ดร.อนันต์ เผยพบผู้ป่วยฝีดาษลิงรายที่ 2 ในไทยแล้ว

ฝีดาษลิง ฝีดาษวานร

ดร.อนันต์ ระบุว่า พบผู้ป่วยฝีดาษลิงรายที่ 2 ซึ่งเป็นไปได้สูงจะได้รับเชื้อจากผู้ป่วยรายแรก เนื่องจากเชื้อไวรัสมีความใกล้เคียงกันมาก

วันที่ 28 กรกฎาคม 2565 ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผอ.กลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์เฟซบุ๊ก เปิดเผยว่า ขณะนี้ในประเทศไทยพบผู้ป่วยฝีดาษลิงรายที่ 2 แล้ว โดยมีความเป็นไปได้สูงว่า จะได้รับเชื้อจากผู้ป่วยรายแรก เนื่องจากตัวเชื้อไวรัสที่พบมีความใกล้เคียงกันมาก

โดยโพสต์ของ ดร.อนันต์ระบุว่า ไวรัสฝีดาษลิงที่ตรวจพบในประเทศไทยตอนนี้เป็นไวรัสที่อยู่ในกลุ่ม A.2 ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มที่แพร่กระจายเป็นวงกว้างในยุโรปและอเมริกา ซึ่งเป็นกลุ่ม B.1 (สีเหลือง)

ไวรัสใน 2 กลุ่มนี้มีความแตกต่างกันไม่มากในภาพรวม แต่มากพอที่จะแยกจากกันเป็นกลุ่มที่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นกำเนิดของไวรัสที่ระบาดในประชากรมนุษย์ เชื่อว่ามาจาก 2 แหล่งที่แตกต่างกัน

เนื่องจาก A.1 ใกล้เคียงกับสายพันธุ์เก่ามากกว่า จึงทำให้เชื่อว่าไวรัสฝีดาษลิงอาจจะอยู่ในประชากรมนุษย์มาสักพักนึงแล้วก่อนที่จะมีการระบาดอย่างเห็นได้ชัดของกลุ่ม B.1 ในตอนนี้

สำหรับความแตกต่างของอาการของโรค หรือความรุนแรงระหว่าง A.2 กับ B.1 ยังไม่มีข้อมูลแบ่งแยกออกมาชัดเจน

ถ้าดูจากข้อมูลของ A.2 ในฐานข้อมูลจะเห็นว่า A.2 ไม่ได้มีความแตกต่างระหว่างกลุ่มมากเท่ากับ B.1 อาจจะเป็นเพราะไวรัสในกลุ่ม A.2 ยังมีอยู่น้อยมากเมื่อเทียบกับไวรัสที่ระบาดหนักในตอนนี้

ข้อมูลนี้ชี้ว่าไวรัสในประเทศไทยพบแล้วในผู้ป่วย 2 ราย สายพันธุ์แรกคือจากชายชาวไนจีเรีย (Phuket-74) และอีกตัวอย่างหนึ่งมาจากผู้ป่วยอีกรายที่ถอดรหัสที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU-ID220016-FTV)

โดยไวรัสสองตัวอย่างมีความใกล้เคียงกันมาก และมากกว่าสายพันธุ์ A.2 ที่ไปพบในอินเดีย และสหรัฐอเมริกา เป็นไปได้สูงมากว่า ผู้ป่วยรายที่ 2 ได้รับเชื้อฝีดาษลิงมาจากชายชาวไนจีเรียรายแรก และยังไม่ใช่สายพันธุ์ B.1 ที่เป็นสายพันธุ์หลักของโลกตอนนี้

ป.ล. เนื่องจาก A.2 มาก่อนหลายปี แต่มีผู้ป่วยน้อยกว่า B.1 มาก เลยแอบตั้งสมมุติฐานว่า ไวรัส A.2 อาจจะมีคุณสมบัติการแพร่กระจายน้อยกว่า B.1 ซึ่งการที่ยังไม่พบ B.1 ในประเทศไทยอาจจะเป็นข่าวดีอยู่นิด ๆ ครับ