กรธ.ยันหาก สนช.มั่นใจร่าง กม.ส.ส.ไม่ขัด รธน.ก็จบ ไม่เสนอ “ประยุทธ์” ชงตีความอีก

กรธ.แล้วแต่ สนช.ยื่นไม่ยื่นร่าง พ.ร.ป.ส.ส. ยันแค่แสดงความเป็นห่วง หากมั่นใจว่าไม่ขัด รธน.ก็จบ ไม่ชง “บิ๊กตู่” เสนออีก

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวกรณีที่ สนช.ยื่นร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเพียงฉบับเดียวว่า กรธ.คงไปบีบบังคับให้ สนช.ทำตามข้อห่วงกังวลของ กรธ.ทั้งหมดไม่ได้ เพราะตามรัฐธรรมนูญถือเป็นอำนาจของสมาชิก สนช.แต่ละคนที่จะต้องตัดสินใจเข้าชื่อกันเอง ส่วนเหตุผลของ สนช.ที่ไม่ยื่นร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.เพราะกังวลว่าโรดแมปจะเลื่อนออกไปอีกนั้น คิดว่าก็มีเหตุผล เพราะเมื่อเรื่องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญก็คงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง กว่าร่างกฎหมายจะถึงมือนายกฯเพื่อดำเนินตามขั้นตอนจะล่าช้าออกไป และจะกระทบต่อทั้งวันประกาศใช้และวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ ทั้งหมดจึงเป็นเหตุผลที่แต่ละฝ่ายไม่มีใครกล้าเสี่ยง เพราะขณะนี้เริ่มมีคนต่อว่ารัฐบาลแล้วในเรื่องการยื้อวันเลือกตั้ง สนช.จึงยกให้เป็นเรื่องของประชาชนหลังวันที่กฏหมายประกาศใช้

นายอุดมกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องการตัดสิทธิเป็นข้าราชการการเมืองหากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งคงไม่หนักเท่าไหร่ เพราะไม่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งโดยตรง แต่เรื่องที่อาจมีผลกระทบต่อการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการนับคะแนนก็คือ การให้มีผู้ช่วยเหลือผู้พิการขณะเข้าคูหาเลือกตั้ง ซึ่งได้มียกหยิบขึ้นมาคุยกันหลายหน ตั้งแต่ในชั้น กมธ.วิสามัญ จนถึง กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย แต่ในเมื่อเสียงข้างมากยืนยัน และที่ประชุม สนช.ก็ลงมติเห็นด้วย เพราะเห็นถึงเหตุความจำเป็น กรธ.ก็ต้องเคารพ ส่วนเนื้อหาจะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ กรธ.ตีความเองไม่ได้ จึงต้องอยู่ที่ สนช.จะต้องพิจารณา หากไม่มีการส่งตีความ เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับประชาชนก็มีสิทธิ หากใครคิดว่า ตนเองมีส่วนได้เสียก็สามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความได้

เมื่อถามถึงข้อเสนอแนะของ กรธ.ในประเด็นดังกล่าวมีการอ้างถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 9/2549 ที่ระบุ หลักการเลือกตั้งโดยลับว่า จะต้องดำเนินการเลือกตั้งโดยไม่ให้ผู้ใดทราบเลยว่า ผู้ลงคะแนนตัดสินใจเลือกใครนั้น นายอุดมกล่าวว่า เป็นการเทียบเคียงเท่านั้น เพราะในประเด็นที่ผู้อื่นกระทำแทนผู้พิการในขณะเข้าคูหาเลือกตั้งยังไม่เคยมีคำวินิจฉัยหรือแนวทางปฏิบัติ หาก สนช.มองว่า ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ กรธ.ก็คงพูดอะไรไม่ได้ นอกจากแสดงความเป็นห่วงเท่านั้น ส่วนกรธ.จะเสนอให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่นั้น คิดว่า คงไม่ทำแล้ว ถือว่า เราได้แจ้งต่อสาธารณะชนแล้ว โดยข้อห่วงกังวลดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่แต่ละฝ่ายที่มีหน้ารับผิดชอบต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ เช่นเดียวกับ กรธ.ถ้าร่างกฎหมายอะไรพลาดเราก็ต้องพร้อมที่จะเอาหน้าไปรับสิ่งที่เกิดจากความผิดพลาดของเราเหมือนกัน

 

ที่มา : มติชนออนไลน์