สธ.ยันไม่พบผู้ป่วยฝีดาษลิงในไทย เข้าข่าย 3 ราย ไม่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ

ฝีดาษลิง สธ.

กรมควบคุมโรคเผยผู้ป่วยเข้าข่ายโรคฝีดาษลิงในไทย 3 ราย ไม่มีประวัติใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ ทีมสอบสวนโรคเข้าเก็บตัวอย่าง ส่งตรวจห้องปฏิบัติการ ย้ำชัด ขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในไทย พร้อมเข้มงวดเฝ้าระวังผู้เดินทางเข้าประเทศ โดยเฉพาะที่มาจากประเทศที่พบการติดเชื้อ

วันที่ 30 พฤษภาคม 2565 นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์สถานการณ์โรคโควิด-19 และโรคฝีดาษวานรว่า กรณีนักท่องเที่ยวต่างชาติมีผื่นและตุ่มหนอง เข้าเกณฑ์ตามนิยามผู้ป่วยสงสัยโรคฝีดาษวานรในไทยจำนวน 3 ราย รายที่ 1 เพศชาย ชาวไอร์แลนด์อายุ 30 ปี อาชีพแพทย์ วันที่ 21 พฤษภาคม 2565 เริ่มมีผื่นที่แขนซ้าย อีก 2 วันถัดมาเริ่มมีไข้ 38.9 รับยาคลินิกเอกชน จ.ภูเก็ต

ขณะที่รายที่ 2 เพศชาย อายุ 27 ปี อาชีพนักแสดง วันที่ 31 พฤษภาคม 2565 เริ่มมีผื่นที่หลังด้านขวาและคอ รับประทานยา อาการไม่ดีขึ้น และรายที่ 3 เพศชาย อายุ 20 ปี นักศึกษา วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 เริ่มมีผื่นที่รักแร้ซ้าย รับประทานยา อาการไม่ดีขึ้น โดยทั้ง 3 รายเป็นพี่น้องกัน เดินทางจากลอนดอนมาจังหวัดภูเก็ต ยังไม่มีประวัติใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อฝีดาษวานร

ทั้ง 3 รายมีประวัติสัมผัสอุปกรณ์ชกมวย กระสอบทราย ร่วมกับผู้มีประวัติเป็นผื่นก่อนหน้า ทำกิจกรรมอยู่ในยิมเดียวกัน มีเพศสัมพันธ์กับหญิงไทย และมีการคลุกคลีกันใกล้ชิด 3 พี่น้องในช่วงที่อยู่ในไทย และต้องค้นหาผู้ป่วยจากการสัมผัสเพิ่มเติมอีก 2 ราย จากยิมเดียวกันที่ จ.ภูเก็ต และผู้สัมผัสใกล้ชิดอีก 20 ราย ผู้สอนและผู้เล่นในยืมเดียวกัน โดยทั้ง 3 รายถูกส่งต่อไปตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่สถาบันบำราศนราดูร ตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2565 ซึ่งทีมสอบสวนโรคได้เข้าเก็บตัวอย่างส่งตรวจห้องปฏิบัติการ 3 แห่ง

สำหรับแนวทางการเฝ้าระวังโรคฝีดาษวานร (ฝีดาษลิง) ในประเทศไทย นิยามผู้ป่วยสงสัยจะมีอาการดังนี้ มีผื่นกระจายตามใบหน้า ลำตัว ลักษณะเป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง ตุ่มตกสะเก็ด โดยผู้ที่ป่วยสงสัยต้องมีประวัติเชื่อมโยงภายใน 21 วัน มีประวัติเดินทางมาจากประเทศที่มีการรายงานการระบาดของโรคฝีดาศวานร ภายในประเทศที่มีการระบาด รวมถึงมีประวัติร่วมกิจกรรมในงานที่พบผู้ป่วยฝีดาษวานร และมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับประเภทสัตว์ฟันแทะ ลิง หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนำเข้าจากทวีปแอฟริกา

และนิยามผู้ป่วยเข้าข่ายโรคฝีดาษวานรที่มีประวัติใกล้ชิดสัมผัสผู้ป่วยมีดังนี้ สัมผัสผิวหนังผู้ป่วยโดยตรง หรือสัมผัสสิ่งของที่อาจมีเชื้อปนเปื้อนของผู้ป่วย รวมทั้งเสื้อผ้าผู้ป่วย ถัดมาคือ ผู้สัมผัสร่วมบ้าน ที่อาศัยอยู่ในห้องเดียวกันกับผู้ป่วย และอยู่ใกล้ชิดกัน

นพ.จักรรัฐกล่าวต่อไปว่า แนวทางจัดการผู้ป่วย ได้แก่ ผู้ป่วยสงสัยและเข้าข่ายโรคฝีดาษวานร ต้องตรวจเชื้อตามแนวทางที่กำหนด รับการรักษา ตรวจสอบประวัติเสี่ยง สอบสวนโรคและพิจารณาแยกกักจนกว่าจะตรวจเชื้อไม่พบ ส่วนผู้ป่วยยืนยันโรคฝีดาษวานร จะต้องรับการรักษาและพิจารณาแยกกักตัว 21 วันนับจากวันที่เริ่มป่วย

ด้านสถานการณ์ผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรทั่วโลก พบผู้ป่วยยืนยัน 406 ราย และผู้ป่วยสงสัย 88 ราย รวม 494 ราย ใน 32 ประเทศ โดยหลัก ๆ อยู่ในประเทศอังกฤษ 101 ราย เยอรมนี 22 ราย สเปน 139 ราย และโปรตุเกส 74 ราย

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยยืนยันในไทย โดยได้เตรียมพร้อมรับมือในไทย เน้นเฝ้าระวังโรค ผู้เดินทางเข้าประเทศ โดยเฉพาะคนที่มาจากประเทศที่มีพบการติดเชื้อ เช่น ไนจีเรีย .อังกฤษ,แคนาดา,สเปน,และโปรตุเกส

นอกจากนี้ ยังพบนักเดินทาง 1 รายที่บินมาจากประเทศในยุโรป แวะพักเครื่องที่ไทยประมาณ 2 ชั่วโมง แล้วบินต่อไปออสเตรเลีย โดยได้รับการวินิจฉัยในออสเตรเลียว่าเป็นโรคฝีดาษลิง โดยตอนที่รอพักเครื่อง นักเดินทางรายนี้ยังไม่มีอาการ แต่ไปมีอาการตอนถึงออสเตรเลียแล้ว

เพราะฉะนั้น สำหรับผู้สัมผัสก็ถือว่าเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิด แต่ยังไม่สัมผัสเสี่ยงสูง เนื่องจากตอนที่ใกล้ชิดยังไม่มีอาการ จึงไม่เข้าเกณฑ์เป็นผู้ป่วยสงสัย ซึ่งในกรณีนี้พบว่ามีผู้สัมผัสใกล้ชิดที่เป็นทั้งผู้โดยสารเครื่องบินและลูกเรือรวม 12 ราย โดยติดตามมาแล้ว 7 วัน พบว่ายังไม่มีรายใดอาการป่วย จึงต้องติดตามกันต่อไป ตามระยะเวลาการติดตาม 21 วัน