Gen 3 กันตนา…สานต่อ ดันคอนเทนต์ไทยก้าวสู่โกลบอล

สัมภาษณ์

 

70 ปีบนเส้นทางสายบันเทิงของ “กันตนา” ในฐานะผู้ผลิตคอนเทนต์อันดับต้น ๆ ของไทย และขยายงานครอบคลุม 40 ประเทศทั่วโลก ผ่าน 17 บริษัทในเครือ วันนี้กันตนากำลังเริ่มทยอย “เปลี่ยนผ่าน” จาก Gen 2 สู่ Gen 3 ผ่านการเข้ามาบริหารส่วนสายงานสำคัญ และล่าสุดมีส่วนสำคัญในการผลักดันซีรีส์ไทยเรื่องแรก “อิน จัน” ไปโลดแล่นในแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งวิดีโอระดับโลก ดิสนีย์ พลัส

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “กัลป์ กัลย์จาฤก” ทายาทรุ่นที่ 3 กันตนา กรุ๊ป และบุตรชายคนเล็กของ “จาฤก กัลย์จาฤก” ประธานกรรมการ กันตนา กรุ๊ป ที่ปัจจุบันเข้ารับผิดชอบในหลายส่วนงาน อาทิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานคอนเทนต์และโปรดักชั่น บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กรรมการผู้จัดการ บริษัท กันตนา โมชั่น พิคเจอร์ส จำกัด

Q : ภาพรวมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และคอนเทนต์ไทยในปัจจุบัน

ช่วงโควิดก็ค่อนข้างที่จะลำบาก เพราะกองถ่ายก็ถ่ายไม่ได้ อุตสาหกรรมมันเดินด้วยคอนเทนต์ จะทำอะไรใหม่ ๆ มันก็ค่อนข้างยาก หรือแม้กระทั่งต่างชาติที่จะมาลงทุนเอง อะไรก็ดีเลย์ไปหมด ไม่แน่นอนว่าจะเกิดอะไรขึ้น รวมไปถึงเศรษฐกิจบ้านเมืองก็ไม่ดี คนไม่ใช้สอย สปอนเซอร์ต่าง ๆ เขาก็ขายของไม่ได้ มันก็ยาก

แต่ถ้ามองในมุมว่าตอนนี้ทำอะไรได้บ้าง เราก็ยังคิดคอนเทนต์เพื่อที่ว่าปีหน้ามันจะกลับมาได้อย่างเต็มรูปแบบ ต้นปีหน้าจะกลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง และจะได้เห็นอะไรใหม่ ๆ ทั้งหนัง รายการทีวี เอ็นเตอร์เทนเมนต์ใหม่ ๆ เพราะเดี๋ยวนี้แพลตฟอร์มต่าง ๆ มีเกิดใหม่มาก

Q : การปรับตัว และภาพของก้าวต่อไป โพซิชันนิ่งของกันตนา

หลัก ๆ เราก็วางโปรเจ็กต์ไว้ล่วงหน้าในอนาคต อะไรที่ทำได้ตอนนี้ก็ยังทำอยู่ ปีหน้าก็พยายามมองหาสิ่งใหม่ กันตนาไม่ได้หยุดคิดและพยายามพัฒนาตัวเองให้ไปถึงโกลบอลสแตนดาร์ดให้ได้ ปกติทำคอนเทนต์ละครซีรีส์เฉลี่ยปีละ 10 เรื่อง ปีหน้า 2565 ตั้งใจว่าจะทำสัก 10-15 เรื่อง (รวมการรับผลิต) สำหรับกระจายไปยังแพลตฟอร์มต่าง ๆ แต่เบื้องต้นในระยะสั้นนี้ก็ต้องเอาตัวให้รอดจากโควิดให้ได้ เมื่อโควิด-19 คลี่คลาย มีการเปิดประเทศ ก็พร้อมจะกลับมาเต็มรูปแบบ

ที่สำคัญคือ ต่อไปนี้คอนเทนต์เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะปัจจุบันแพลตฟอร์มมีเยอะมาก ๆ ทั้งออนไลน์ ทีวี สตรีมมิ่งวิดีโอ และคอนเทนต์ก็จะเป็นตัวขับเคลื่อนและผลักดันแพลตฟอร์มต่าง ๆ ให้ประสบความสำเร็จ

นอกจากการทำคอนเทนต์ป้อนแพลตฟอร์มต่าง ๆ และช่องทีวีแล้ว เรายังรับผลิตคอนเทนต์ด้วย โดยวางตัวเป็นคอนเทนต์โพรไวเดอร์ สร้างคอนเทนต์ป้อนแพลตฟอร์มต่าง ๆ นี่คือ
ทิศทางของกันตนา

