“ทีวีธันเดอร์” เพิ่มโฟกัสซีรีส์ งัดบริการใหม่ดันโต 2 ดิจิต

ทีวี ธันเดอร์ รุกหนักตลาด OTT เพิ่มผลิตซีรีส์ 50% หวังส่งคอนเทนต์วายไทยโกอินเตอร์ พร้อมเพิ่มแวลูสินค้าจับรายการ-ละครเก่าขายลิขสิทธิ์ ดันนักแสดง-บุคลากรทำการตลาด KOL เสริมบริการใหม่ ตั้งเป้าปี’64 รายได้โตดับเบิลดิจิต

นายณฐกฤต วรรณภิญโญ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการพัฒนาธุรกิจ บริษัท ทีวี ธันเดอร์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตรายการ ละคร และซีรีส์ อาทิ Take Me Out Thailand, มาสเตอร์คีย์ เวทีแจ้งเกิด, Show Me The Money Thailand ฯลฯ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันเม็ดเงินโฆษณาทีวีซึ่งเป็นรายได้หลักของบริษัทเริ่มทรงตัว 4-5 ปี จากการเข้ามาของช่องทีวีดิจิทัลกว่า 20 ช่อง แต่อีกด้านหนึ่งก็ถือเป็นการเปิดตลาดคอนเทนต์ให้กว้างขึ้น และทีวี ธันเดอร์เองก็มีลูกค้าที่จ้างผลิตเพิ่มขึ้น

แต่ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่ากระทบราคาโฆษณาต่อยูนิตให้ลดลง ประกอบกับปัจจัยโควิดที่ทำให้การถ่ายทำยากขึ้นด้วยข้อจำกัดด้านจำนวนคน หรือกระทั่งต้องเลื่อนหรือชะลอบางรายการออกไปก่อน ส่วนอีกปัจจัยที่สำคัญคือ การดิสรัปชั่นของสื่อออนไลน์ และดึงผู้ชมทีวีไปสู่แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งวิดีโอ (OTT) ที่สามารถเลือกชมในสิ่งที่ผู้บริโภคชอบได้ทันทีและตลอดเวลา

โดยในช่วง 1-2 ปีนี้ ทีวี ธันเดอร์ ได้มีการปรับตัวค่อนข้างมาก โดยมีเป้าหมายในการสร้างรายได้และขยายการเติบโต จากเดิมเน้นการผลิตรายการในสัดส่วนสูงถึง 70% ก็ปรับมาเป็น 50% และซีรีส์ หรือละคร 50% เพื่อส่งลงแพลตฟอร์ม OTT อาทิ WEtv AISplay LINETV Popsapp (เวียดนาม) ในรูปแบบการถือลิขสิทธิ์ร่วมกัน เป็นการหันมาโฟกัสการเพิ่มรายได้จากการขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ โดยจะผลิตทั้งรายการและละครประมาณ 12 เรื่อง/ปี และคอนเทนต์เอ็นเตอร์เทนเมนต์ของไทย และสามารถส่งออกไปได้ในรูปแบบซอฟต์พาวเวอร์ น่าจะเป็นซีรีส์มากกว่ารายการ

ทั้งนี้ ซีรีส์ที่ทีวี ธันเดอร์ ส่งออกไปสู่แพลตฟอร์ม OTT ทั้งในประเทศและระดับสากล เป็นที่นิยมมากที่สุด คือ ซีรีส์วาย (Boy’s Love) โดยเฉพาะในแถบภูมิภาคเอเชีย อาทิ ไต้หวัน ญี่ปุ่น จีน สเปน ตลอดจนเม็กซิโก บราซิล อาร์เจนตินา เปรู ขณะที่เรื่องพฤติการณ์ที่ตาย (Manner of Death), Bad Romance The Series, Together With Me และ Together With Me : The Next Chapter ก็เป็นซีรีส์วายไทยที่ได้รับความนิยมจากต่างประเทศสูงเช่นกัน

“ด้วยประเทศไทยมีการเปิดเสรีเรื่องทางเพศมาก และให้การยอมรับกลุ่ม LGBTQ ในขณะที่บางพื้นที่อาจจะไม่เปิดกว้างเท่าไทย รวมไปถึงในการทำซีรีส์แนววาย จึงทำให้ไทยถือเป็นฮับในการผลิตคอนเทนต์ซีรีส์วายลำดับต้น ๆ เลยก็ว่าได้ ประกอบกับปัจจุบันฐานผู้ชมกลุ่มซีรีส์วายก็มีเพิ่มขึ้นมากในหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มผู้หญิงสายจิ้น ทำให้ซีรีส์วายมีโอกาสในการทำการตลาดสูง และเปิดกว้างให้แก่ผู้ผลิตคอนเทนต์ไทยที่เป็นเบอร์ต้น ๆ บุกเบิกวัฒนธรรมการรับชมคอนเทนต์วาย”

