เทียบฟอร์มฉีดวัคซีนโควิดเข้ากล้ามเนื้อ-ชั้นผิวหนัง ต่างกันอย่างไร

ฉีดวัคซีน-สำนักอนามัย กทม.
เครดิตภาพ : สำนักอนามัย กทม.

เปิดข้อมูลประสิทธิภาพ-ความปลอดภัย ฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อเต็มโดส-ครึ่งโดส-ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง ข้อมูลทางวิชาการชี้ภูมิคุ้มกันต่อโควิดใกล้เคียงกัน ฉีดเข้าชั้นผิวหนังอาการข้างเคียงต่อร่างกายน้อยกว่า แต่บริเวณฉีดพบมีอาการสูงกว่า

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 หลังจากศูนย์ฉีดกลางบางซื่อ ประกาศแนวทางการรับวัคซีนป้องกันโควิดเข็มที่ 3-4 ยี่ห้อไฟเซอร์ใหม่ โดยเพิ่ม 3 ทางเลือกการฉีดวัคซีน ดังนี้ 1.ฉีดเข้ากล้ามเนื้อเต็มโดส 30 ไมโครกรัม 2.ฉีดเข้ากล้ามเนื้อครึ่งโดส 15 ไมโครกรัม และ 3.ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง 10 ไมโครกรัม

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลประสิทธิภาพและความปลอดภัยระหว่างการฉีดไฟเซอร์ด้วย 3 วิธีใหม่ดังกล่าว โดยข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยคลินิกศิริราช Siriraj Institute of Clinical Research เผยผลการวิจัยต่อการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน (ชนิด PVNT50 ระดับภูมิคุ้มกันที่สามารถยับยั้งไวรัสจำลองได้ 50%) ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

1.ฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข้ากล้ามเนื้อแบบเต็มโดส 30 ไมโครกรัม
• หลังฉีดซิโนแวคสองเข็มมาแล้ว 12 สัปดาห์ กระตุ้นวัคซีนไฟเซอร์เต็มโดส จะได้ภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอน = 543
• หลังฉีดแอสตร้าสองเข็มมาแล้ว 12 สัปดาห์ กระตุ้นด้วยวัคซีนไฟเซอร์เต็มโดส จะได้ภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอน = 521
• หลังฉีดซิโนแวคเข็มที่ 1 และฉีดแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2 มาแล้ว 12 สัปดาห์ กระตุ้นด้วยวัคซีนไฟเซอร์เต็มโดส จะได้ภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอน = 150

2.ฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข้ากล้ามเนื้อแบบครึ่งโดส 15 ไมโครกรัม
• หลังฉีดซิโนแวคสองเข็มมาแล้ว 12 สัปดาห์ กระตุ้นด้วยวัคซีนไฟเซอร์ครึ่งโดส จะได้ภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอน = 551
• หลังฉีดแอสตร้าสองเข็มมาแล้ว 12 สัปดาห์ กระตุ้นด้วยวัคซีนไฟเซอร์ครึ่งโดส จะได้ภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอน = 232
• หลังฉีดซิโนแวคเข็มที่ 1 และฉีดแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2 มาแล้ว 12 สัปดาห์ กระตุ้นด้วยวัคซีนไฟเซอร์ครึ่งโดส จะได้ภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอน = 204

3.ฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข้าชั้นผิวหนัง
แม้การฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข้าชั้นผิวหนังจะยังไม่มีข้อมูลตัวเลขที่แน่ชัด ทว่าข้อมูลทางวิชาการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เคยมีการทำการเปรียบเทียบการฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนังและเข้าชั้นกล้ามเนื้อแบบปกติ เป็นเข็มที่ 3 ด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า กับกลุ่มอาสาสมัครอายุระหว่าง 18 – 60 ปี จำนวน 95 คน ซึ่งได้ข้อมูลด้านภูมิคุ้มกันและการตอบสนองต่อทีเซลล์ ดังนี้

• หลังฉีดซิโนแวคสองเข็มมาแล้ว 8-12 สัปดาห์ กระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้าเต็มโดส ระดับภูมิคุ้มกันเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1,652 AU (Arbitrary Unit)
• หลังฉีดซิโนแวคสองเข็มมาแล้ว 8-12 สัปดาห์ กระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้า 1/5 โดส (0.1 มิลลิลิตร) ฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง ระดับภูมิคุ้มกันเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1,300.5 AU (Arbitrary Unit )

โดยจากผลการเทียบการฉีดเข้าชั้นผิวหนังและชั้นกล้ามเนื้อจะพบว่าระดับภูมิคุ้มกันต่อโควิด อยู่ในระดับใกล้เคียงกันไม่ได้ทิ้งห่างกันมากนัก สอดคล้องกับข้อมูลจาก นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เคยให้ข้อมูล การฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนังว่า ภูมิคุ้มกันขึ้นเท่ากับการฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อโดยตรง แต่ผลข้างเคียงน้อยกว่า 10 เท่า ขณะที่ภูมิคุ้มกันหลังฉีดอยู่ได้นานพอกัน

ขณะที่ข้อมูลผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดเข้าชั้นผิวหนัง นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า สำหรับผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น หากฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง พบว่าจะเกิดอาการเฉพาะที่หรือจุดที่ฉีดมากกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เช่น อาการปวด บวม แดง คลำแล้วเป็นไต ส่วนอาการทั่วไปของร่างกายที่มีปฏิกิริยาเกิดขึ้น เช่น ไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย พบว่าน้อยลง เมื่อเทียบกับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