บีโอไอคลอดมอไซค์ไฟฟ้า นำร่อง 500 คัน ‘วินสะอาด’

เปิดแผนรถยนต์ไฟฟ้าในไทย “สมคิด” ตั้งเป้า 10 ปี ผลิตได้ 30% ของปริมาณผลิต 2.5 ล้านคัน จี้หน่วยงานราชการนำร่องทั้งรถหลวง-รถตำแหน่ง บีโอไอพร้อมเปิดแพ็กเกจ 2 ล้ออีวี ดึงค่ายจักรยานยนต์ลงทุน เข็น “วินสะอาด” ดึงมอเตอร์ไซค์รับจ้างเปลี่ยนใช้อีวี ด้าน เอ.พี.ฮอนด้า สบช่องเข็น “พีซีเอ็กซ์ อีวี” ลงตลาด พร้อมขยายกลุ่มลูกค้าฟู้ดดีลิเวอรี่ กฟน.ระบุค่าไฟชาร์จแบตเตอรี่แค่ยูนิตละ 2.60 บาท

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ซึ่งวางยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และกำหนดให้ประเทศไทยเป็นฮับผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและจักรยานยนต์ไฟฟ้าแห่งอาเซียน ภายใน 5 ปีจากนี้ พร้อมตั้งเป้าหมายปี 2573 ประเทศไทยจะมีรถยนต์ไฟฟ้ามากถึง 30% ของจำนวนยอดผลิตรถยนต์ทั้งประเทศ 2.5 ล้านคัน

ลั่น 2 ปีผลิตอีวี 6 หมื่นคัน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเข้ามาว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา มีรายงานผลดำเนินงานว่า โครงการผลักดันรถยนต์ไฟฟ้าประสบความสำเร็จตามเป้า มีผู้ประกอบการพร้อมลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าแบบ 100% แล้วตั้งแต่ปลายปี 2561 ถึงขณะนี้ 5 ราย ได้แก่ โตโยต้า, ฮอนด้า, เมอร์เซเดส-เบนซ์, บีเอ็มดับเบิลยู และฟอมม์ โดยในจำนวนนี้ทางฟอมม์ได้ผลิตขายแล้ว ในราคาประมาณ 660,000 บาท/คัน ส่วนเบนซ์ได้ทดลองนำเข้าตามเงื่อนไขบีโอไอแล้ว

นอกจากนี้ยังเร่งสร้างดีมานด์ ด้วยการกำหนดให้หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจหันมาใช้รถอีวี โดยมีเป้าหมายให้ใช้อย่างน้อย 20% และให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พัฒนารถยนต์นั่งและรถเมล์ไฟฟ้าดัดแปลง ซึ่งจะนำร่องให้หน่วยงานรัฐนำรถโดยสารไฟฟ้ามาใช้บริการขนส่งพนักงาน หรือบริการสาธารณะ แล้วขยายผลไปใช้ในพื้นที่ของ EEC ส่วนสถานีอัดประจุไฟฟ้าปัจจุบันติดตั้งสถานีชาร์จไฟแล้วกว่า 800 แห่ง

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า แผนระยะสั้น 2 ปีจากนี้ น่าจะผลิตรถอีวีในประเทศไทยได้ไม่น้อยกว่า 60,000 คัน แบ่งเป็นรถอีวีสำหรับราชการ 16,000 คัน ตรงนี้ให้จัดซื้อโดยยกเว้นภาษีสรรพสามิต และ VAT รถอีวีสำหรับประชาชนทั่วไปอีก 50,000 คัน แบ่งเป็น PHEV 25,000 คัน และ BEV 25,000 คัน โดยมีสิทธิประโยชน์ให้เช่นกัน อาทิ รับซื้อรถเก่า 10 ปีขึ้นไปสูงสุด 100,000 บาท/คัน เพื่อนำไปแลกเป็นรถอีวีคันใหม่ และจะเพิ่มรถจักรยานยนต์อีวี ใช้ชื่อว่า “วินสะอาด” สำหรับมอเตอร์ไซค์รับจ้างอีก 53,000 คัน โดยในส่วนของ จยย.อีวี ราวปลายไตรมาสที่ 2 ปีนี้น่าจะเห็นความชัดเจน 

นำร่อง “วินสะอาด”

แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า “เราจะนำร่องให้วินรถจักรยานยนต์ เปลี่ยนเป็นจักรยานยนต์ไฟฟ้าก่อน 500 คัน แต่มี
เงื่อนไข คือ ต้องเป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างที่มีเสื้อวินเป็นชื่อตนเอง จะได้รับสิทธิรับซื้อรถเก่า 10 ปี 15,000 บาท/คัน ชดเชยดอกเบี้ยส่วนต่าง 10,000 บาท/คัน และค่าเปลี่ยนแบตเตอรี่ 30,000 บาท/คัน 

ด้านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอเปิดเผยว่า เร็ว ๆ นี้บีโอไอจะเสนอแพ็กเกจส่งเสริมการลงทุนสำหรับกลุ่มผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ซึ่งมีลักษณะเดียวกับรถยนต์อีวี น่าจะเป็นอีกหนึ่งแรงกระตุ้นให้ผู้ผลิตมอเตอร์ไซค์ทุกแบรนด์ในประเทศพร้อมลงทุน