นายณฐกฤตกล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ สำหรับนักแสดงซีรีส์วายที่ร่วมงานกับทีวี ธันเดอร์ เมื่อมีชื่อเสียงเพิ่มขึ้นจากการแสดงก็สามารถต่อยอดสร้างรายได้ผ่านกิจกรรมอื่น ๆ เช่น แฟนมีตติ้ง เป็นต้น ขนานไปกับตัวซีรีส์ได้ อย่างแม็กซ์ ณัฐพล และตุลย์ ภากร ที่ได้มีการจัดงานแฟนมีตติ้งขึ้นในหลายประเทศ

อย่างไรก็ดี ขณะนี้การแข่งขันตลาดคอนเทนต์ซีรีส์วายทั้งในประเทศและต่างประเทศเริ่มดุเดือดขึ้น สะท้อนได้จากการที่หลาย ๆ ช่องเริ่มทำซีรีส์วายเองมากขึ้น ส่วนในต่างประเทศก็เริ่มเพิ่มโฟกัสในส่วนนี้ ดังนั้น จึงต้องสร้างความต่างในความเป็นวายให้ออกจากเจ้าอื่น ๆ สำหรับทีวี ธันเดอร์ จะให้น้ำหนักกับโครงสร้างเส้นเรื่อง ซึ่งอาจจะเน้นไปทางอาชีพ การสืบสวนสอบสวน หรืออื่น ๆ มากกว่าความโรแมนติก รวมไปถึงความประณีตในด้านโปรดักชั่น และการแคสติ้งนักแสดงให้เหมาะสมกับแคแร็กเตอร์ เพื่อยกระดับคุณภาพของคอนเทนต์ให้ต่อสู้ได้ในระดับสากล

“ปีนี้มีแผนจะผลิตทั้งซีรีส์วาย และซีรีส์ทั่วไป 5 เรื่อง ได้แก่ 1.จากศูนย์ถึงสิบ 2.ใส่รักป้ายสี 3.หน่าฮ่าน 4.ทริอาช 5.เสน่หาสตอรี่ ซึ่ง 2 เรื่องหลังอยู่ระหว่างการผลิต และส่วนหนึ่งในแผนการผลิตได้ปิดดีลกับ OTT ไปแล้ว”

สำหรับในส่วนของรายการยังคงเน้นสัดส่วนไปทางทีวี ซึ่งมีฐานผู้ชมในกลุ่มอายุ 35 ปีขึ้นไป หลัก ๆ จะปรับเพิ่มกิมมิกให้มีความแปลกใหม่ เช่น แขกรับเชิญที่สร้างความฮือฮา เป็นต้น แต่ยังคงรูปแบบโครงสร้างรายการเดิม เพื่อรักษาความคุ้นเคยกับกลุ่มผู้ชมหลัก

พร้อมกันนี้ สิ่งที่ทีวี ธันเดอร์ จะโฟกัสต่อไป คือ การสร้างมูลค่าให้กับสิ่งที่มีอยู่ในมือทั้งคอนเทนต์ และบุคลากรต่าง ๆ โดยอาจนำรายการในพอร์ตไปขายลิขสิทธิ์เข้าสตรีมมิ่งบนแอปพลิเคชั่นมากขึ้น หรือการนำนักแสดง หรือกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ และไมโครเอนเซอร์ ที่ร่วมงานกับทีวี ธันเดอร์ มาทำการตลาดในรูปแบบ KOL marketing ทั้งในรูปแบบการโปรโมตสินค้า การเป็นพรีเซ็นเตอร์ เป็นต้น

“อนาคตทีวี ธันเดอร์ ตั้งเป้า 3 มิติ ได้แก่ การพัฒนาและเพิ่มศักยภาพคอนเทนต์มากขึ้น เพื่อนำคอนเทนต์ของเราไปอยู่ในทุก ๆ มีเดียที่ผู้บริโภคไป, การสร้างการเติบโตของรายได้ในระดับดับเบิลดิจิต และการเพิ่มเซอร์วิสใหม่ ๆ โดยไม่จำกัดตนเองไว้เพียงแค่ผู้ผลิตคอนเทนต์เท่านั้น” นายณฐกฤตกล่าว