สธ. กางแผนสู้เดลต้า ดีลเอกชนหายา พร้อมตั้งรับโควิดอนาคต

สธ. ย้ำไม่นิ่งนอนใจ เร่งหายาใหม่รักษาโควิด รับมือไวรัส 360 องศา ดีลบริษัทผู้แทนยาต่างประเทศ จับตา “โมลนูพิราเวียร์” สรรพคุณคล้ายฟาวิพิราเวียร์ คาดผ่าน FDA อเมริกา ต.ค. นี้ ก่อน พ.ย. เตรียมนำขึ้นทะเบียน อย.ไทย ใช้รักษาโควิดในประเทศ

วันที่ 6 กันยายน 2564 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ อาทิ มิว (MU) ซึ่งอาจดื้อวัคซีน และหลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้นนั้น ขณะนี้สำหรับส่วนของยารักษา ในต่างประเทศเริ่มทำการวิจัยยาหลายตัวเข้าระยะที่ 2-3 แล้ว และภายใน ก.ย.-พ.ย. นี้ อาจได้ผลก็เป็นได้

สำหรับกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้นิ่งนอนใจเรื่องดังกล่าว พร้อมทั้งได้หารือกับบริษัทผู้แทนยาในต่างประเทศเสมอ ไม่ว่าจะเป็นยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ของบริษัท เอ็มเอสดี (MSD), ยาโปรตีเอส อินฮิบิเตอร์ (Protease Inhibitor) ของ บริษัท ไฟเซอร์ โดยได้พูดคุยเจรจาว่า หากทดลองในระยะที่ 3 ได้ผลดี มีการขึ้นทะเบียนถูกต้อง เราจะรีบนำมาใช้ในอนาคต

ส่วนการศึกษาในประเทศไทย ทั้งโรงเรียนแพทย์ กทม. กรมการแพทย์ ก็ได้แบ่งหน้าที่กันประเมิน เช่น ยาฟาวิพิราเวียร์ ฟ้าทะลายโจร หรืออื่น ๆ ที่ใช้กันอยู่ โดยผลศึกษาวิจัยจะทยอยออกมาภายใน 1-2 เดือนนี้

นอกจากนี้ อธิบดีกรมการแพทย์ยังกล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดหายารักษาโรคโควิด-19 โดยระบุว่า จากการศึกษาวิจัยการใช้ไอเวอร์เม็กติน (ยาถ่ายพยาธิในสัตว์) ในต่างประเทศ พบว่า ไม่ได้ผล และไม่ได้มีคำแนะนำให้ใช้

ส่วนการศึกษาใน รพ.ศิริราช ก็ยังไม่สิ้นสุด แต่ในส่วนยา โมลนูพิราเวียร์ ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาทดลองระยะ 3 และขอขึ้นทะเบียนยาขององค์การอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐอเมริกา (USA) หากสำเร็จ ก็คาดว่าจะมีการขึ้นทะเบียนในเดือนตุลาคมนี้ และหากสำเร็จก็จะมีการขึ้นทะเบียนในไทยได้ในราวเดือนพฤศจิกายนนี้

ทั้งนี้ ยาโมลนูพิราเวียร์ เป็นยาตระกูลเดียวกับฟาวิพิราเวียร์ มีสรรพคุณยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสในชั้นเซลล์ เหมาะกับการใช้รักษาในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการรุนแรง

“หากการทดลองยานี้สำเร็จ ก็จะนำมาทดแทนยาฟาวิพิราเวียร์ สำหรับขนาดการใช้อยู่ที่ 40 เม็ด รับประทานต่อเนื่อง 5 วัน จากเดิมยาฟาวิพิราเวียร์ใช้ 50 เม็ด รับประทานต่อเนื่อง 5 วัน ส่วนยาโปรตีเอสฯ ซึ่งเป็นยาของบริษัท ไฟเซอร์ ยังอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย”