นิสสันจัดแถวดีลเลอร์รอบสอง เลิกสัญญาภาคเหนือ-อีสาน 8 แห่งรวด

นายใหม่นิสสันเล่นบทโหดปิดรวดอีก 8 ดีลเลอร์ทั้งเหนือ-อีสาน เร่งเครื่องจัดระเบียบเพิ่มความแกร่งทั้งก่อนซื้อและหลังการขาย ด้านดีลเลอร์ถูกปิดงง ผ่านเกณฑ์บริษัทแม่ทุกอย่าง แต่กลับวืดไม่ได้สิทธิ์ขายต่อ ชี้เร็ว ๆ นี้ส่อโดดทุบอีกหลายแห่ง

แหล่งข่าวจากบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2562 ที่ผ่านมา หลังนายราเมช นาราสิมัน เข้ามารับตำแหน่งประธานบริษัทต่อจาก นายอันตวน บาร์เตส ได้เพียง 3 วัน บริษัทได้ประกาศชื่อผู้จำหน่ายที่หยุดดำเนินกิจการทั่วประเทศ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากแผนยกระดับและปรับปรุงผู้จำหน่ายให้มีประสิทธิภาพแต่ลดจำนวนลง พร้อมทั้งส่งเสริมการเติบโตทางธุรกิจอย่างมั่นคง และสามารถตอบสนองความเปลี่ยนแปลงของตลาดและความคาดหวังของลูกค้าได้อย่างฉับไว

รายชื่อผู้จำหน่ายที่หยุดดำเนินกิจการมีจำนวนทั้งสิ้น 8 ราย ได้แก่ 1.บริษัท สยามนิสสัน ลำพูน จำกัด สาขาสำนักงานใหญ่ 2.บริษัท นอร์ทเวฟ จำกัด สาขาหนองตอง 3.บริษัท สยามนิสสัน อุดรธานี จำกัด สาขาถนนประจักษ์ 4.บริษัท สยามนิสสันขอนแก่น จำกัด สาขาสำนักงานใหญ่ 5.บริษัท สยามนิสสัน ตราด จำกัด สาขาสำนักงานใหญ่ 6.บริษัท สยามนิสสัน ทวีทรัพย์ จำกัด สาขาชัยนาท 7.บริษัท ยโสธร มอเตอร์ จำกัด สาขาสำนักงานใหญ่ และ 8.บริษัท สยามนิสสัน ที เค ซี ตากจำกัด สาขาสำนักงานใหญ่ มีผลตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. 2562 ที่ผ่านมา

ขณะที่ผู้จำหน่ายเดิมแต่ได้สิทธิ์เปิดสาขาเพิ่มจำนวน 2 ราย ได้แก่ 1.บริษัท สยามนิสสัน แม่สอด จำกัด สาขาตาก 2.บริษัท สยามนิสสัน เชียงใหม่ จำกัด สาขาลำพูน มีผลวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา

“ประกาศทั้งหมดลงนามโดยคุณมาเชค เคล็นคีลิช รองประธานสายงานพัฒนาเครือข่ายผู้จำหน่ายนิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย”แหล่งข่าวตัวแทนจำหน่ายรถยนต์นิสสัน ซึ่งยังดำเนินการอยู่รายหนึ่ง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า 3-4 ปีที่ผ่านมา นิสสันมีการเปลี่ยนแปลงเยอะมาก ผู้จำหน่าย 8 รายที่ถูกให้ยุติกิจการ บริษัทแม่มีหนังสือแจ้งให้ผู้จำหน่ายทุกรายทราบ เชื่อว่ายังไม่หมดแค่นี้ น่าจะมีอีกอย่างน้อย 10 โชว์รูม ที่อาจถูกเปลี่ยนแปลงในเร็ว ๆ นี้

“ถือว่าเป็นไปตามแนวคิดของบริษัทแม่ที่ต้องการจัดสรรการแบ่งเขตการขายที่ได้เริ่มดำเนินการตามนโยบายปรับปรุงและจัดระเบียบดีลเลอร์มาตั้งแต่ปลายปี 2559 เป็นคอนเซ็ปต์เดียวกับเม็กซิโก และสหรัฐ ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี”

ขณะที่ประเทศไทยนับเป็นประเทศแรกของภูมิภาคเอเชียที่ทดลองนำรูปแบบนี้มาปรับใช้ ด้วยการแบ่งเขตหรือพื้นที่การขายลดจำนวนดีลเลอร์ แต่ขยายเขตการขายให้กว้างขึ้น

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้มีความพยายามจะทดลองใช้กับผู้จำหน่ายในญี่ปุ่นแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ และครั้งนี้ถือว่าไม่แฟร์กับผู้จำหน่ายคนไทย เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีทั้งคนที่สมัครใจลงทุนต่อ และผู้ที่ไม่พร้อมจะลงทุน ซึ่งทำให้ระบบตัวแทนจำหน่ายของนิสสันด้อยประสิทธิภาพลง และดีลเลอร์คนไทยกลายเป็นหนูทดลองยาเพราะก่อนหน้านี้ นิสสันมีนโยบายให้ผู้จำหน่ายลงทุนขยายโชว์รูมเต็มที่ ด้วยเชื่อว่าการมีโชว์รูมในพื้นที่ต่าง ๆ มากขึ้นจะทำให้เกิดการแข่งขัน แต่มาวันนี้นโยบายเปลี่ยนกลับต้องการ

ปรับลดจำนวนโชว์รูมและผู้จำหน่าย ถือว่าไม่เป็นธรรมกับนักลงทุนตอนนี้บริษัทแม่ได้มีการต่อสัญญากับผู้แทนจำหน่าย แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ 1.กลุ่มได้ต่อสัญญา 2.กลุ่มที่ซื้อกิจการต่อจากผู้จำหน่ายรายเดิม และ 3.กลุ่มที่ต้องมีผู้ถือหุ้นเพิ่มแต่กำหนดต้องเป็นผู้จำหน่ายนิสสันเท่านั้น

ปัจจุบันนิสสันมีตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ 60 ราย และมีโชว์รูม ศูนย์บริการประมาณ 180 แห่งทั่วประเทศ

แหล่งข่าวผู้จำหน่ายที่ถูกบอกเลิกสัญญากล่าวเพิ่มเติมว่า เกณฑ์การพิจารณาของบริษัทแม่ใช้การวัดหลายด้าน ทั้งดัชนีความพึงพอใจขณะซื้อ (SSI) และดัชนีความพึงพอใจของผู้บริโภคต่อบริการหลังการขาย (CSI) รวมทั้งการขาย”เราเองก็งง ทำไมไม่ได้ต่อสัญญาทั้ง ๆ ที่ผ่านเกณฑ์ทุกอย่าง มีหลายเรื่องเรามองการตัดสินไม่เป็นธรรม

ตัวอย่างดีลเลอร์รายหนึ่งในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ถูกตัดสิทธิ์การขาย บริษัทแม่ตั้งรายใหม่เข้ามา แต่ทำตลาดไม่ดี ตัวเลขไม่เข้าเป้า ก็ยินยอมให้เป็นดีลเลอร์ต่อได้ทั้งสองราย”

เกี่ยวกับเรื่องนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” พยายามสอบถามไปยังนิสสัน ประเทศไทย ได้รับคำตอบว่า บริษัทพยายามหารือร่วมกันเพื่อ win-win ทุกฝ่าย บางรายผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่บริษัทกำหนดทุกอย่าง แต่ตัวของผู้ประกอบการเองตัดสินใจไม่ลงทุนต่อก็มี ซึ่งตรงนี้บริษัทต้องเคารพการตัดสินใจของผู้จำหน่ายด้วย