EV จีนเดือดข้ามปี ‘7 บิ๊กแบรนด์’ ไล่ชิงแชร์แสนคัน

ภาพจาก www.motorexpo.co.th

7 บิ๊กแบรนด์จีนกระโดดเสียบ EV3.5 เดินหน้าธุรกิจแบบเต็มตัว “ฉางอาน-จีเอซี-เชอรี่” พร้อมส่งรถใหม่ลงตลาด ขณะที่ MG-ORA-BYD-NETA ขอเอี่ยวด้วยก่อนขึ้นไลน์ผลิต ขยับราคาเพิ่มนิดหน่อยมั่นใจตลาด EV เดือดดันยอดปี 2567 ทะลุแสนคัน อุตฯ ลั่นผลิตไม่ครบริบแบงก์การันตี แจงลดขั้นตอนทดสอบแบตเตอรี่

หลัง ครม. อนุมัติมาตรการส่งเสริมอุตฯ ยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 หรือ EV3.5 ในช่วงเวลา 4 ปี (พ.ศ. 2567-2570) โดยจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2567 ในวงการรถยนต์ถือว่าปี่กลองยกที่สองได้เริ่มขึ้นอีกครั้ง

7 บิ๊กแบรนด์ตีปีก

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เปิดเผยว่า มาตรการนี้ EV3.5 น่าจะมีค่ายรถให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้นโยบาย 30@30 ที่ตั้งเป้าหมายการผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมด ภายในปี 2573 คิดเป็นกำลังการผลิตรถยนต์ประมาณ 725,000 คัน และรถจักรยานยนต์ประมาณ 675,000 คัน ถึงเป้าหมายเร็วขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มาตรการดังกล่าวนี้ได้รับการยืนยันจากแบรนด์จีนน้องใหม่ 3 ราย ซึ่งประกอบด้วย จีเอซี กว่างโจว ออโตโมบิล, ฉางอาน และเชอรี่ ว่าพร้อมสมัครเข้าร่วมมาตรการดังกล่าว ในขณะที่ทัพจีนลอตแรกอีก 4 รายที่อยู่ในมาตรการส่งเสริม EV3.0 ก็จะเข้าร่วมมาตรการ EV3.5 ด้วย แม้ว่าจำนวนเงินอุดหนุนและสิทธิประโยชน์อื่น ๆ จะน้อยลงก็ตาม เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างในการทำตลาด

นายหม่า ไห่หยาง กรรมการ บริษัท ไอออน ออโตโมบิล เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด (AION) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การรุกตลาดปีนี้จะเพิ่มความสดใหม่ให้กับตลาด โดยจะมีรถใหม่เข้ามาเสริมอีก 2 รุ่น หลังจากเปิดตัวไปแล้ว 2 รุ่น คือ AION Y และ AION Y Plus ส่วนความคืบหน้าของการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า GAC AION ในประเทศไทย น่าจะพร้อมผลิตได้ในเดือนกันยายนปี 2567 โดยเช่าโรงงานในเขต EEC ปรับปรุงพื้นที่และเริ่มผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวาเพื่อรองรับตลาดในประเทศไทยและส่งออก

Advertisment

“ที่ผ่านมานั้นเรามียอดส่งมอบไปแล้วเกือบพันคัน ซึ่งคาดว่าจะทยอยส่งมอบได้ภายในปีนี้ เครือข่ายการจัดจำหน่ายมีเปิดไปแล้ว 10 กว่าแห่ง และปี 2567 จะมีโชว์รูมและศูนย์บริการทั้งสิ้น 50-60 แห่งทั่วประเทศ”

นายเซิน ซิงฮวา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย จำกัด และกรรมการผู้จัดการและประธานกรรมการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซลส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ฉางอานเข้ามาศึกษาและวิจัยจากกลุ่มผู้บริโภคกว่า 100,000 ราย มาเป็นระยะเวลากว่า 3 ปี มองเห็นโอกาสการเติบโตอย่างมีศักยภาพของประเทศไทยสำหรับรถ EV ฉางอานจะให้ไทยเป็นฐานผลิตรถ EV เพื่อส่งออกพวงมาลัยขวาไปยังประเทศทั่วโลก ทั้งอาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฯลฯ

ฉางอานเปิดตลาดด้วยแบรนด์ Deepal และมีแผนจะส่งแบรนด์ AVATR และ NEVO ต่อไปในอนาคต ส่วนโรงงานที่มีการลงทุนและสร้างขึ้นในประเทศไทยนั้น จะผลิตรถยนต์ S07 และ L07 และรถยนต์ของฉางอานทั้งหมด 15 แบรนด์ การรุกตลาดในประเทศไทยจะต้องครอบคลุม ทั้งงานขาย งานบริการหลังการขายโดยปีนี้ตั้งเป้าจะขยายโชว์รูมและศูนย์บริการวางไว้ที่ 40 แห่ง และในปี 2567 จะขยายเป็น 100 แห่ง โดยจะมีรูปแบบการขายครบทั้งออฟไลน์และออนไลน์

“ผลงานในมอเตอร์เอ็กซ์โป ซึ่งใช้เวลาไม่นาน มียอดจองกว่า 3 พันคัน ทำให้เราเชื่อมั่นว่าตลาดมีความต้องการโดยเฉพาะรถ EV”

Advertisment

EV จีน

เชอรี่มาเต็มสูบ

นายพิชญุตม์ วงศ์พัฒนาสิน รองประธานฝ่ายการตลาดและขาย OMODA&J AECOO International ในเครือเชอรี่กรุ๊ป กล่าวเสริมว่า ภายในไตรมาสแรกปี 2567 จะได้เห็นการรุกตลาดของเชอรี่ชัดเจน โดยจะมีรถ EV แบรนด์ OMODA เป็นหัวหอกในการทำตลาด ตอนนี้ทุกอย่างอยู่ระหว่างเซตอัพโครงข่ายการจัดจำหน่าย ซึ่งใน กทม.ค่อนข้างลงตัวแล้วราว ๆ 30 โชว์รูม ส่วนใหญ่มีความพร้อมและผ่านการทำตลาดรถยนต์มาอย่างโชกโชน หลังจากนั้นจะทยอยเพิ่มในจังหวัดที่เป็นหัวเมืองใหญ่ รถ EV OMODA 5 ที่จะขายจะอยู่ในมาตรการส่งเสริม EV3.5 ซึ่งลูกค้าจะได้รับเงินอุดหนุน 1 แสนบาทต่อคันแน่นอน

ก่อนหน้านี้ นายชี่ เจี๋ย ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด เชอรี่ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า เชอรี่มีเป้าหมายใช้ไทยเป็นฐานการผลิตใหญ่ทั้งรถ EV และกลุ่มรถปลั๊ก-อิน ไฮบริด กำลังการผลิตเฟสแรกปี 2567-2568 ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ กำลังการผลิตต่อปี 18,000 คัน เฟสที่ 2 ปี 2569-2570 ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 45,000 คันบวก ๆ และส่งออกเซาท์อีสต์เอเชีย 5,000 คันบวก ๆ ส่วนเฟสที่ 3 ปี 2571-2573 ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 60,000 คันบวก ๆ และส่งออกทั่วโลก 25,000 คันบวก ๆ

ทัพ EV3.0 ขอเอี่ยว EV3.5

นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า รถที่ทำตลาดปีนี้ ได้เข้าร่วมมาตรการ EV3.5 หลัก ๆ จะเป็น MG4 ซึ่งอาจจะต้องปรับเพิ่มราคาเล็กน้อย เนื่องจากสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ และเงินอุดหนุนจากมาตรการแรกราว 50,000 บาท และหลังผ่านไตรมาสแรกปี 2567 ไปแล้วก็จะเลิกนำเข้าเปลี่ยนมาใช้รถที่ทำคลอดจากโรงงานผลิตที่จังหวัดระยองได้ทันที

ขณะที่แหล่งข่าวระดับบริหาร เกรท วอลล์ มอเตอร์ กล่าวเสริมว่า บริษัทพร้อมเปิดตัว ORA Good Cat จากสายการผลิตภายในประเทศ สู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าไทยเป็นครั้งแรกในเดือนมกราคม 2567 ภายหลังจากที่ได้ส่งมอบรถยนต์ ORA Good Cat ที่นำเข้าจากประเทศจีนให้กับลูกค้าชาวไทยทั้งหมดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดย ORA Good Cat ที่ผลิตภายในประเทศจะมีทั้งหมด 3 รุ่น ได้แก่ รุ่น PRO รุ่น ULTRA และรุ่น GT ลูกค้าสามารถลงทะเบียนจองสิทธิเพื่อซื้อได้ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2566 เวลา 12.00 น. (เที่ยงวัน) เป็นต้นไป ผ่านทางแอปพลิเคชั่น GWM และเว็บไซต์ www.gwm.co.th

