ห้างกระอักทราฟฟิกวูบ 70% ธุรกิจรีวิวแผน-ลดค่าใช้จ่าย

ห้างสรรพสินค้า

ธุรกิจเขย่าแผนรับโควิด-19 ระลอก 3 กลุ่มเซ็นทรัลเน้นรักษาสภาพคล่อง บริหารสต๊อกเข้ม เร่งเครื่องแพลตฟอร์มออมนิแชนเนลลดเป้ารายได้โต 10% เหลือ 8% โอสถสภางัดกลยุทธ์บริหารจัดการต้นทุน Fit Fast Firm ลดเสี่ยงไอบีเอ็มปรับทิศเป็นผู้ให้คำปรึกษา-บริการ อสังหาฯ “ศุภาลัย-แสนสิริ-แอสเซทไวส์” ขอ Wait & See กลุ่ม “บ้านปู เพาเวอร์” บ่ยั่นเดินหน้าลงทุนตามแผน

โควิด-19 ระลอก 3 ที่แพร่ระบาดรุนแรง ยอดผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นมาก ทำให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกมาตรการคุมเข้ม ตามระดับความเสี่ยงและความรุนแรงของโควิด-19 แต่ละพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจในภาพรวมและกำลังซื้อผู้บริโภค ภาคธุรกิจ การค้า ภาคอุตสาหกรรมทั้งระบบจึงต้องปรับตัว รีวิวแผนธุรกิจและการลงทุนรองรับความไม่แน่นอน

นายสุทธิชัย จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา หรือซีพีเอ็น ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และผู้บริหารศูนย์การค้ารายใหญ่ เปิดเผยว่า โควิดระลอก 3 ส่งผลกระทบรุนแรง ทำให้ทราฟฟิกลดลง 70% สัดส่วนลูกค้าเหลือ 30-40% ซึ่งซีพีเอ็นได้วางแผนและปรับตัวรองรับด้วยการขยายช่องทางการบริการที่หลากหลาย โดยเฉพาะในส่วนแพลตฟอร์มออนไลน์ เพิ่มทางเลือกลูกค้า รวมถึงการจับมือกับร้านค้าแบรนด์ดัง จัดแคมเปญการตลาดปลุกยอด แต่มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นปลายปีนี้ หลังวัคซีนกระจายทั่วถึง ขณะเดียวกันจะเดินหน้าลงทุนโครงการมิกซ์ยูสใหม่ ๆ สร้างรายได้ หลังปีที่ผ่านมารายได้ลดลง 17% จากการระบาดของโควิด และเว้นค่าเช่าให้แก่ผู้เช่าที่ได้รับผลกระทบ

สำหรับแผนงานระยะยาวเน้นบริหารจัดการต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ ลดต้นทุน รับมือเศรษฐกิจชะลอตัว พร้อมมองหาโอกาสทางการเติบโตใหม่ ๆ ในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง พร้อมศึกษาโอกาสการลงทุนในเวียดนามและอาเซียนเพิ่ม หวังต่อเสริมแกร่งธุรกิจในต่างประเทศหลังโควิดคลี่คลายตามแผนระยะยาว

ลดต้นทุน-รักษาสภาพคล่อง

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น หรือซีอาร์ซี ธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ กล่าวในเรื่องนี้ว่า บริษัทได้ปรับแผนธุรกิจเพื่อรับมือการระบาดระลอก 3 ที่หนักกว่าครั้งก่อน ๆ เน้นรักษาสภาพคล่องและระมัดระวังการสต๊อกสินค้า โดยคัดเลือกและสำรองสินค้าที่มีความต้องการสูงในแต่ละช่องทาง พร้อมเร่งเครื่องแพลตฟอร์มออมนิแชนเนลที่มีอยู่ ทั้งแชทแอนด์ช้อป คอลแอนด์ช้อป คลิกแอนด์คอลเล็ก เว็บไซต์ แอปพลิเคชั่น ฯลฯ เพื่อรองรับดีมานด์ของผู้บริโภคและสร้างรายได้ โดยใช้สาขาออฟไลน์เป็นศูนย์กลางในแต่ละพื้นที่

นอกจากนี้ยังปรับลดเป้าการเติบโตของรายได้ปี 2564 จาก 10% เหลือ 8% อย่างไรก็ตามบริษัทยังเดินหน้าลงทุนมูลค่า 1.6-1.8 หมื่นล้านบาทตามแผนที่วางไว้ สำหรับการขยายและรีโนเวตสาขาของแบรนด์ต่าง ๆ ในเครือ ทั้งในไทย เวียดนาม และอิตาลี และอัพเกรดระบบหลังบ้าน-ไอทีเพื่อขยายศักยภาพของออมนิแชนเนล