ค่ายสองล้อทุ่มสุดตัว

แหล่งข่าวผู้บริหารบริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลผลักดันจริงจังก็เป็นเรื่องน่ายินดี และสอดคล้องกับแนวทางรุกตลาดของค่ายรถจักรยานยนต์ ซึ่งก่อนหน้านี้ เอ.พี.ฮอนด้าได้นำร่องและมีการแนะนำรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 100% “ฮอนด้า พีซีเอ็กซ์ อีวี” “เรายังไม่ได้วางขายเพราะราคาสูงมากเกือบแสนบาท แต่ถ้ารัฐบาลส่งเสริมจริงจังก็น่าจะทำให้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจับต้องได้ง่ายขึ้น” โดยเป้าหมายของเอ.พี.ฮอนด้าต้องการขยายกลุ่มลูกค้าให้มากขึ้น ตอนนี้กำลังเล็งทำตลาดกับกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจฟู้ดดีลิเวอรี่  

ค่ายรถเร่งนำเข้าสร้างดีมานด์ 

นายโรลันด์ โฟล์เกอร์ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ยืนยันชัดเจนว่า จะนำรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ อีคิวซี ซึ่งใช้แบตเตอรี่ 100% เข้ามาทำตลาดในเร็ว ๆ นี้ เพื่อเป็นการสร้างดีมานด์ในตลาด ก่อนที่จะดำเนินการขึ้นไลน์ผลิตในประเทศในปีหน้า “เดิมเราเคยประกาศพับแผนทั้งหมด เนื่องจากมองไม่เห็นความคุ้มค่าในเชิงธุรกิจ แต่หลังหารือกับบริษัทแม่ เราอยากให้ลูกค้าคนไทยได้สัมผัสเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าจากเมอร์เซเดส-เบนซ์ โดยได้รับการซัพพอร์ตภาระภาษีนำเข้าในช่วงแรก”

โดยเมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา บริษัทจัดพิธีเปิดบริษัท ธนบุรี เอ็นเนอร์ยี่ สตอเรจ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด โรงงานผลิตเเบตเตอรี่ คาดว่าจะพร้อมผลิตได้ในเร็ว ๆ นี้ เช่นเดียวกับ นายอเล็กซานเดอร์ บารากา ประธานบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวว่า บีเอ็มดับเบิลยูมีแผนแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ 25 รุ่น ภายในระยะเวลา 3 ปี (2563-2565) ออกสู่ตลาด แบ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 12 รุ่น และปลั๊ก-อิน ไฮบริด 13 รุ่น และมีแผนเพิ่มสถานีชาร์จเป็น 150 แห่ง ภายในสิ้นปีนี้ด้วย

ส่วนนายโมริคาซุ ชกกิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมผลิตรถมิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี จากโรงงานมิตซูบิชิ แหลมฉบัง จ.ชลบุรี ออกสู่ตลาดประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในเดือนมกราคม 2564 อย่างแน่นอน

โดยไม่ต่างจากค่ายโตโยต้าที่ระบุว่า ตามแผนของโตโยต้าจะใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 3 ปี ตามกรอบบีโอไอ หรือราวปลายปี พ.ศ. 2566 จะได้เห็นรถยนต์อีวีออกสู่ตลาดประเทศไทย 

เคาะอัตราค่าชาร์จไฟ

ล่าสุดมีรายงานข่าวเข้ามาถึงความคืบหน้าในการกำหนดอัตราค่าไฟที่จะเรียกเก็บจากสถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถอีวีว่า อัตราค่าไฟฟ้าจะเรียกเก็บอยู่ที่ 2.60 บาท/หน่วย ซึ่งถูกกว่าอัตราค่าไฟบ้าน (เก็บอยู่ที่ 3.64 บาท/หน่วย) เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้ามาลงทุนในการสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้า และทำให้เกิดดีมานด์ขึ้นในประเทศ โดยนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในเร็ว ๆ นี้

ด้านนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า สถานีชาร์จรถอีวีจะใช้หน่วยไฟเดียวกันกับหน่วยบ้าน คือ กิโลวัตต์อาวร์ แต่อัตราค่าไฟจะแตกต่างกัน โดยผู้ขับจะสามารถชาร์จไฟบ้านได้

แต่ด้วยปัจจุบันปริมาณรถอีวียังมีไม่มาก ดังนั้นการลงทุนสถานีชาร์จของเอกชนจึงค่อนข้างสูง และอาจเรียกเก็บค่าบริการที่แพงกว่าการชาร์จไฟบ้าน ดังนั้นเบื้องต้นคณะทำงานได้ศึกษาในรายละเอียด หากดีมานด์ยังไม่มากพอ การชาร์จไฟบ้านจึงคุ้มกว่า ขณะที่ค่ายรถ EV เมื่อขายรถแล้วจะมีสายชาร์จมาให้ที่สามารถเสียบกับไฟบ้านได้อยู่แล้ว