Q : ในฐานะที่เป็นพี่ใหญ่ของวงการจะช่วยผลักดันคอนเทนต์ไทยให้ก้าวเข้าไปสู่ระดับโกลบอลอย่างไร

ในอนาคตกันตนาจะร่วมมือกันระหว่างหลาย ๆ ฝ่าย เราคงทำเองไม่ได้คนเดียว ต้องมีพาร์ตเนอร์ที่แข็งแรง และก็มีวิชั่นที่คล้าย ๆ กัน เพื่อจับมือกันและต่อยอดเพื่อให้ไปถึงโกลบอล แต่จะดีมากถ้ามีภาครัฐสนับสนุน

ส่วนหนึ่งผมคิดว่าเอ็นเตอร์เทนเมนต์มีแวลูที่จะทำให้ต่างชาติกลับมามองเรา ยกตัวอย่าง อาหารเกาหลี เมื่อ 10 ปีที่แล้วอาจไม่ได้ฮิตขนาดนี้ แต่เกาหลีเขาผลักดันคอนเทนต์ที่มาในรูปซอฟต์พาวเวอร์ ทำให้อยู่ดี ๆ ผู้ชมอาจอยากกินอาหารเกาหลี และอาหารไทยก็อยู่ระดับโลกอยู่แล้ว มีศักยภาพที่จะทำแต่ต้องร่วมมือในการผลักดันกัน ทั้งภาครัฐและเอกชน จะทำให้เอ็นเตอร์เทนเมนต์ และอุตสาหกรรมอื่น ๆ เติบโตไปด้วยกันเหมือน Lost in Thailand ภาพยนตร์จีนที่นำเสนอไทยในมิติดี ๆ ส่งผลให้คนจีนเดินทางมาไทย อุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็เติบโตตาม

ประเทศไทยมีของดีและยูนิคมาก ตั้งแต่ อาหาร ท่องเที่ยว จัดอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก มีครบทั้งทะเล ภูเขา แม่น้ำ ฯลฯ และเราสามารถส่งออกวัฒนธรรมไปในต่างประเทศได้ มั่นใจว่าถ้าเกิดคอนเทนต์ปัง ๆ ขึ้นมามันก็จะกลับมาในทุกภาคส่วน

ขณะนี้ไม่ใช่เวลาที่ผู้ผลิตคอนเทนต์ไทยจะมาสู้กันเอง แข่งกันเอง ตอนนี้เรากำลังต่อสู้กับคอนเทนต์ต่างชาติที่กำลังหลั่งไหลเข้ามามาก และทำให้คนไทยเลิกเสพคอนเทนต์ไทยไปเสพคอนเทนต์ต่างชาติ อันนี้คือสิ่งที่น่ากลัวมาก ถ้าเราร่วมมือกันทำคอนเทนต์ที่ดี จับมือกันทำงานเพื่อส่งออกคอนเทนต์ไทยไปตีตลาดต่างประเทศ มันจะเป็นผลดีในภาพรวมมากกว่า

Q : ยุทธศาสตร์หรือแนวทางการพัฒนาคอนเทนต์

กันตนามีเป้าหมายจะเน้นการทำคอนเทนต์เพื่อเจาะเซ็กเมนต์โดยเฉพาะ เดี๋ยวนี้เซ็กเมนต์มันก็กว้างขึ้น และมีหลายรูปแบบ ตอนนี้อินเทอร์เน็ตมีอิทธิพลมาก คน Gen X-Y-Z เขาเปิดกว้างมากขึ้นกว่า เขาดูคอนเทนต์ต่างประเทศ ดูคอนเทนต์ที่แตกต่างไปจากแต่ก่อน

ที่มองอย่างหนึ่งก็คือ เกม เป็นตลาดที่มีคนดูมีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก ตอนนี้เรามีเว็บไซต์ มีทีมอีสปอร์ตชื่อ “KOG” (King of Gamer) มีทัวร์นาเมนต์ที่จัดอยู่เป็นระยะ ๆ ในอนาคตกำลังคิดจะปั้น
โปรเจ็กต์เพื่อสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับเกมหรือซีรีส์ออกมา