“อีกแนวทางหนึ่งคือยกระดับด้านความปลอดภัยทั้งภายในและภายนอก อาทิ การรักษาความสะอาด การคัดกรองผู้ใช้บริการ-พนักงาน นำมาตรการเวิร์กฟรอมโฮมมาใช้มากขึ้น เป็นต้น พร้อมจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด”

ใช้วิกฤตเป็นโอกาสทางการตลาด

นางวรรณิภา ภักดีบุตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.โอสถสภา ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค-เครื่องดื่มรายใหญ่ ระบุว่า โอสถสภาจะสานต่อโครงการบริหารจัดการต้นทุน Fit Fast Firm ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา เพื่อลดความเสี่ยงจากสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน โครงการ Fit Fast Firm หลัก ๆ มุ่งไปที่การควบคุมต้นทุนในแต่ละกลุ่มธุรกิจ ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น แผนงานอะไรที่เลื่อนได้ก็ชะลอไปก่อน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพิ่มขีดความสามารถในการทำให้มีแคชโฟลว์ในการดำเนินธุรกิจ และวางแผนเป็นซีนาริโอให้มั่นใจได้ว่าจะไม่มีปัญหา ตั้งเป้าลดต้นทุนค่าใช้จ่าย 2.5 พันล้านบาท ระหว่างปี 2562-2566 หรือ 500-800 ล้านบาทต่อปี

ขณะเดียวกันจะให้ความสำคัญกับกลยุทธ์สร้างกำไรมากกว่ายอดขาย ปรับวิธีการทำงาน ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ส่วนการลงทุนจากนี้จะระมัดระวังมากขึ้น ใช้วิกฤตเป็นโอกาสทำตลาดต่อเนื่องผ่านทีมขายที่กระจายสินค้า การพัฒนาและคิดค้นผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมใหม่ โดยแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์จะมีกลยุทธ์การทำตลาดแตกต่างกัน

ไอบีเอ็มเขย่าวิธีทำงานใหม่

นางสาวปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปีก่อนจนถึงรอบล่าสุดทำให้บริษัทต้องปรับวิธีการบริหารจัดการภายในองค์กรมาต่อเนื่อง เพื่อรองรับความไม่แน่นอน เริ่มจากการปรับทิศทางการดำเนินธุรกิจมายังการเป็นผู้ให้คำปรึกษาและบริการต่าง ๆ ให้กับลูกค้ามากกว่าขายฮาร์ดแวร์แบบเดิม รวมถึงปรับระบบการทำงานใหม่ให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน ส่งผลให้กว่า 80% ของพนักงานที่มีอยู่ 1,000 คน ทำงานที่บ้านมาแล้ว 14-15 เดือน และยังต้องดำเนินการต่อไป ที่ผ่านมาสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้บริษัทยังสามารถสร้างการเติบโตในทางธุรกิจได้

“เราปรับตัวต่อเนื่องและคงไม่มีวันสิ้นสุดเพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลงรวดเร็วตลอดเวลา ทีมไอบีเอ็มจึงต้องเตรียมพร้อม ปรับตัวตลอดเวลาเช่นกัน หน้าที่ของเราคือนำเทคโนโลยีไปช่วยบริษัท องค์กรต่าง ๆ ให้สามารถก้าวผ่านมรสุมนี้ให้เร็วที่สุด เราเชื่อว่าเทคโนโลยีช่วยทำให้องค์กรต่าง ๆ เติบโตได้ต่อเนื่อง”

อสังหาฯขอ Wait & See

นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บมจ.ศุภาลัย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ไตรมาส 2/64 เพิ่งผ่านมาได้ 1 เดือน ดังนั้น ณ ตอนนี้แผนการเปิดตัวโครงการใหม่ยังเหมือนเดิม เป้าหมายต่าง ๆ ยังไม่เปลี่ยน ถ้าจะเปลี่ยนจริง ๆ ต้องรอมอนิเตอร์ภาพรวมตลาดก่อน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะศุภาลัยไม่มีโครงการคอนโดมิเนียมที่จะเปิดในไตรมาสนี้ด้วย จึงไม่มีแรงกดดันมาก ขณะที่สินค้าแนวราบยังไปได้ แม้ระยะสั้นลูกค้าอาจจะวิสิตไซต์ได้น้อยลง แต่เข้าใจได้ เพราะฉะนั้นจะยังไม่ได้ปรับตอนนี้ ส่วนคอนโดฯ บริษัทจะเปิดตัวช่วงครึ่งปีหลัง

นายกรมเชษฐ์ วิพันธ์พงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอสเซทไวส์ กล่าวว่า บริษัทกลับไปใช้โหมดปี 2563 รับโควิด-19 ระลอก 3 การทำงานปรับวิธีการ approach ลูกค้า จึงไม่มีข้อกังวลอะไร สำหรับแผนลงทุนยังเดินหน้าไปตามเดิมที่ประกาศไว้ต้นปี โดยไตรมาส 2/64 จะเปิดตัวคอนโดฯ Atmoz บางนา ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างสำนักงานขาย

