ซิตี้เฟรชฯ ลุยผลไม้นำเข้า เพิ่มดีกรีออนไลน์ปั๊มยอด

“เฟรช ฟรุ๊ต” จัดทัพรับมือตลาดผลไม้นอกคึก เดินหน้ารีแบรนด์ “ซิตี้ เฟรช” สู่ภาพลักษณ์สุดทันสมัย ขยายฐานลูกค้าเตรียมปักหมุดแฟลกชิปสโตร์แห่งแรก ซ.ปรีดีพนมยงค์ ไตรมาส 3 นี้ ก่อนสยายปีกหัวเมืองหลักและทำเลศักยภาพสูง พร้อมผนึกพันธมิตรลุยขยายฐานออนไลน์ต่อเนื่อง

นางสาววรรณนิศา ฉัตรอมรวงศ์ กรรมการบริหารฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ซิตี้ เฟรช ฟรุ๊ต จำกัด บริษัทในเครือซิตี้เท็กซ์ กรุ๊ป ผู้นำเข้าและจำหน่ายผลไม้จากต่างประเทศ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมธุรกิจนำเข้าผลไม้ตลอดช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีการเติบโตดีอย่างต่อเนื่อง

แม้จะมีปัญหาเรื่องผัก-ผลไม้ที่ทะลักเข้าไทยเพิ่มมากขึ้น จากการเปิดรถไฟจีน-ลาว แต่ในส่วนของกลุ่มผลไม้จากจีนแม้จะมีเข้ามาบ้าง แต่ยังมีจำนวนไม่มากนัก เมื่อเทียบกับสินค้ากลุ่มอื่น ๆ จึงยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

อย่างไรก็ตาม ซิตี้ เฟรช ฟรุ๊ตเองก็ได้มีการนำเข้าผลไม้จากจีนเช่นกัน ซึ่งเป็นการร่วมกับผู้ผลิตรายใหญ่ซึ่งเป็นการนำเข้าทางเรือ ขณะเดียวกันก็พบว่ากลุ่มลูกค้าระดับกลาง-บน ยังมีกำลังซื้อที่ดี สะท้อนจากยอดขายช่วง ม.ค.-ก.พ.ที่ผ่านมายังเติบโตดี โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล ทั้งช่องทางออนไลน์ ออฟไลน์ และโฮลเซล เฉพาะเดือน ม.ค.เติบโตขึ้น 40-50%

โดยแผนงานจากนี้ไปบริษัทจะมีการปรับกลยุทธ์การดำเนินงาน เพื่อรับมือกับการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการเน้นการสร้างแบรนด์ “ซิตี้ เฟรช” ให้แข็งแกร่งมากขึ้น

โดยได้เริ่มมีการรีแบรนด์ใหม่เมื่อช่วงต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อให้มีความทันสมัย เหมาะกับโพซิชั่นใหม่มากขึ้น มีการปรับโลโก้ใหม่ และเน้นการสื่อสารแบรนด์ไปยังกลุ่มคนที่ชื่นชอบการรับประทานผลไม้ที่ไม่คำนึงถึงเรื่องของราคา

แต่มองคุณภาพเป็นหลัก เป็นการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของแบรนด์ที่ไม่ใช่แค่เพียงแบรนด์ผู้จำหน่ายผลไม้ แต่จะปรับสู่ความเป็นคอมมิวนิตี้ของคนที่ชอบทานผลไม้ ซึ่งไม่ใช่เพียงการซื้อขายผลไม้ แต่เป็นการแชร์ข้อมูลร่วมกัน

ขณะเดียวกันก็จะเน้นการทำตลาดในช่องทางออนไลน์ (B2C) มากขึ้น ด้วยการเตรียมเปิดสาขา (รีเทลช็อป) หน้าร้านของแบรนด์ซิตี้ เฟรช ในช่วงไตรมาส 3 นี้ที่ซอยปรีดีพนมยงค์

ซึ่งถือเป็นแฟลกชิปแห่งแรก เพื่อให้ลูกค้าได้เห็นแบรนด์มากขึ้น มากกว่าช่องทางซูเปอร์มาร์เก็ตหรือออนไลน์ โดยมีแผนงานขยายไปยังทำเลที่มีศักยภาพและตามหัวเมืองใหญ่ในอนาคต

นอกจากนี้ บริษัทยังจะเดินหน้าพัฒนาในส่วนของผลไม้แปรรูปต่อเนื่อง โดยเริ่มมีการขยายการจำหน่ายไปช่องทางอีคอมเมิร์ซ หรือแพลตฟอร์มของห้างต่าง ๆ ผ่านการทำโฆษณาช่องทางออนไลน์ควบคู่กับการสื่อสารแบรนด์

อาทิ สปอตวิทยุในศูนย์การค้า ป้ายบิลบอร์ดต่าง ๆ การจัดดิสเพลย์ ซุ้มจำหน่ายสินค้า เพื่อสร้างการรับรู้ รวมทั้งการเข้าไปเป็นพาร์ตเนอร์กับ JD Central, Monline, Lazmall และ Shopee ในลักษณะออฟฟิเชียลช็อป ซึ่งเป็นโมเดลใหม่ที่บริษัทขยายเข้าไปเปิด

เพราะมองว่าช่องทางดังกล่าวเป็นอนาคตของโมเดิร์นเทรดที่มีแนวโน้มเติบโตสูง และยังเป็นการขยายฐานลูกค้าไปยังลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ อาทิ กลุ่มที่เล่นโซเชียลมีเดียที่มีความสนใจศึกษาข้อมูลสินค้าผ่านออนไลน์

กลุ่มร้านค้าที่จำหน่ายผลไม้ออนไลน์ จากปัจจุบันที่กลุ่มเป้าหมายหลักอยู่ในช่วงอายุ 30-45 ปี (เจนเอ็กซ์, เจนวาย) มีกำลังซื้อ และเน้นเรื่องคุณภาพ และใส่ใจคุณภาพ จริง ๆ แล้วการขายผ่านออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซของบริษัท เพิ่งเริ่มทำอย่างจริงจังเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อทดลองตลาด โดยจับมือกับฟู้ดแพนด้า

“อีกด้านหนึ่ง จากปัญหาต้นทุนต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมัน จึงมีการปรับตัวด้วยการหันมาติดโซลาร์รูฟท็อปในโรงงาน เพื่อประหยัดพลังงาน ส่วนปัญหาในเรื่องของค่าเงินที่ส่งผลกระทบกับตลาดผลไม้นำเข้าโดยตรง

และทำให้ต้นทุนมีความผันผวนและกระทบในแง่ของราคาบ้าง ซึ่งปีนี้ในภาพรวมบริษัทตั้งเป้าการเติบโตไว้ที่ 15-20% หรือคิดเป็นรายได้ 2,000-2,200 ล้านบาท” นางสาววรรณนิศากล่าว