ไม่ต่างจากค่าย BYD ซึ่งยังคงเน้นขายทั้ง 3 รุ่นหลัก คือ ATTO3 และ DOLPHIN และ SEAL โดยคาดการณ์ว่าน่าจะมีรุ่นใหม่เข้ามาเสริม อาทิ BYD SEAGULL ซึ่งราคาอาจจะมีเปลี่ยนแปลงจากเดิมบางเล็กน้อย

NETA AYA พร้อมทำตลาด

ขณะที่นายอเล็กซ์ เป่า จ้วงเฟย ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ปี 2567 NETA จะมีรถ EV รุ่น AYA เข้ามาเสริมตลาด ซึ่งจะเป็นโฉมใหม่ของ NETA V ในประเทศไทย จะใช้ชื่อ NETA V-II (เนต้า วีทู) และมี NETA X (เนต้า เอ็กซ์) SUV เข้ามาช่วยทำตลาด ส่วนรุ่นที่จะผลิตในประเทศจะมุ่งเน้นการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าในประเทศไทยก่อน และหลังจากนั้นจะค่อย ๆ ปรับโฟกัสเข้าสู่การผลิตเพื่อรองรับการส่งออกรถยนต์เนต้าไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน

“เราก็หวังว่าในช่วงไตรมาส 3 หรือไตรมาส 4 ปี 2567 เราจะสามารถส่งออกลอตแรกได้ไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนก่อน หวังยอดขายจากรถยนต์ที่ผลิตในโรงงานไทยได้มากขึ้น โดยเป้าหมายจัดจำหน่ายของเราสำหรับปี 2024 อยู่ที่ประมาณ 12,000 คัน”

ผู้จัดการทั่วไปเนต้ายังระบุว่า จะเริ่มเปิดไลน์ผลิต NETA V-II (เนต้า วีทู) อย่างเต็มรูปแบบได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2567 หรือราว ๆ เดือนกุมภาพันธ์ โดยโรงงานที่บางชันนี้จะมีกำลังการผลิตอยู่ที่ไม่เกิน 20,000 คันต่อปี และไม่เกิน 40,000 คันต่อปี และหากมีการผลิต 2 กะต่อวัน

ตลาดอีวีปี’67 ทะลุแสนคัน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ตลาดรถ EV ปี 2566 น่าจะปิดการขายได้ราว 8 หมื่นคัน นับเป็นความสำเร็จจากแรงส่งมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่เชื่อว่า แรงส่งในรอบที่ 2 นี้จะยิ่งทำให้ยอดจดทะเบียนรถ EV ในปี 2567 ทะลุ 1 แสนคันได้อย่างรวดเร็ว และยังจะมีแบรนด์จีนอีกหลาย ๆ แบรนด์ทยอยเข้าตลาดเมืองไทย

อุตฯลดขั้นตอนทดสอบแบตเตอรี่

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการในบอร์ด EV กล่าวว่า มาตรการ EV3.5 จะมีการหารือเป็นแนวทางปฏิบัติที่นักลงทุนต้องทำ อย่างเรื่องการกำหนดการตรวจสอบ ทดสอบแบตเตอรี่ เช่น ผู้ลงทุนผลิตรถ EV รายใหม่จะต้องมีการทดสอบแบตเตอรี่ หรือกรณีที่ผู้ผลิตลงทุนในประเทศอยู่ แล้วจะใช้ใบรับรองทดสอบแบตเตอรี่สากล (UNR 100) ที่ผ่านการทดสอบมาจากประเทศต้นทางก็สามารถทำได้ โดยไม่ต้องทดสอบซ้ำอีก เพื่อไม่เพิ่มภาระให้กับผู้ประกอบการ

สำหรับมาตรการ EV3.0 ที่จะหมดอายุสิ้นปี 2566 นี้ มีกำหนดเรื่องของบทลงโทษกรณีที่ค่ายรถไม่สามารถผลิตรถ EV ได้ทันตามที่ตกลงไว้ กรมสรรพสามิตจะปรับเงินประกันที่ได้เคยวางเป็นหลักประกันไว้ ขณะที่ยื่นขอรับการส่งเสริม และยังต้องผลิตชดเชยตามสัดส่วน 1 : 2 ควบคู่ไปด้วย ขณะนี้หลายค่ายรถมีการผลิตไปแล้วอย่าง MG และอีกหลาย ๆ ค่ายที่พร้อมจะผลิตในไตรมาส 1/2567 ตามแผนแน่นอน