“ช่วงนี้ลูกค้าอาจจะกังวลการ walk มาสำนักงานขาย เพราะฉะนั้นจะมีทีมเซลส์ออนไลน์คอยให้ข้อมูลผ่านออนไลน์แทน ถ้าลูกค้าอยากเจอก็ค่อยมาเจอเป็นการลดความเสี่ยง สำนักงานขายก็มีมาตรการการรักษาความสะอาด พื้นที่กว้างขวาง ไม่ได้หนาแน่น ถือว่าเป็นการ distancing ไปในตัว”

ขณะที่นายอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บมจ.แสนสิริ มองว่าเมื่อมีโควิดแล้ว 3 รอบ ในอนาคตโควิดรอบที่ 4 อาจตามมาอีก บริษัทจึงต้องปรับตัวพร้อมรับมือสถานการณ์โควิดอย่างเข้มแข็ง

“ถามว่าโควิดรอบ 3 มีผลต่อแผนการเปิดตัวไตรมาส 2/2564 หรือไม่ ตอบว่าไม่มี ที่ผ่านมาเราเตรียมตัวอยู่แล้ว เชื่อว่าเวฟ 2 เวฟ 3 อนาคตเวฟ 4 ยังไงก็ต้องมี ก็ต้องปรับตัว แต่ยังไม่เปลี่ยนแปลงแผนลงทุน” นายอุทัยกล่าว

“บ้านปู เพาเวอร์” ยังลงทุน

นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ หรือ BPP กล่าวในทำนองเดียวกันว่า บริษัทประเมินสถานการณ์ตลอดเวลาเเละมีแผนรองรับเช่นกัน ปีนี้ยังเดินหน้าลงทุนตามแผนเดิมที่วางไว้ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการลงทุนต่างประเทศ แต่รูปแบบการทำงานอาจมีผลบ้างกรณีปรับรูปแบบทำงาน new normal ต้องใช้เวลาในการเจรจา จะบอกว่าไม่กระทบเลยคงไม่ได้ ส่วนเรื่องการฉีดวัคซีนในประเทศไทยนั้นเป็นเรื่องของสาธารณสุข แต่เชื่อมั่นว่าไทยน่าจะบริหารจัดการได้ สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายช่วงกลางปี

แผนธุรกิจปี 2564 บริษัทยังมุ่งเน้นสร้างการเติบโตในธุรกิจโรงไฟฟ้าทั้ง 2 ส่วนคือ “โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน” (renewable energy) และ “โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป” (thermal power) มุ่งสู่เป้าหมายแผนธุรกิจ 5 ปีข้างหน้า (2564-2568) มีกำลังผลิตรวม 5,300 เมกะวัตต์ (MW) จากปัจจุบัน 2,856 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 800 เมกะวัตต์ กำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อน 4,500 เมกะวัตต์ จากปี 2563 กำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 347 เมกะวัตต์ พลังงานความร้อน 2,403 เมกะวัตต์

ส่งออกเสื้อผ้ากีฬาโตสวนโควิด

นายวสันต์ วิตนากร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไฮ-เทค แอพพาเรล ผู้ผลิตเสื้อผ้ากีฬาส่งออกรายใหญ่อันดับ 2 ของไทย กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ปีที่ผ่านมาความต้องการชุดกีฬาชะลอตัวลง บริษัทจึงปรับแผนไปผลิตหน้ากากอนามัยผ้าและชุด PPE แต่ปีนี้สถานการณ์โควิดในต่างประเทศผ่อนคลาย กิจกรรมด้านกีฬาเริ่มกลับมา ความต้องการสินค้ามีมากขึ้น คาดว่ายอดขายจะขยายตัว 13-15% มูลค่า 230 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้านการลงทุนบริษัทมีแผนขยายการลงทุนตั้งโรงงานใหม่ที่เวียดนาม เพื่ออาศัยสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากที่เวียดนามมีข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศแถบยุโรป

ขณะที่โรงงานในกัมพูชา สปป.ลาวมีการเพิ่มกำลังคนรองรับคำสั่งซื้อที่มีเพิ่มเข้ามามาก โดยเฉพาะกัมพูชาจะเพิ่มกำลังคนให้ได้ 2,000 คน โดยรวมทั้ง 4 โรงงานรวมทั้งโรงงานในประเทศไทยกำลังการผลิตยังเพิ่มขึ้น และนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทั้งนี้การค้าออนไลน์ที่เติบโตขึ้นจะผลักดันให้ยอดส่งออกสินค้าเป็นไปในทิศทางที่ดีตามเป้าที่วางไว้ โดยตลาดส่งออกสำคัญของบริษัท เช่น ยุโรป สหรัฐ จีน