วันนี้คนเริ่มรู้แล้วว่า อีสปอร์ตคืออะไร เกมคืออะไร เรื่องรายได้หรือสปอนเซอร์ชิปก็มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเป็นรายการที่เจาะกลุ่มเป้าหมายชัดเจนคือ Gen Y Gen Z ซึ่งจริง ๆ กันตนาทำเรื่องเกมมา 3-4 ปีแล้ว เป็นการนำเกมมาทำให้เป็นเอ็นเตอร์เทนเมนต์รายการ King of Gamer รวมถึงการรับผลิตรายการเกมต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งนำความบันเทิงมาผสมผสานกับเกมในรูปแบบต่าง

นอกจากนี้ กันตนามีจุดแข็งในเรื่องของวันสต็อปเวอร์วิส มีหลายโปรดักชั่น หลายคอนเทนต์ที่สามารถตีตลาดตามเซ็กเมนต์ต่าง ๆ ได้ อาทิ เกม แฟชั่น ในรูปแบบรายการแมสและอินเตอร์ ครอบคลุมทั้งแพลตฟอร์มทีวีและ OTT และจากนี้ไปจะมีการสร้างคอนเทนต์เจาะรายเซ็กเมนต์มากขึ้น เพื่อขยายกลุ่มผู้ชมเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นบันเทิง แฟชั่น อาทิ The Face Thailand เน้นกลุ่มผู้ชมเพศหญิง, Drag Race Thailand ฐานผู้ชมหลักจะเป็นกลุ่ม LGBTQ หรือแม้กระทั่งการทำคอนเทนต์ซีรีส์หรือภาพยนตร์ระดับแมส หรือระดับอินเตอร์ กันตนาก็สามารถทำได้

Q : ตอนนี้กันตนาส่งออกซีรีส์ อิน จัน ไปลงในสตรีมมิ่งของดิสนีย์ พลัส

อิน จันถือเป็นซีรีส์เรื่องแรกของไทยที่ได้เข้าสตรีมมิ่งในดิสนีย์ พลัส เป็นสิ่งที่เราตั้งใจทำเพราะตอนนี้ตลาดมันไม่เหมือนเดิม ภาษาไม่ใช่ขอบเขตหรือข้อจำกัดอีกต่อไปแล้ว ถ้าคอนเทนต์มีคุณภาพและตอบโจทย์ของผู้บริโภคได้ ก็สามารถจะไปแพลตฟอร์มระดับโกลบอลได้ และเป็นเป้าหมายของกันตนา คอนเทนต์ของเราในอนาคตต้องตอบโจทย์ทั้งคนไทย คนต่างประเทศ หรือหลาย ๆ เชื้อชาติให้ได้

นอกจาก อิน จัน ตอนนี้ก็มีไลน์อัพอยู่หลายเรื่อง กำลังคุยกับแพลตฟอร์มวีดิโอสตรีมมิ่ง OTT หลาย ๆ เจ้าในการผลิตซีรีส์ให้ รวมถึงดิสนีย์ พลัสก็จะเป็นแบบอินเตอร์อีกแนวหนึ่ง

Q : ในโอกาสครบรอบ 70 ปี มีการวางเป้าหมายอะไรใหม่ ๆ หรือไม่

อย่างที่เล่าไป หลัก ๆ ก็เป็นเรื่องของการขยายรูปแบบในการทำงานมากขึ้น และเน้นทำคอนเทนต์ให้เป็นโกลบอลมากขึ้น บวกกับการเจาะเป็นเซ็กเมนต์ที่ชัดเจนขึ้น และขยายไปถึงแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ด้วย จากที่ผ่านมาเราทำคอนเทนต์ให้กับแพลตฟอร์มต่าง ๆ ยังทำงานโพสต์โปรดักชั่นให้แก่แพลตฟอร์มนั้น ๆ ทั้งเน็ตฟลิกซ์, ดิสนีย์, ดิสนีย์ พลัส, วีทีวี, อ้ายฉีอี้ เป็นต้น

ในรูปแบบโลคอลไลฟ์เซอร์วิส ทำหลายภาษา เช่น เขาพูดภาษาอังกฤษ เราทำเป็นพากย์ไทย หรือแม้กระทั่งเรื่องภาษาอื่น ๆ อาทิ ก็รับทำ อินโดนีเซีย เวียดนาม เนื่องจากเรามีพาร์ตเนอร์ มีทีมอยู่ที่เวียดนาม อินโดนีเซีย ตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ คุณปู่ มีพาร์ตเนอร์หลาย ๆ ส่วน จึงค่อนข้างแข็งแรงในด้านอินเตอร์เนชั่นแนล แล้วเราก็ทำงานกับหลาย ๆ เจ้าทั้งฮอลลีวูด บอลลีวูด หรือแม้กระทั่งฝั่งยุโรปก็ทำ