัต ประเมินว่าในปีนี้จะมี 5 อุตสาหกรรมหลักที่ช่วยผลักดันเม็ดเงินโฆษณา ได้แก่

1.กลุ่มยานยนต์และประเภทรถยนต์ ด้วยปัจจัยผู้เล่นรายใหม่จากจีนที่เข้ามาทำตลาด ผนวกกับกระแสรถยนต์ไฟฟ้า EV อีกหนึ่งเทรนด์ที่มาแรง ซึ่งจะช่วยทำให้ตลาดคึกคักอีกครั้ง

2.กลุ่มสุขภาพและความงาม เนื่องจากการมาของโรคอุบัติใหม่ รวมไปถึงมลพิษต่าง ๆ ทำให้ผู้บริโภคหันมาใส่ใจสุขภาพ ส่งผลให้ตลาดโตตามขึ้นมา

3.กลุ่มสื่อโทรคมนาคมและอุปกรณ์สื่อสาร ในปี 64 เทคโนโลยี 5G จะเข้ามาเต็มอย่างเต็มรูปแบบ ส่งผลให้ตลาดมีแนวโน้มสดใส

4.กลุ่มอีมาร์เกตเพลส การกระตุ้นการขายด้วยแคมเปญดับเบิลเดย์ อาทิ 11.11, 3.3 จะทำให้แบรนด์ใช้งบโฆษณาเพื่อโปรโมตเทศกาลการจับจ่ายดังกล่าว

5.กลุ่มเครื่องดื่ม โดยเฉพาะเครื่องดื่มฟังก์ชั่นนอลดริงก์ เครื่องดื่มวิตามิน ช่วยกระตุ้นเม็ดเงินค่อนข้างมาก

“อย่างไรก็ตาม แม้ปีนี้เม็ดเงินโฆษณามีแนวโน้มดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา แต่การจะฟื้นตัวกลับไปเท่าปี 62 ที่มีเม็ดเงินราว 90,000 ล้านบาท คงต้องใช้เวลา 2 ปี หรือประมาณปี 66 ส่วนการที่อุตสาหกรรมโฆษณาจะมีมูลค่าแตะหลักแสนล้าน คิดว่าคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากแลนด์สเคปเปลี่ยนไปมากแล้ว”