ก้าวไกลชูค่าแรงขั้นต่ำต้องขึ้นทุกปี ชาติไทยพัฒนา ชูอัพสกิลแรงงาน

ก้าวไกล-ชาติไทยพัฒนา

พรรคก้าวไกลชูค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท รับประกันขึ้นทุกปี ยุติใช้แรงงานเป็นตัวประกันตอนหาเสียงเลือกตั้ง ด้านพรรคชาติไทยพัฒนา ชูอัพสกิลแรงงาน เพิ่มรายได้

วันที่ 13 มีนาคม 2566 เวทีแรกของแคมเปญ “มติชน : เลือกตั้ง 2566 บทใหม่ประเทศไทย” ซึ่งจัดที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ (รางน้ำ) ภายใต้หัวข้อ “ย้ำจุดยืน ชูจุดขาย ประกาศจุดแข็ง” ที่มีตัวแทนจาก 8 พรรคการเมืองร่วมขึ้นเวทีประชันนโยบาย ในรอบที่ 2

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำว่า เรามีนโยบายเพิ่มค่าแรง 450 บาทต่อวัน และที่สำคัญ ค่าแรงขั้นต่ำต้องขึ้นทุกปี โดยพิจารณาจากเงินเฟ้อ และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ อะไรจะขึ้นมากกว่า เพราะตนเบื่อเหลือเกินกับการรอคอยให้การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำถูกกำหนดโดยพรรคการเมือง หรือรอให้มีการเลือกตั้ง

ดังนั้น เราต้องวางระบบให้ค่าแรงขั้นต่ำขึ้นทุกปี ถึงวันที่ต้องมีการประชุมไตรภาคีของนายจ้าง ลูกจ้าง ภาครัฐ ต้องมีข้อเสนอวางบนโต๊ะทันทีว่า ค่าแรงขั้นต่ำ ควรจะเป็นเท่าไหร่ เพื่อยุติการเอาเรื่องค่าแรงขั้นต่ำมาใช้ในการหาเสียง เพิ่มอำนาจต่อรองให้กับแรงงาน

นอกจากนี้ พรรคก้าวไกลยังมีโปรแกรมในการเพิ่มทักษะของตัวเองในการเปลี่ยนอาชีพ เป็นแพลตฟอร์มทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนมาเรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะ และแบบนี้เราจะสามารถเพิ่มค่าตอบแทนของแรงงานได้อย่างยั่งยืน ไม่ใช่เพียงแค่รอค่าแรงขั้นต่ำขึ้นอย่างเดียว

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า เรามีนโยบายที่จะบรรเทาผลกระทบของ SMEs ที่อาจจะได้รับผลจากค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นได้ โดยงดจ่ายประกันสังคม 6 เดือน ค่าแรงสำหรับ SMEs สามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า ทำแบบนี้จะช่วยบรรเทาภาระของ SMEs ในช่วงที่ค่าแรงขั้นต่ำปรับเพิ่มสูงขึ้นในช่วงสั้น ๆ 6 เดือนแรก ทำแบบนี้ประเทศถึงจะเดินหน้าไปพร้อม ๆ กันได้ คนงานมีอำนาจต่อรองกับนายจ้างได้ เพื่อให้ขึ้นค่าแรงได้ทุกปี

Advertisement

SMEs ยังสามารถเดินต่อไปได้ ถึงแม้ว่าค่าแรงจะเพิ่มขึ้น มีระยะเวลาในการปรับตัว เศรษฐกิจฐานรากถึงจะเข้มแข็งโดยที่ไม่ต้องมีใครมาเสียสละกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

ด้านนายสันติ กีระนันทน์ กรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวในหัวข้อ แนวทางกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ หรือผลตอบแทนสำหรับคนทำงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างไร ว่าการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำหรือค่าแรงขั้นต่ำไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของรัฐบาล ไม่ว่าจะรัฐบาลใดก็ตาม

โดยกลไกคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ทั้งตัวแทนนายจ้าง ตัวแทนลูกจ้าง และภาครัฐ ที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้ไปกำกับเพื่อให้เกิดความยุติธรรม พิจารณาข้อมูลทั้งอุปสงค์และอุปทานและภาวะเศรษฐกิจขณะนั้น และผู้ใช้แรงงาน ต้องอยู่ได้แบบมีคุณภาพชีวิตที่ดี ส่วนตัวอยากพูดเรื่องค่าแรงเป้าหมายมากกว่า

เพราะว่าพรรค ชทพ.ไม่ได้อยากให้ผู้ใช้แรงงานได้ค่าแรงขั้นต่ำ แต่อยากให้ผู้ใช้แรงงานและคนทำงานได้ค่าแรงที่เหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่ และตอบสนองต่อเศรษฐกิจ และให้ผลผลิตต่อนายจ้างได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

Advertisement

นายสันติกล่าวต่อว่า โจทย์เรื่องนี้จึงไม่ใช่การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ แต่จะอัพสกิลและรีสกิลคนในระบบเศรษฐกิจทั้งระบบอย่างไร ดังนั้น ภาครัฐอย่าทำเองทุกอย่าง เพราะการทำเองไม่มีทางสำเร็จ ภาครัฐต้องรับฟัง ทำจริงกับภาคเอกชนและภาคประชาชน เท่าที่ได้คุยกับสภาอุตสาหกรรมฯ และสภาหอการค้าฯหลายรอบ เขาพูดกับตนอยู่ตลอดว่าไม่ได้อยากจ่ายค่าแรงงานขั้นต่ำ ยินดีจ่ายค่าแรงที่สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำตราบเท่าที่แรงงานมีศักยภาพที่สูงขึ้น มีทักษะตอบสนองต่ออุตสาหกรรมมากขึ้น

รัฐควรให้แรงจูงใจอย่างอื่นประกอบ ให้ภาคเอกชนเพื่อจะรีสกิลและอัพสกิลแรงงานในระบบ และจิ๊กซอว์สำคัญคือ ภาคการศึกษาของประเทศไม่ได้ตอบสนองต่ออุตสาหกรรม

ดังนั้น ต้องศึกษาว่าจะปรับการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ เพื่อตอบสนองต่อการยกคุณภาพแรงงานอย่างไร ชทพ.เตรียมนโยบายไว้พร้อมแล้ว เพื่ออัพสกิลและรีสกิลแรงงาน ยกระดับการศึกษา ทำให้กำหนดค่าแรงเป้าหมายที่สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ

“พรรค ชทพ.ไม่ได้เป็นนโยบายที่เพ้อฝันไม่ได้คิดเอาเอง การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ ใครจะกำหนดเท่าไรก็ได้ แต่ประเด็นความเป็นจริงอยู่ที่ใดมากกว่า จึงไม่ได้เสนอตัวเลข แต่เสนอกลไกที่ทำงานได้จริงและมีประสิทธิภาพ สร้างประสิทธิผล ที่ให้เกิดขึ้นในระบบ การกำหนดค่าแรงไม่ได้คิดเองเออเอง แต่เกิดจากการรับฟังประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เหมือนกับที่เราพูดตลอดว่า พรรค ชทพ.รับฟัง ทำจริง” นายสันติกล่าว