ศาลปกครองยกคำร้อง”ยิ่งลักษณ์”ขอทุเลาบังคับคดี-ยึดทรัพย์ 3.5 หมื่นล้าน”จำนำข้าว”ทนายพลิกเกมสู้

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 29 มกราคม ที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา (ครั้งที่ 2) ในคดีหมายเลขดำที่ 1996/2559 ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ยื่นฟ้อง นายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง, ปลัดกระทรวงการคลัง รวม 4 คน

คดีนี้ฟ้องว่า คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ที่เรียกให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ทางราชการ กรณีมีการกล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีในฐานะนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ กระทำโดยจงใจปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และทำให้ทางราชการเสียหายเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว

จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังและปลัดกระทรวงการคลัง มีคำสั่งทางปกครองที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากเหตุขณะดำรงตำแหน่งในฐานะนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ปล่อยให้เกิดทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวและเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดแก่ราชการตามอำนาจหน้าที่เป็นเหตุให้กระทรวงการคลัง เกิดความเสียหายมูลค่า 3.5 หมื่นล้านบาทเศษ

ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ยื่นคำขอวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาอีกครั้ง โดยขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งพิพาทไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งพิพาทในระหว่างพิจารณาคดีได้นั้น ต้องมีเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนดไว้ 3 ประการ เกิดขึ้นครบถ้วน กล่าวคือ (1) คำสั่งพิพาทน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย (2) การให้คำสั่งพิพาทมีผลใช้บังคับต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง (3) การทุเลาการบังคับตามคำสั่งพิพาทไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะ

เมื่อพิจารณาจากคำขอของผู้ฟ้องคดี ซึ่งได้ยื่นคำขอเป็นครั้งที่ 2 และข้อเท็จจริงจากการชี้แจงของคู่กรณี รวมถึงกรมบังคับคดีแล้ว เห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดีจะอ้างเหตุของความไม่ชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งเรียกให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้เงินหลายประการ และผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง4ได้ดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีบ้างไปแล้วก็ตาม แต่ในเมื่อการที่จะวินิจฉัยว่า คำสั่งพิพาทจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นประเด็นในเนื้อหาของคดีที่ศาลจะต้องแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป ในชั้นนี้ จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่า คำสั่งพิพาทน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเห็นว่า เงื่อนไขที่ขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งพิพาทเกิดขึ้นไม่ครบถ้วน ศาลจึงไม่มีอำนาจสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งที่เรียกให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ไว้เป็นการชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาคดี

ศาลจึงมีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองของผู้ฟ้องคดี

โดยก่อนหน้านี้วันที่ 10 เมษายน 2560 ศาลปกครองได้เคยยกคำร้อง ขอทุเลาการบังคับคดี ไปเเล้วครั้งหนึ่ง เนื่องจากครั้งนั้น เห็นว่า ภายหลังจากผู้ถูกฟ้องคดีออกคำสั่งเรียกให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ผู้ถูกฟ้องคดีได้มีหนังสือแจ้งเตือนให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้เสร็จสิ้นภายใน 15 วัน เเต่นอกจากหนังสือแจ้งเตือนดังกล่าวแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดียังไม่มีการใช้มาตรการบังคับทางปกครองโดยยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีและขายทอดตลาดเพื่อชำระค่าสินไหมทดแทนแต่อย่างใด ดังนั้น จึงเห็นว่าเงื่อนไขตามข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีในคำขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งพิพาทยังไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟังได้ กรณีจึงไม่เข้าเงื่อนไขที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่ง ศาลจึงมีคำสั่งยกคำขอวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาของผู้ฟ้องคดีในครั้งเเรก

นายนพดล หลาวทอง ทนายความรับผิดชอบคดีปกครองของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ด้กล่าวว่า เมื่อศาลมีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับคดีเรื่องการอายัดทรัพย์สินแล้ว ในทางปฏิบัติเราคงต้องติดตามต่อไปการบังคับคดีเกี่ยวกับทรัพย์นั้นทางหน่วยงานรัฐจะปฏิบัติอย่างไร เพราะขณะเท่ากับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องคือกรมบังคับคดีมีอำนาจตามคำสั่งที่ได้รับไว้ใน มาตรา 44 แต่ทั้งนี้หากพบว่าการบังคับอายัดทรัพย์ดำเนินการจากกรอบคำสั่งและกฎหมายที่ใช้อยู่เกี่ยวกับการบังคับคดีเราต้องใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อสู้โต้แย้งใหม่ โดยขณะนี้ทรัพย์นั้นถูกอายัดไว้ไม่ให้เคลื่อนย้ายถ่ายเท แต่ยังไม่ได้ยึดขายทอดตลาด ซึ่งทรัพย์สินที่เราเคยยื่นคำร้องขอให้ระงับไว้ในครั้งแรกและครั้งที่ 2 คือ บ้านพัก และบัญชีเงินฝากประมาณ 12-13 บัญชี จากนี้เราต้องต่อสู้ในเนื้อหาคดีหลักว่าการออกคำสั่งนั้นไม่ชอบอย่างไร